หากพูดถึง 18 มงกุฎ หลายคนคงนึกถึงพวกนักหลอกต้มตุ๋น แต่ก่อนที่คำว่า 18 มงกุฎจะมีความหมายในทางไม่ดีนี้ ในอดีตคำนี้หมายถึงอะไรกันนะ แล้วมันมีที่มาของคำยังไง วันนี้จะพาไปค้นหาคำตอบกันอีกเช่นเคย
ที่มาของคำว่า 18 มงกุฎ
คำว่า18 มงกุฎ ในอดีตหมายถึง วานร 18 มงกุฎ เป็นวานรที่มาจากสองเมืองคือ 1.เมืองขีดขินของสุครีพ และ2.เมืองชมพูของท้าวมหาชมพู วานรสิบแปดมงกุฏนี้แต่เดิมก็คือเทวดา 18 องค์ ที่อาสามาช่วยพระนารายณ์ตอนอวตารมาเป็นพระรามนั้นเอง วานรทั้ง18ตน มีรายนามดังนี้
1.เกยูร 2.โกมุท 3.ไชยามพวาน 4.มาลุนทเกสร 5.วิมลวานร
6.ไวยบุตร 7.สัตพลี 8.สุรกานต์ 9.สุรเสน 10.นิลขัน
11.นิลปานัน 12.นิลปาสัน 13.นิลราช 14.นิลเอก 15.วิสันตราวี
16.กุมิตัน 17.เกสรทมาลา 18.มายูร
มูลเหตุที่ทำให้คำว่า "สิบแปดมงกุฎ" กลายความหมายมาเป็นคำไม่ดี
มีที่มาจากเหตุการณ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีกลุ่มนักเลงการพนันใหญ่ที่ถือว่ามีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนั้น ตามร่างกายจะนิยมสักรูปมงกุฎ จนเป็นที่มาของสำนวน "สิบแปดมงกุฎ"ในทางร้าย ที่หมายถึง พวกนักเลงการพนัน พวกที่มีเล่ห์เหลี่ยมกลโกง นักต้มตุ๋น ซึ่งพลอยทำให้ชื่อเสียงเกียรติคุณดีๆของวานรสิบแปดมงกุฎ(เทวดา)เลือนหายไป และกลายความไปในที่สุด
ในหนังสือ "สำนวนไทย" ของ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) เขียนไว้ว่า สิบแปดมงกุฎ นำมาใช้เป็นสำนวนในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อมีนักเลงการพนันใหญ่ลือชื่อพวกหนึ่ง กล่าวกันว่าเป็นนักเลงชั้นยอด สักตามตัวเป็นรูปมงกุฎ จึงเรียกว่า สิบแปดมงกุฎ ตามเรื่องราวในรามเกียรติ์ จากนั้นถ้าใครเป็นนักเลงการพนันก็เลยเรียกว่า สิบแปดมงกุฎ
ปัจจุบัน
สิบแปดมงกุฎมิใช่สำนวนที่ใช้เรียกพวกนักเลงพนันเท่านั้น แต่ใช้เรียกพวกมิจฉาชีพทั้งหลาย เป็นสำนวนที่พบเห็นบ่อยมากตามสื่อมวลชนต่าง ๆ ซิ่งมีความหมายถึงพวกที่ยักยอก ต้มตุ๋น หลอกลวงให้ผู้อื่นหลงเชื่อแล้วยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินผู้อื่นมาเป็นของตน