สลดดช.14ฆ่าแม่ เหตคลัง ห้ามเล่น"เฟซบ๊ก"

คดีสะเทือนสังคม ด.ช.วัย 14 คว้ามีด สปาร์ตาไล่ฟันแม่บัง เกิดเกล้าตายอนาถคาบ้าน สาเหตุแค่ไม่พอ ใจที่ถูกห้ามเล่นเฟซ บุ๊ก เผยติดทั้งเกมและคอมพ์จนไม่หลับไม่นอน แม่ลงมาเห็นกลางดึกเลยตำหนิและสั่งปิดคอมพิวเตอร์ กลับเข้าห้องคว้ามีดออกมาฟันแม่ตาย และทำร้ายพี่สาวบาดเจ็บอีกคน พ่อรีบมากล่อมก่อนแจ้งตร.ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ พ่อเผยตอนเล็กๆ คล้ายเด็กพิเศษ พาไปรักษาจนหายเกือบปกติแต่ยังมีอาการเก็บกดไม่ค่อยพูดจา รองปลัดสธ. ชี้อาการติดเกม หรือเล่นคอมพ์เหมือนเสพติดชนิดหนึ่ง เพราะเวลาเล่นร่างกายจะหลั่งสารบางชนิดออกมา โดยเฉพาะวัยรุ่นเมื่อถูกขัดขวางอาจแสดงอาการก้าวร้าวได้ง่าย

คดีสลดด.ช.วัย 14 ฆ่าแม่ไม่พอใจห้ามเล่น เฟซบุ๊ก เมื่อเวลา 03.30 น. วันที่ 31 ต.ค. พ.ต.ต. ประยุทธ พึ่งเคหา สารวัตรเวร สน.ประเวศ รับแจ้งเหตุฆ่ากันตายในซ.หมู่บ้านนักกีฬา แขวงและเขตสะพานสูง กทม. จึงรายงานผู้บังคับบัญชานำกำลังฝ่ายสืบสวน กองพิสูจน์หลักฐาน แพทย์ และหน่วยกู้ภัยป่อเต็กตึ๊ง รุดไปตรวจสอบ

ที่เกิดเหตุเป็นบ้านเดี่ยวชั้นเดียวเนื้อที่ 100 ตร.ว. ภายในบ้านบริเวณประตูห้องนอนพบศพนางเล็ก (นามสมมติ) อายุ 50 ปี สภาพศพนอนคว่ำหน้าจมกองเลือด สวมชุดนอนลายลูกไม้ มีบาดแผลถูกแทงด้วยมีดสปาร์ตาเข้าที่ด้านหลัง 4 แผล นอกจากนั้นยังมีผู้บาดเจ็บอีกรายญาติได้นำส่งร.พ.ลาดพร้าว เป็นลูกสาวของนางเล็ก ส่วนคนร้ายเป็นเด็กชายวัย 14 ปี นักเรียนชั้นม.3 โรงเรียนแห่งหนึ่ง ลูกนางเล็กยืนถือมีดสปาร์ตาโดยมีพ่ออายุ 60 ปี พยายามพูดเกลี้ยกล่อมก่อนที่ตำรวจจะเข้าควบคุมตัวไว้



สอบสวนด.ช.ให้การว่า ก่อนเกิดเหตุเปิดคอมพิวเตอร์เล่นเฟซบุ๊กพร้อมกับดูทีวีไปด้วย ขณะที่คนในบ้านมีแม่ พี่สาว และหลานของแม่อีกคนเข้านอนหมดแล้ว ต่อมาแม่ลงมาเห็นว่าเล่นเฟซบุ๊กก็ไม่พอใจ ตำหนิว่าเล่นแต่คอมพิวเตอร์ ไม่ช่วยทำงานบ้าน ก่อนสั่งให้ปิดคอมพิวเตอร์และเข้านอน ด้วยความโมโหจึงเข้าไปหยิบมีด สปาร์ตาในห้องออกมาไล่ฟันแม่ที่นอนอยู่ จนแม่วิ่งออกมาเสียชีวิตหน้าห้อง ขณะที่พี่สาวออก มาเห็นจึงใช้มีดไล่ฟันได้รับบาดเจ็บก่อนหนีเข้าห้องไปได้

ด้านพ่อเด็กให้การว่าพักอยู่บ้านอีกหลังใกล้ๆ กัน ไม่ได้เลิกรากับภรรยา แต่เนื่องจากมีปัญหากับครอบครัวจึงให้เมียกับลูกย้ายออกมาอยู่บ้านอีกหลัง ช่วงที่กำลังนอนอยู่ลูกสาวโทรศัพท์มาบอกว่าลูกชายมีอาการคลุ้มคลั่งใช้มีดไล่ฟันคนในบ้าน จึงรีบมาดูพบภรรยาเสียชีวิตอยู่ก่อนแล้ว ส่วนลูกชายยืนถือมีดอยู่ จึงแจ้งตำรวจและพยายามพูดให้ใจเย็นๆ ขณะเดียวกันก็ให้เพื่อนบ้านและญาติช่วยพาลูกสาวที่ได้รับบาดเจ็บ ส่งร.พ.

พ่อเด็กให้การอีกว่าสำหรับลูกชาย ตอนเด็กๆ มีอาการเหมือนเด็กพิเศษ พาไปรักษาจนหายแม้จะมีอาการอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก ที่ผ่านมาเคยเตือนภรรยาและลูกสาวให้ช่วยดูแลน้องและอย่าพยายามขัดใจ เพราะลูกชายมีอาการเหมือนเด็กเก็บกดไม่ค่อยพูดจา และไม่ช่วยงานที่บ้าน แต่ไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องร้ายได้ขนาดนี้



พ.ต.ต.ประยุทธ กล่าวว่าเบื้องต้นได้ควบคุมตัวเด็กชายไว้ก่อน และต้องรอประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสอบปากคำอย่างเป็นทางการอีกครั้งตามกฎหมาย ขณะนี้ยังไม่ได้แจ้งข้อหาแต่อย่างใด

ด้านนพ.อภิชัย มงคล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การติดเกมถือเป็นการเสพติดชนิดหนึ่ง เพราะจะมีสารเสพติดที่ชื่อสารโดปามีนหลั่งออกมา เช่นเดียวกับการเสพยาเสพติด ซึ่งเด็กวัยนี้แม้จะเติบโตเต็มที่แต่การควบคุมอารมณ์ยังไม่ดี เมื่อถูกขัดใจในสิ่งที่เสพติด อาจจะควบคุมตัวเองไม่ได้ เสี่ยงที่จะทำร้ายผู้อื่น

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าในเชิงทฤษฎีด้านสุขภาพจิตเด็ก ความก้าวร้าวของวัยรุ่นมีแนวโน้มมากกว่าเด็กและผู้ใหญ่ เพราะเป็นช่วงรอยต่อของวัย และมีฮอร์โมนต่างๆ มากมายพลุ่งพล่านอยู่ในร่างกาย ดังนั้นพื้นฐานของวัยรุ่นจึงมีความแรงอยู่ในตัว หากประกอบกับบุคลิกจากการอบรมเลี้ยงดู สติปัญญา อารมณ์ และความคิด อาจทำให้กิดความรุนแรง โมโหร้าย ตัดสินใจผิดพลาด รวมถึงสภาพแวดล้อมภายในครอบครัว ชุมชน หรือสื่อที่มีความรุนแรงล้วนเป็นสิ่งยั่วยุหรือเร้าให้เกิดความรุนแรง



"โดยปกติหากวัยรุ่นกำลังหมกมุ่นกับเรื่องใดหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แล้วมีคนมาต่อว่าหรือขัดขวางความสนใจนั้น ส่วนใหญ่จะควบคุมอารมณ์ตนเองได้ อาจมีแสดงอาการฟึดฟัดบ้างเป็นเรื่องปกติ กรณีเด็กวัยรุ่นรายนี้อาจต้องมีการพิจารณาเพิ่มเติมว่า มีอะไรเกิดขึ้นภายในจิตใจเป็นพิเศษหรือไม่ ซึ่งเท่าที่ทราบพ่อบอกว่าเคยมีอาการคล้ายเด็กพิเศษแต่รักษาหายแล้ว อย่างไรก็ตามในการสอบสวนเด็กและวัยรุ่นตามกฎหมาย จะมีนักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์เข้าร่วมด้วย จะช่วยประเมินสภาพจิตใจเด็กได้มากขึ้น" นพ.วชิระกล่าว



นพ.วชิระกล่าวว่า สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองหากจะเข้าไปห้ามปรามหรือแนะนำสิ่งใดกับบุตรหลาน ควรใช้หลักโคนันทวิศาล เน้นท่าทางที่เป็นมิตร มีความเมตตา ไม่ใช้วาจาที่อาจจะยั่วยุให้อารมณ์รุนแรงขึ้น ทั้งนี้ผู้ใหญ่รู้จักหักห้ามใจได้มากกว่าเด็กและวัยรุ่น จึงไม่ควรกระทำการด้วยวาจาหรือท่าทางที่รุนแรง นอกจากนี้ควรสังเกตบุตรหลานด้วยว่ามีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการก่อความรุนแรงหรือไม่ เช่น ไม่ค่อยสนใจดูแลตนเอง เก็บกด ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

"เท่าที่ติดตามจากข่าว อาการของเด็ก น่าจะเป็นลักษณะของความเครียดที่สะสมมากๆ เข้า เมื่อถึงจุดหนึ่งจึงระเบิดขึ้นมา เมื่อส่งเด็กไปตรวจสภาพจิตใจแล้ว จิตแพทย์จะตรวจวิเคราะห์ที่แน่ชัด พร้อมสืบประวัติต่างๆ เพิ่มขึ้นว่าเป็นการป่วยทางจิตหรือไม่ ส่วนกรณีที่พ่อเด็กเปิดเผยว่าตอนเด็ก มีอาการคล้ายเด็กพิการทางสมองแต่ไปรักษาแล้วก็ไม่มีอาการอีกนั้น มีแนวโน้มว่าอาจไม่เกี่ยวข้องกันกับเหตุสลดที่เกิดขึ้น" อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว



นพ.วชิระกล่าวอีกว่า ทั้งนี้ หากผลการตรวจสภาพจิตใจของเด็กออกมาแล้วพบว่าป่วยทางจิตเวช หากเป็นอาการวิกลจริตก็จะเข้าข่ายมาตรา 65 ตามประมวลกฎหมายอาญา ที่ไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่หากเป็นอาการซึมเศร้าหรือยังมีความรู้ผิดชอบอยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับศาลจะพิจารณาความผิด

นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหา วิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าสมองคนเราจะแบ่งเป็นส่วนของการสร้างอารมณ์ และส่วนของการสร้างทักษะรู้คิด ซึ่งธรรมชาติของวัยรุ่นนั้น สมองส่วนอารมณ์จะมีความไวต่อปฏิกิริยาการรับรู้อย่างมาก โดยเฉพาะวัยรุ่นชายที่จะแสดงออกโดยไม่ทันคิด ผลที่ตามมาก็จะเกิดการแสดงออกในรูปแบบต่างๆ กรณีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เชื่อว่าเมื่อเด็กมีสติมากขึ้นก็คงจะรู้สึกถึงสิ่งที่กระทำลงไปว่ามีความผิดอย่างมาก ดังนั้นต้องอาศัยหลักจิตวิทยา ที่จะเข้าไปช่วยเยียวยาเพื่อให้เด็กสามารถ ดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่กระทำให้เด็กรู้สึกย่ำแย่ มากยิ่งขึ้น



ส่วนนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะกระแสโลกาภิวัตน์ ที่ทำให้เทคโนโลยีการสื่อสารต่างๆ หลั่งไหลเข้ามา จนทำให้เด็กเยาวชนซึมซับอย่างรู้ไม่เท่าทัน ขณะที่พ่อแม่ผู้ปกครองก็ไม่สามารถตามทันกระแสดังกล่าว จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ซึ่งเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องในการเข้าไปอบรมให้ความรู้พ่อแม่ ชุมชนให้เข้าใจและรับมือกระแสโลกา ภิวัตน์อย่างรู้เท่าทัน และเน้นการสร้างครอบครัว ที่อบอุ่น



นายปกรณ์ พันธุ อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าสลดใจอย่างยิ่ง ซึ่งคงต้องมองถึงปัจจัยและสภาพแวดล้อมรอบด้านถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมรุนแรง มอบหมายให้นักสังคมสงเคราะห์ในพื้นที่ เข้าไปดูแลช่วยเหลือเด็กและครอบครัวแล้ว

1 พ.ย. 55 เวลา 18:18 2,391 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...