นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยว่า ในการหารือปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากับผู้บริหารกรมสรรพากรเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อสรุป เพราะยังมีรายละเอียดที่ให้กรมสรรพากรกลับไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติม และให้นำกลับมารายงานใหม่อีกครั้ง
ด้านนายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รมช.คลัง ในฐานะกำกับดูแลกรมจัดเก็บภาษี กล่าวว่า การหารือปรับโครงสร้างภาษีได้มีพิจารณาถึงรายละเอียดการแยกยื่นภาษีของสามีภรรยา ตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งพบปัญหาว่าทำให้กรมสรรพากรสูญเสียรายได้มากกว่าที่เคยประเมินไว้ว่าจะสูญรายได้ 4,000 ล้านบาท เป็นหลายหมื่นล้านบาท ซึ่งเปิดเผยตัวเลขไม่ได้ โดยได้มอบหมายให้กรมสรรพากรกลับไปทบทวนรายละเอียดอีกครั้ง แม้ว่าสรรพากรออกประกาศแนวทางปฏิบัติไปเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2555 แล้วก็ตาม โดยยืนยันว่าการแยกยื่นต้องมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2556 ตามคำสั่งของศาลแน่นอน
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเรื่องของการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา นายกิตติรัตน์ได้สั่งให้กรมสรรพากรไปทำรายละเอียดการเพิ่มหักค่าลดหย่อนคู่สมรสที่ปัจจุบันหักได้ 3 หมื่นบาท และการหักค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบุตร ที่ปัจจุบันหักได้ 1.5 หมื่นบาท รวมกับค่าการศึกษาเพิ่มอีก 2,000 บาท เป็น 1.7 หมื่นบาท ว่าจะเพิ่มขึ้นได้สูงสุดเท่าไร
ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์ได้ให้กรมสรรพากรทำตัวเลขการหักค่าลดหย่อนคู่สมรสเพิ่มตั้งแต่ 3 หมื่นบาท ถึง 6 หมื่นบาท ขณะที่การเพิ่มหักลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบุตรให้ทำเพิ่มไปถึง 3 หมื่นบาท เพื่อดูว่าการเพิ่มแต่ละช่วงจะกระทบทำให้การเก็บภาษีหายไปจำนวนเท่าไร
สำหรับการลดหย่อนภาษีตัวอื่นๆ ที่ก่อนหน้านี้กรมสรรพากรเสนอให้มีการกำหนดเพดานหักลดหย่อนทั้งหมดต้องไม่เกินเท่าไร ยังไม่มีการเสนอให้ รมว.คลัง เห็นชอบ
ส่วนของอัตราภาษีบุคคลธรรมดากรมสรรพากรได้เสนอให้มีการปรับอัตราใหม่ให้มีความถี่มากขึ้นเริ่มตั้งแต่รายได้หลังหักรายจ่ายและค่าลดหย่อน 0-1.5 แสนบาท ได้รับการยกเว้นภาษี รายได้ 1.5-3 แสนบาท เสียภาษี 5% รายได้ 3-5 แสนบาท เสียภาษี 10% รายได้ 5-7.5 แสนบาท เสียภาษี 15% รายได้ 7.5 แสนบาท - 1 ล้านบาท เสียภาษี 20% รายได้ 1-2 ล้านบาท เสียภาษี 25% รายได้ 2-4 ล้านบาท เสียภาษี 30% และรายได้ตั้งแต่ 4 ล้านบาท เสียภาษี 35% จากปัจจุบันอัตราภาษีอยู่ที่ 10-37%
สำหรับอัตราภาษีใหม่จะให้กรมสรรพากรสูญเสียภาษีปีละ 2.7 หมื่นล้านบาท แต่เป็นการแบ่งเบาภาระของผู้เสียภาษี สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้เสียภาษี โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 1 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างภาษีบุคคลธรรมดาต้องใช้เวลาดำเนินการนานเพราะต้องการมีการเสนอแก้ไขกฎหมายประมวลรัษฎากรของกรมสรรพากรไปยังสภาผู้แทนราษฎร