เป็นเวลา 33 ปี ที่โรงพยาบาลสัตว์ ก่อตั้งขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จ.นคร ปฐม ช่วงระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ ที่ผ่านมา โรงพยาบาลสัตว์แห่งนี้เดินหน้าไปไกลกว่าการเป็นเพียงโรงพยาบาลฝึกหัดของนิสิตสัตวแพทย์ แต่ก้าวไปสู่โรงพยาบาลที่รองรับการรักษาสัตว์จากประชาชนทั่วเขตภาคตะวันตก
ล่าสุดถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ กำแพงแสน หลังประสบความสำเร็จในการศัลยกรรมตัดต่อลำไส้ใหญ่ในม้าได้เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และการผ่าตัดแก้ไขภาวะนิ่วในช้างได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก
สำหรับการศัลยกรรมตัดต่อลำไส้ม้านั้น เป็นการผ่าตัดเพื่อแก้ไขภาวะลำไส้ใหญ่ที่อุดตันในม้าพันธุ์ผสมพื้นเมืองไทย อายุ 1 ปี จำนวน 2 ตัว
โดยม้าตัวแรกเข้ารับการรักษาที่คลินิกม้าของโรงพยาบาล ตั้งแต่เดือนพ.ย.2554 ส่วนอีกตัวเข้ารับการรักษาเมื่อเดือนม.ค.2555 ม้าทั้ง 2 ตัวนี้ป่วยด้วยอาการเดียวกัน คือ มีภาวะเสียดท้องระดับรุนแรง แม้ว่าเบื้องต้นแพทย์จะพยายามรักษาด้วยการให้ยา แต่เนื่องจากม้าไม่ตอบสนอง ทำให้แพทย์ตัดสินใจทำศัลยกรรมเพื่อแก้ไขภาวะดังกล่าว
เมื่อสัตวแพทย์ผ่าตัดเปิดช่องท้องของม้าทั้ง 2 ตัว พบว่าบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนท้ายมีการอุดตันของกากอาหาร หรือก้อนอุจจาระจนแข็งแน่น ทำให้เลือดไม่ไปเลี้ยงลำไส้บริเวณนั้นได้ ส่งผลให้ลำไส้ส่วนนี้กลายสภาพเป็นเนื้อตาย ยาวประมาณ 1 ฟุต
ทีมสัตวแพทย์จึงต้องตัดลำไส้ส่วนนั้นออก จากนั้นเย็บลำไส้และเยื่อ ยึดลำไส้ที่แยกออกเป็น 2 ส่วนเข้าด้วยกัน และเมื่อสัตวแพทย์ตรวจสอบก้อนอุจจาระดังกล่าว พบว่ามีเส้นเชือก คล้ายเชือกกระสอบอาหารปะปนอยู่ จึงเป็นสาเหตุให้อุจจาระมารวมกันอยู่ที่เชือก ซึ่งทำหน้าที่คล้ายแกน จึงส่งผลให้ม้าไม่สามารถขับถ่ายออกทางทวารหนักได้ ทำให้ก๊าซที่เกิดจากการหมักบริเวณลำไส้ส่วนต้นเพิ่มมากขึ้น จนมีผลให้ลำไส้ใหญ่ขยายใหญ่ขึ้นด้วย
ทุกวันนี้ ม้าทั้ง 2 ตัวที่เข้ารับการผ่าตัด มีอัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ 100 เปอร์เซ็นต์ สุขภาพแข็งแรงและสมบูรณ์ดี
ผศ.น.สพ.ดร.วรกิจ เชิดชูธรรม หนึ่งในทีมสัตวแพทย์ กล่าวว่า ม้าเป็นสัตว์ที่มีพฤติกรรมชอบแทะกินสิ่งผิดปกติ ทำให้เกิดปัญหา ดังกล่าวขึ้นเป็นประจำ โดยเฉพาะม้าที่เลี้ยงโดยชาวบ้านทั่วไป ทั้งนี้ โรงพยาบาลจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงม้าในเขตภาค ตะวันตก และเขตอื่นๆ ให้ดูแลและระมัดระวังความเป็นอยู่และการกินของม้า เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวขึ้นซ้ำอีก
ปัจจุบันคลินิกม้าโรงพยาบาลสัตว์แห่งนี้ค่อยๆ ขยายใหญ่มากขึ้น แต่ละเดือน มีม้าเข้ามารับการรักษาไม่ต่ำกว่า 300-400 ตัว ในจำนวนนี้ มีทั้งม้าที่ป่วยด้วยโรคทางอายุรกรรมและศัลยกรรมรวมถึงม้าที่เจ้าหน้าที่ออกไปรักษาข้างนอก
นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลสัตว์ยังสามารถรองรับม้าป่วยในได้ถึง 20 ตัว และมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากต้องรองรับม้าทั้งในเขตภาคตะวันตก กรุงเทพมหานคร รวมถึงบางส่วนจาก จ.นครราชสีมา
"ถือเป็นอีกขั้นหนึ่งของความสำเร็จ เพื่อพัฒนาความพร้อม ในการเป็นโรงพยาบาลสัตว์ อ้างอิงการศัลยกรรมแก้ไขความผิดปกติภาวะเสียดในม้า (Equine Colic Refferal Hospital) หรือ โรงพยาบาลที่รองรับ การผ่าตัดรักษา ต่อจากสัตวแพทย์ที่ไม่สามารถผ่าตัดเองได้ แห่งแรกในประเทศไทย" ผศ.น.สพ.ดร.วรกิจ กล่าว
ผลงานโบแดงอีกชิ้นหนึ่ง ที่หากไม่พูดถึงคงไม่ได้ นั่นคือความสำเร็จครั้งใหญ่จากการผ่าตัดแก้ไขภาวะนิ่วในช้างได้เป็นครั้งแรกในโลก ของหน่วยสัตว์ป่า โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน มีจุดเริ่มต้นจากเมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลได้รับพังคำมูล ช้างเพศเมียวัย 45 ปี จากนายอลงกต ชูแก้ว ผอ.กองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย
"ผมทราบข่าวว่าเจ้าของพังคำมูลที่เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี อยากจะขายช้างรับนักท่องเที่ยวเชือกนี้ แม้จะได้ยินมาว่าช้างเริ่ม หมดเรี่ยวแรงและมีปัญหาสุขภาพ แต่ก็ตัดสินใจซื้อมาด้วยราคาที่ ค่อนข้างแพง เพราะรู้ว่าพังคำมูลไม่ใช่ช้างที่เราจะเจอได้บ่อยๆ" นายอลงกตเล่าถึงที่มาระหว่างเขาและช้างเชือกนี้
ผอ.กองทุนวิจัยและอนุรักษ์ช้างไทย เล่าต่อว่า หากดูจากร่องรอยตามร่างกายของพังคำมูล จะรู้ว่าเป็นช้างที่ผ่านความกดดันมามากพอสมควร เพราะตามตัวยังปรากฏร่องรอยของเครื่องพันธนาการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นรอยที่คอ ที่แสดงให้เห็นว่าพังคำมูลเคยผ่านการลากไม้มาอย่างหนัก หรือแผลที่ขา ซึ่งน่าจะเกิดจากคมมีดสำหรับล็อกขาไม่ให้เดิน
อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ที่ดูเหมือนจะเลวร้ายของช้างเชือกนี้ กลับไม่ได้ทำให้พังคำมูลมีนิสัยดุร้าย
"เคยมีเด็กตาบอดคนหนึ่งมาเล่นกับเขา เหมือนพังคำมูลจะรู้ว่าเป็นเด็กตาบอด เขาก็จะยืนนิ่งๆ ปล่อยให้เด็กลูบตัวไป หรือหลายครั้งที่มีน้องออทิสติก เด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้อื่นๆ มาเล่นกับพังคำมูล เราก็พบว่าเด็กจะมีพัฒนาการค่อนข้างดีเมื่อได้อยู่กับช้างเชือกนี้ ต่างจาก ช้างเชือกอื่นที่อาจไม่ชอบเวลามีเด็กมายืนข้างหน้า และพยายามใช้งวงตบ หรือหลบหลีก แต่พังคำมูลกลับเข้ากับเด็กได้ดี สำหรับเรา เขาถือเป็นครูคนหนึ่งของเด็กๆ" นายอลงกตเล่าด้วยสีหน้าระบายยิ้ม
แต่หลังจากย้ายพังคำมูลมาอยู่ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ได้ไม่นาน ปรากฏว่ามีอาการซึมและแย่ลง ปัสสาวะกะปริบกะปรอย กินอาหารน้อย และไม่ยอมล้มตัวลงนอน ที่เห็นได้ชัดคืออาการบวมบริเวณฝีเย็บใต้ทวารหนัก นายอลงกตจึงตัดสินใจประสานงานกับทางโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน เพื่อเข้ารับการรักษาโดยด่วน
เมื่อทีมสัตวแพทย์ลองตรวจด้วยการส่องกล้องเอนโดสโคปผ่านทางช่องคลอด และอัลตราซาวด์ผ่านทวารหนักและผิวหนัง รวมถึงการเจาะเก็บตัวอย่าง พบว่ามีวัตถุแข็งจำนวนมากอยู่บริเวณดังกล่าว รวมถึงการพบเศษหนองและเนื้อตายที่ถูกดูดออกมาได้จากการเจาะตรวจ
สัตวแพทย์จึงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นก้อนนิ่วที่อุดตันอยู่ หรือส่วนกระดูกของลูกช้างที่มีภาวะคลอดยาก อย่างไรก็ตาม จากการซักประวัติไม่พบว่าพังคำมูลมีประวัติการผสมพันธุ์ ทีมแพทย์จึงรักษาเบื้องต้นด้วยการให้ยา และเจาะเลือดเพื่อประเมินสุขภาพ ก่อนจะผ่าตัดในเช้าวันที่ 15 ก.ย.
ทีมสัตวแพทย์เริ่มต้นด้วยการวางยาซึม และให้ยาชาเฉพาะที่กับพังคำมูล ก่อนผ่าเข้าไปบริเวณฝีเย็บใต้ทวารหนัก และพบว่าวัตถุแข็งที่สงสัย นั่นก็คือก้อนนิ่วที่อุดตันอยู่ในทางเดินปัสสาวะ
ผลจากการผ่าตัดกว่า 3 ชั่วโมงของทีมสัตวแพทย์ และนิสิตสัตวแพทย์กว่า 30 คน พบก้อนนิ่วถึง 162 ก้อน หนักประมาณ 8 กิโลกรัม แต่ละก้อนมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางตั้งแต่ 2-10 เซนติเมตร ภายหลังจาก การผ่าตัด พังคำมูลมีภาวะท้องอืดอย่างมาก แต่ทีมสัตวแพทย์ได้แก้ไขจนกลับมาเป็นปกติ
"ช้างเป็นสัตว์ที่ต้องกินน้ำประมาณ 200 ลิตรต่อวัน ก้อนนิ่วที่พบในพังคำมูล น่าจะสะสมจากช่วงที่ไปอาศัยอยู่ที่เกาะพะงัน ตั้งแต่ปีพ.ศ.2552 เพราะเป็นพื้นที่ที่มีแหล่งน้ำจืดน้อย และไม่มีพืชอาหารที่ให้น้ำมากพอ รวมถึงอาจเกิดจากการกินน้ำจากแหล่งน้ำที่มีแร่ธาตุบางชนิดสูงกว่าปกติ
หลังจากจากเสร็จเรื่องพังคำมูล ทางคณะสัตวแพทย์ก็มีแผน เดินทางไปตรวจสอบที่เกาะพะงัน รวมถึงการสำรวจช้างตัวอื่นๆ ที่ อาจเผชิญภาวะเสี่ยงต่อโรคนิ่วอุดตัน เช่นเดียวกับพังคำมูล" ผศ.น.สพ.ดร.นิกร ทองทิพย์ หนึ่งในทีมสัตวแพทย์กล่าว
ขณะนี้ พังคำมูลยังต้องปัสสาวะออกทางแผลผ่าตัดชั่วคราว เนื่องจากยังมีการอุดตันที่ทางเดินปัสสาวะด้านล่างอยู่ โดยจะเข้ารับการผ่าตัดอีกครั้งในเร็ววันนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
แม้ว่าการรักษาพังคำมูลจะยังคงดำเนินต่อไป แต่การผ่าตัดครั้งใหญ่ในสัตว์ทั้ง 2 ชนิดที่ผ่านมาของโรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์ กำแพงแสน ได้ขยายพรมแดนความรู้ทางสัตวศาสตร์ให้กว้างไกลออกไป
อีกทั้งยังยืนยันได้เป็นอย่างดีถึงความพร้อมของคนกลุ่มหนึ่ง ในการดูแลรักษาชีวิตสัตว์เหล่านี้ สิ่งมีชีวิตที่อาจไม่สามารถสื่อสารกันได้ด้วยภาษาใดๆ นอกจากหัวใจที่ตระหนักว่าเราต่างก็ต้องดูแลกันและกัน