จริงหรือ ? เพลงชาติไทย เยอรมันแต่ง

 

 

 

 

 

 จริงหรือ ? เพลงชาติไทย เยอรมันแต่ง

 

 

เล่าไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า เพลงชาติไทยเกิดในรถราง เพราะคุณพระเจนดุริยางค์แต่งทำนองได้ขณะที่ท่านกำลังนั่งอยู่บนรถรางสายบางขุนพรหม-ท่าเตียน

สัปดาห์นี้เลยมาเย้าแหย่กันเล่นว่า คนเยอรมันเขียนทำนองเพลงชาติไทย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะคุณพระเจนฯท่านเป็นลูกครึ่งเยอรมัน 

ในยุคที่สยามกำลังก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่ โลกหลังการปฏิวัติทางอุตสาหกรรม บรรดาลูกครึ่งจำนวนไม่น้อยกลายเป็นสะพานสำคัญในการเชื่อมสยามกับโลกภายนอก ลูกครึ่งเยอรมันอย่างคุณพระเจนดุริยางค์ หรือลูกครึ่งอังกฤษอย่างคุณพระเจริญวิศวกรรม (เสาหลักใหญ่ในการก่อตั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เป็นต้น

ประวัติของคุณพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร หรือ Peter Feit พ.ศ.2426-2511) นั้นหาอ่านได้ง่าย เพราะนักดนตรีไทยถือว่าท่านเป็นบรมครู หรือบิดาแห่งวิชาการดนตรีสากลในประเทศเรา

นอกจากจะประพันธ์ทำนองเพลงชาติไทยฉบับปัจจุบันแล้ว ท่านยังประพันธ์เพลงสำคัญ เช่น เพลงเถลิงศก เพลงศรีอยุธยา และเพลงประกอบภาพยนตร์เช่นเพลงบ้านไร่นาเรา ฯลฯ 

ท่านเป็นคนแรกที่เรียบเรียงตำราวิชาการดนตรีสากลขึ้นเป็นภาษาไทย ทำให้นักดนตรีบ้านเรามีโอกาสได้ใช้ตำราดังกล่าวศึกษาทั้งทฤษฎีการดนตรีและการเรียบเรียงเสียงประสานเบื้องต้น อีกทั้งยังประสิทธิ์ประสาทวิชาดนตรีให้แก่ลูกศิษย์ติดต่อกันนานกว่าครึ่งศตวรรษ 

บรมครูผู้นี้เป็นท่านแรกที่บันทึกทำนองเพลงไทยเดิมไว้ในรูปของโน้ตสากล ทำให้เพลงไทยเดิมจำนวนมากไม่สูญหาย นอกจากนี้ยังเป็นท่านแรกที่เริ่มบัญญัติศัพท์ทางดนตรีจากสากลเป็นภาษาไทยอีกด้วย

คุณูปการของคุณพระเจนดุริยางค์ที่มีต่อการดนตรีของประเทศไทย จึงมีมากมายเกินกว่าเพียงการประพันธ์ทำนองเพลงชาติไทยที่ท่านถูกขอร้องแกมบังคับให้ทำในปี พ.ศ.2475 

แต่หากมองให้ลึกซึ้งถึงที่มาของบรมครูท่านนี้ ก็ต้องเปิดย้อนไปที่หน้าประวัติวันเยาว์ของท่าน แล้วจะรู้สึกได้ว่า สุภาพบุรุษเชื้อสายเยอรมันที่ชื่อ Jacob Feit ท่านบิดาของคุณพระฯ คือผู้ที่มอบของขวัญระดับชาติให้แก่ประเทศสยามโดยแท้ 

ดังนั้นจึงต้องขอยืมเรื่องราวจาก "วันเยาว์ของคนใหญ่" หนังสือขายดีของสำนักพิมพ์มติชนมาเล่าต่อให้ฟังตรงนี้



ในวัยเยาว์...

เด็กชายปีเตอร์ได้ยินพ่อพูดกับเขาและพี่ชายสองคนเสมอว่า

"จงอย่าได้คิดยึดดนตรีเป็นอาชีพเป็นอันขาด"

เหตุผลสำคัญของพ่อคือ

"คนไทยไม่ได้รักดนตรีจริงๆ เล่นสนุกชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็ทิ้ง"

ในประเทศที่คนไม่ได้ให้ความสำคัญการดนตรีอย่างจริงจัง ผู้ที่ยึดอาชีพนี้ย่อมจะไม่ได้รับการนับถือ อีกทั้งยังไม่ได้ค่าตอบแทนอันสมควรด้วย เพราะไม่ต่างกันจากพวกที่ ′เต้นกินรำกิน′ สักกี่มากน้อย

ในขณะที่พ่อย้ำแล้วย้ำอีกเรื่องนี้ แต่พ่อก็เคี่ยวเข็ญให้ลูกชายทั้งสามคนฝึกซ้อมดนตรีทุกวี่วัน

ทุกวี่วันจริงๆ

ปีเตอร์กับพี่ๆ คือพอลและเลโอ จะได้ "เว้นดีดซ้อมดนตรี" บ้างก็เฉพาะวันคริสต์มาสและวันปีใหม่

พ่อฉลองคริสต์มาสและปีใหม่ของชาวตะวันตก ไม่ใช่วันสงกรานต์อย่างคนไทยทั่วๆ ไป เพราะพ่อเป็นฝรั่ง 

พ่อยาขอบ (Jacob) ของปีเตอร์เป็นฝรั่งเชื้อสายเยอรมัน เกิดในเมือง Trier ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนีในปัจจุบัน (สมัยนั้นเยอรมนีแยกเป็นแคว้นเล็กๆ ยังไม่ได้รวมเข้าเป็นประเทศใหญ่อย่างเช่นทุกวันนี้) เป็นเมืองที่รุ่งเรืองมาก่อนกรุงโรม เจริญทั้งทางการศึกษา ศิลปะ และวัฒนธรรม

พอเริ่มเป็นหนุ่มหมาดๆ พ่อกับญาติๆ หลายคนก็ทิ้งบ้านเกิดเดินทางไปแสวงโชคใน "สหปาลีรัฐอเมริกา" ดินแดนที่คนยุโรปในครั้งนั้นเรียกว่า The New World หรือโลกใหม่ เพราะในยุโรปเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วมีทั้งการกดขี่จากชนชั้นสูงและการกีดกันทางศาสนา ยากที่ชาวบ้านธรรมดาจะก้าวหน้าหรือได้ดิบได้ดี คนหนุ่มสาวจึงเต็มใจจะไปหาชีวิตที่ดีกว่าในโลกใหม่

ไม่ผิดจากที่คนไทยครั้งก่อนยินดี "ไปตายเอาดาบหน้า"

พ่อมีทั้งความแข็งแกร่งของวัย มีทั้งความสามารถทางดนตรีติดตัว จึงเป็นไปได้ที่พ่อจะไปหาความรุ่งเรืองในอเมริกา

แต่เมื่อพ่อไปถึง โลกใหม่ที่ว่ากำลังกลายเป็นดินแดนแตกแยก รัฐต่างๆและบรรดาประชาชนที่เคยร่วมความสมัครสมานสามัคคีกันเพื่อรบกับอังกฤษ จนก่อตั้งประเทศใหม่ขึ้นได้ กลับเริ่มมีความขัดแย้งทั้งในเรื่องการเมือง การค้า และอื่นๆ จนกลายเป็นสงครามกลางเมือง

สงครามกลางเมืองในประเทศที่คนไทยเคยขนานนามว่า "สหปาลีรัฐอเมริกา" เกิดขึ้นใน พ.ศ.2404 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

ชนชาติต่างๆ ที่มุ่งหวังจะเข้าไปทำมาหากินในอเมริกา กลับตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งนี้ด้วยโดยไม่ตั้งใจ ทำให้ต้องเลือกข้างไปตามสถานการณ์

ในขณะที่คนมีเงินสามารถจ้างให้คนอื่นเป็นทหารแทนตนได้ บรรดาผู้มาตั้งรกรากใหม่ซึ่งส่วนใหญ่ขัดสนอยู่แล้วกลับยินดีที่จะได้เป็นทหาร เพราะมีทั้งอาหารและเสื้อผ้า อีกทั้งยังมีเงินเดือนให้ด้วย แม้จะน้อยนิดแต่ก็ดีกว่าไม่มีเลย

พ่อยาขอบได้เข้าร่วมเป็นทหารในกองทัพฝ่ายเหนือของประธานาธิบดีลินคอล์น เพื่อรบกับฝ่ายใต้ซึ่งนิยมการมีทาส

สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2408 

แทนที่จะตั้งรกรากในสหรัฐอย่างที่ใฝ่ฝันไว้แต่แรก พ่อกลับเปลี่ยนใจ เริ่มออกเดินทางไปเผชิญโชคในต่างดินแดนอีก 

คราวนี้จุดหมายของพ่อคือเอเชีย

พ่อของเด็กชายปีเตอร์มาถึงประเทศสยามในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2410 

ความตั้งใจแรกของพ่อจะเป็นว่ามาทำการค้าหรือประกอบการงานใดไม่แน่ชัด แต่ความสามารถทางดนตรีทำให้พ่อกลายเป็นเพื่อนกับกงสุลอเมริกันในเมืองไทย (ในครั้งนั้นยังเป็นแค่กงสุล ไม่ใช่ทูต)

กงสุล Chandler ผู้นี้เป็นผู้ทำให้พ่อได้งานเป็นครูสอนนักดนตรีแตรวงที่วังหน้า

ในช่วงนั้นประเทศสยามกำลังนิยมแตรวงและมีฝรั่งเข้ามาสอนดนตรีอยู่บ้างแล้วประปราย 

เมื่อตั้งใจลงหลักปักฐานในเมืองสยาม พ่อถูกตาถูกใจสาวไทยเชื้อสายมอญชื่อแม่ทองอยู่ จึงอยู่กินกับสาวเชื้อมอญผู้นี้ จนให้กำเนิดลูกชายสามคนคือเลโอ พอล และปีเตอร์

พ่อเริ่มถ่ายทอดวิชาดนตรีให้ตั้งแต่บรรดาลูกชายยังตัวเล็กๆ 

สัปดาห์หน้าจะเล่าต่อว่า "พ่อยาขอบ" มีวิธีสอนลูกชายทั้งสามคนอย่างไร


ฟังเพลงชาติไทยพร้อมดูเนื้อร้องได้ที่

http://www.youtube.com/watch?v=dloihhQM_yc

อ่านเรื่องราวของเมือง Trier ประเทศเยอรมนีได้ที่

http://en.wikipedia.org/wiki/Trier

ดูเรื่องราวสั้นๆ ของคนเยอรมันในสงครามกลางเมืองในสหรัฐได้ที่

http://www.youtube.com/watch?v=zRsUCKboKo4

ที่มา http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1350791382&grpid=&catid=08&subcatid=0804

 

Credit: http://www.babnee.com/index.php
23 ต.ค. 55 เวลา 16:41 3,262
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...