บริษัทด้านการสื่อสารที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เปิดตัวแอพพลิเคชันที่ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถพูดคุยกับอีกฝ่ายรู้เรื่องแม้พูดกันคนละภาษา
เอ็นทีทีโดโคโมะผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น เตรียมเปิดตัวบริการที่ทำให้ผู้ใช้บริการที่พูดกันคนละภาษาสามารถเข้าใจกันได้ในทันที โดยในเบื้องต้น แอพพลิเคชันดังกล่าว จะเปลี่ยนจากภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษ จีนกลาง และเกาหลี ก่อนที่จะเปิดตัวภาษาอื่นๆเพิ่มเติม
นี่ถือเป็นการเปิดตัวบริการการแปลบทสนทนาทางโทรศัพท์ครั้งล่าสุดขณะที่เริ่มมีบริษัทต่างชาติทำการพัฒนาซอฟท์แวร์แปลภาษาทางโทรศัพท์บ้างแล้วอาทิLexifone และ Vocre เช่นเดียวกับไมโครซอฟท์และอัลคาเทล-ลูเซนต์ ที่กำลังพัฒนาซอฟท์แวร์ดังกล่าวเช่นกัน
ข้อดีของบริการดังกล่าวคือ ช่วยให้บริษัทที่ต้องติดต่อธุรกิจในต่างประเทศลดค่าใช้จ่ายในการจ้างเจ้าหน้าที่ล่าม เพื่อช่วยแปลภาษาต่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไปในตัว
อย่างไรก็ดี ซอฟท์แวร์ที่มีอยู่ขณะนี้ ไม่สามารถแปลได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ 100% และยังคงมีข้อจำกัดในการใช้ในบางสถานการณ์เท่านั้น
เอ็นทีที โดโคโมะ เปิดตัวแอพพลิเคชัน "Hanashite Hon′yaku" สำหรับสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตแอนดรอยด์เพื่อช่วยแปลภาษา ขณะสนทนาผ่านสมาร์ทโฟนแบบตัวต่อตัว ที่งานนิทรรศการเทคโนโลโยที่กรุงโตเกียวเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยจะเปิดให้ดาวน์โหลดวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้
หลักการทำงานของ Hanashite Hon’yaku คือเมื่อผู้สนทนาฝ่ายพูดภาษาญี่ปุ่นผ่านแอพนี้ ตัวโปรแกรมจะทำการแปลอัตโนมัติ และแสดงข้อความภาษาที่แปลแล้ว พร้อมเสียงอ่านให้กับคู่สนทนา
ปัจจุบัน Hanashite Hon’yaku สามารถแปลจากญี่ปุ่นได้เพียง 3 ภาษาเท่านั้น ได้แก่ อังกฤษ จีนกลาง และเกาหลีเท่านั้น แต่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้จะเพิ่มภาษาฝรั่งเศส เยอรมัน อินโดนีเซีย อิตาเลียน โปรตุเกส สเปน และ ไทย เข้ามาด้วย รวมถึงแผนเพิ่มภาษาที่รองรับในอนาคต อย่างไรก็ดี ผู้ที่ต้องการใช้บริการ ต้องทำการสมัครใช้แพ็คเกจใดแพ็คเกจหนึ่งของเอ็นทีที โดโคโมะ
ทั้งนี้ เอ็นทีที โดโคโมะ อาจต้องเจอกับคู่แข่งที่น่ากลัว เนื่องจากอัลคาเทล-ลูเซนต์ของฝรั่งเศส กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาวอฟท์แวร์ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ที่เรียกว่า "วีทอล์ค" (WeTalk) ที่นอกจากจะแปลภาษาญี่ปุ่นได้แล้ว ยังสามารถแปลภาษาอื่นๆได้อีกมากกว่า 10 ภาษา ซึ่งรวมถึง อังกฤษ ฝรั่งเศส และอารบิก
บริการดังกล่าวถูกออกแบบให้สามารถใช้ในบริการโทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์สาธารณะซึ่งหมายความว่าบริษัทต้องหาทางสร้างวิธีการจดจำเสียงโดยใช้ข้อมูลตัวอย่างเสียงที่อัตราความถี่8 หรือ 16 กิโลเฮิร์ตซ ขณะที่ผลิตภัณฑ์ตัวอื่น ซึ่งยังต้องพึ่งพาการเชื่อมต่อข้อมูล ได้ความถี่ที่สูงกว่าที่ 44 กิโลเฮิร์ตซ ซึ่งง่ายต่อการประมวลผลกว่า
อัลคาเทล-ลูเซนต์ ใช้สิทธิบัตรด้านเทคโนโลยีเพื่อจับและเพิ่มความคมชัดของน้ำเสียงผู้ใช้ ก่อนที่จะผ่านซอฟท์แวร์ตรวจจับเสียง ข้อมูลจะวิ่งผ่านซอฟท์แวร์ที่ทำหน้าที่แปล ก่อนที่จะถูกส่งผ่านโปรแกรมสังเคราะห์เสียง บริษัทเผยว่า กระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งวินาที แต่ยังมีข้อจำกัดที่ว่า ต้องรอให้บทสนาทั้งหมดสิ้นสุดลงเสียก่อน และทำได้เพียงการสนทนาแบบรายคน และระหว่างสองภาษาเท่านั้น ซึ่งยังต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาอีกมาก
ด้านหน่วยวิจัยของไมโครซอฟท์ อยู่ระหว่างการพัฒนาโทคโนโลยีนี้เช่นกัน ที่เรียกว่า "Translating Telephone" แต่ก็ยอมรับว่ายังคงประสบปัญหาที่ใหญ่ที่สุด นั่นก็คือการพัฒนาซอฟท์แวร์ที่สามารถรองรับคู่สนทนาที่มากกว่า 2 คน และมากกว่า 2 ภาษา ให้สามารถใช้งานได้ในเวลาเดียวกัน
Lexifone
ส่วน Lexifone ของอิสราเอล แสดงความหวังว่าบริษัทจะสามารถเดินหน้าเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ๆได้ หลังจากเมื่อต้นปี บริษัทเปิดตัวบริการแปลภาษาระหว่างผู้ใช้โทรศัพท์ อาทิ อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส โปรตุเกส อิตาเลียน และจีนกลาง โดยผู้บริหารหวังว่าธุรกิจดังกล่าวยังสามารถเติบโตได้อีกมาก และวางแผนการเติบโตไว้กว่าปีละ 200% ขณะที่มูลค่าทางการตลาดของธุรกิจนี้ รวมทั้งสิ้่นทั่วโลกกว่า 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
Vocre
ขณะที่บริษัท MyLanguage ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแอพพลิเคชันในสมาร์ทโฟน ที่สามารถแปลบทสนทนาที่เรียกว่า Vocre ก็กำลังพยายามคิดค้นกลยุทธิ์ใหม่ๆ เพื่อช่วงชิงกลุ่มลูกค้าสมาร์ทโฟนทั่วโลก