ช่วงเย็นวันที่ 18 ตุลาคมที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินจากชั้น 16 อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช
การเสด็จลงครั้งนี้ เพื่อทอดพระเนตร พลับพลาประดิษฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงอุ้มสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ไว้บนพระเพลา (ตัก) ด้านซ้าย
ที่บริเวณสถาบันการแพทย์ สยามมินทรา ธิราช ด้านข้างโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา
ความปลื้มปีติไหลรินมาสู่หัวใจคนไทย เมื่อได้เห็น "ในหลวง" ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์
สำหรับ "พระบรมรูปพระบาทสมเด็จ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระรูปสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์" คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดสร้างขึ้น
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดโรงพยาบาลศิริราช และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีคุณูปการต่อโรงพยาบาลศิริราชและโรงเรียนแพทย์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราช ทานพระบรมราชานุญาต และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมศิลปากรจัดสร้างพระบรมรูปและพระรูปขึ้น
ดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 โดยมี นายภราดร เชิดชู และ นายนพรัตน์ บุญมี เป็นผู้ออกแบบและปั้น เป็นประติมา กรรมรูปหล่อโลหะผสมขนาดใหญ่กว่าคนจริง 1.25 เท่า
องค์พระบรมรูปรัชกาลที่ 5 ทรงฉลองพระองค์ลำลองแบบคอจีนอยู่ในอิริยาบถประทับนั่งบนพระราชอาสน์ เบือนพระพักตร์ออกไปทางฝั่งน้ำเจ้าพระยา ขณะทรงอุ้มสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ทรงอาภรณ์ผ้านุ่งอย่างเชื้อพระวงศ์ ชั้นสูงประคองอยู่ในพระหัตถ์
ทุกองค์ประกอบตั้งแต่ลักษณะกายวิภาค พระอิริยาบถ สีพระพักตร์ ร่องริ้วของฉลองพระองค์ ตลอดจนลวดลายประดับบนพระราชอาสน์ ล้วนแต่ได้รับการรังสรรค์ขึ้นอย่างประณีตบรรจงด้วยความตั้งใจและใส่ใจในทุกรายละเอียด จนประหนึ่งราวกับมีชีวิต
โดยเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯแทนพระองค์ไปทรงหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ณ โรงหล่อสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม
สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 53 ใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชโอรสพระองค์ที่ 5 ใน สมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ พระพันปีหลวง
ประสูติเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2428 ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬารห้องเขียว ซึ่งในเวลาที่พระองค์ประสูตินั้น ได้มีฝนดาวตกเต็มท้องฟ้า และสามารถมองเห็นได้ในพระนคร ดังนั้น ชาววังจึงได้ออกพระนามของพระองค์ว่า "ทูลกระหม่อมดาวร่วง"
สมเด็จเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศเรียกสมเด็จ เจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ว่า "น้องชายเอียด" และได้จดบันทึกถึงเหตุการณ์วันประสูติของสมเด็จ เจ้าฟ้าพระองค์นี้ไว้ในจดหมายเหตุรายวันของพระองค์ว่า
"เราตื่นนอนเช้า กินข้าวแล้วไปเรียนหนังสือ เสด็จน้าประชวรพระครรภ์ เราไปเฝ้าทูลหม่อมบนก่อนแล้วออกไปเรียนหนังสือ บ่ายสองโมงเศษประสูติเป็นผู้ชาย เราดีใจมาก เราได้รับไว้กับเสด็จน้าแล้วว่า ถ้าเป็นผู้ชายเราจะทำขวัญสิ่งของ ถ้าเป็นหญิงเราไม่ให้ เย็นกินข้าวที่บน สมเด็จแม่รับสั่งให้เรานอนบน เรานอนกับน้องๆ ในห้องประทมเก่าของเสด็จน้า นอนสี่ทุ่ม เมื่อเรานอนสมเด็จแม่เสวยอยู่ เรากินเครื่องฝรั่งด้วย แล้วตามเสด็จสมเด็จแม่ไปดูดาวตก เรายังไม่เคย เห็นเลย ตกมากจริงๆ ลางทีก็เห็นย้อยลงมายาวคล้ายดอกไม้เพลิง วันนี้พระยาภาสได้ให้สมุดฝรั่งต่าง ๆ เราหลายเล่ม"
ในสมัยนั้น เกิดอหิวาตกโรคระบาดชุกชุม "พระพุทธเจ้าหลวง" ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นชั่วคราวในที่ชุมชนรวม 48 ตำบล ครั้นโรคร้ายเสื่อมถอยลง โรงพยาบาลจึงได้ปิดทำการ หากแต่ในพระราชหฤทัยทรงตระหนักว่า โรงพยาบาลนั้นจะยังประโยชน์บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้พสกนิกร และผู้อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร
ดังนั้น เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2429 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลถาวรแห่งแรก ณ บริเวณวังของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (วังหลัง) ทาง ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพระราช ทานพระราชทรัพย์เป็นทุนแรกเริ่มในการดำเนินการ
ในระหว่างที่เตรียมการก่อสร้างโรงพยาบาลนั้น เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2430 สมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ ประชวรด้วยโรคบิด พระอาการทรุดลง และสิ้นพระชนม์ ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตย์มโหฬาร พระชนมายุเพียง 1 ปี 6 เดือน เป็นที่โศกเศร้า แห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี อย่างมาก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกำหนดงานพระเมรุ ณ ท้องสนามหลวง พระเมรุห้ายอด ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นพิเศษ และโปรดเกล้าฯให้ใช้สิ่งก่อสร้างเป็นไม้จริง ด้วยมีพระราชประสงค์ว่า เมื่อเสร็จการแล้วจะพระราชทานแก่โรงพยาบาล เมื่อเสร็จการพระเมรุแล้ว โปรดเกล้าฯให้รื้อพระเมรุไปสร้างเรือนคนไข้ภายในโรงพยาบาลได้ จำนวน 4 หลัง และพระราชทานเครื่องเรือน เครื่องใช้ทั้งปวงให้แก่ โรงพยาบาลวังหลัง พร้อมทั้งพระราชทานนาม "โรงศิริราชพยาบาล" หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า "โรงพยาบาลวังหลัง" โดยทำการบำบัดรักษาผู้ป่วยไข้ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณของไทย จนถึงปัจจุบัน
นับได้ว่าพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงอุ้มสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์" เป็นอนุสรณ์ประวัติศาสตร์แห่งความจงรักภักดี อันถือกำเนิดขึ้นจากความตั้งใจให้เป็นศูนย์รวมจิตใจแห่งใหม่ของศิริราชพยาบาล ตลอดจนประชาชนริมสองฝั่งน้ำเจ้าพระยา