วัยรุ่นญี่ปุ่นนอกจากขึ้นชื่อว่าเคร่งเครียดกับการเรียนแล้ว ยังเอาจริงเอาจังกับการเล่นเกม ถึงขั้น "เสพติด"
โดยเฉพาะเกมออนไลน์ที่เป็นปัญหาใหญ่ อาจกล่าวได้ว่าเป็น "วาระแห่งชาติ" เพราะเยาวชนต้องเข้ารับการรักษาบำบัด
ปัจจัยส่วนหนึ่งอาจมาจากประเทศนี้เป็นเจ้าแห่งมังงะ จึงเป็นต้นตำรับวิดีโอเกมสนุกๆ รวมทั้งมีบริษัทผลิตเครื่องเล่นเกมดังๆ อยู่หลายเจ้า
วัยรุ่นบางคนรู้ตัวและหาทางรักษา ขณะที่หลายคนถูกพ่อแม่ส่งไปหาหมอ อาการส่วนใหญ่ของ "คนติดเกม" คือ หมกมุ่นและหยุดไม่ได้
ปกติแล้วเกมออนไลน์เปิดให้เล่นฟรี แต่จะมี "ไอเท็ม" ที่เสริมให้ตัวละครมีพลังและแข็งแรงในด้านต่างๆ ขายในราคาตั้งแต่ 100-1,000 เยน หรือราว 40-400 บาท ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้เล่นสนุกเพลิดเพลิน และเสียเงิน
น่าตกใจว่าเยาวชนบางคนหมดเงินไปกับเกมเดือนละ 80,000 เยน หรือราว 30,000 บาท
พฤติกรรมอดหลับอดนอนทำให้ไปเรียนสาย เมื่อไม่ได้ออกกำลังกายทำให้อ่อนแอลง แม้ตัวละครในเกมจะพัฒนาขึ้น เก่งขึ้น แต่ชีวิตจริงของผู้เล่นกลับสวนทาง บางส่วนมีอาการแปลกแยกจากสังคมและซึมเศร้า
ศูนย์ช่วยเหลือเยาวชน "ฟูโตโกะ ชิเอน เซ็นเตอร์" ในนาโงยะ ชี้ว่า ตั้งแต่ต้นปีถึงเดือนก.ค. มีผู้ติดเกมเข้ามาปรึกษา 327 คน
ส่วนศูนย์บำบัดการเสพติดเกมออนไลน์แห่งแรกของประเทศ ในจังหวัดคานางาวะที่ตั้งเมื่อกลางปีก่อน รักษาผู้ป่วยไปแล้ว 85 คน
ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม และเกือบทั้งหมดเป็นเด็กผู้ชาย
บริษัทเกมบางส่วนเริ่มให้ความร่วมมือด้วยการตั้งข้อกำหนด เช่น ผู้เล่นที่อายุต่ำกว่า 15 ปี ห้ามจ่ายเงินซื้อไอเท็มเกินเดือนละ 5,000 เยน
แต่ก็ยังไม่มีเจ้าไหนกล้าลุกขึ้นมาตั้งข้อจำกัดเรื่องเวลา ห้ามเล่นเกินเท่านั้นเท่านี้ชั่วโมง
ปัญหาคงจะติดอยู่ที่กำไรและธุรกิจนั่นเอง