ขียนโดย เจสัน บุช ในซามารา, บิสสิเนสวีค นิวยอร์ก
บริษัทเอกชนจ้างเจ้าหน้าที่ราชการให้บุกตรวจค้นสำนักงานและตั้งข้อหาอาชญากรรมให้กับบริษัทคู่แข่ง
ในวันทำงานปรกติวันหนึ่งที่โทกลิอัตติ อะซ็อต โรงงานสารเคมียักษ์ใหญ่ในเขตซามาราของรัสเซีย ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำโวลก้าและห่างจากกรุงมอสโควไปทางตะวันออกราว 600 ไมล์ ทีมวิศวกรกะเช้ากำลังเริ่มงานตรวจสอบ และตัวแทนสหภาพแรงงานเพิ่งจะบรรยายเกี่ยวกับการสนับสนุนทางการเงินสำหรับพนักงานที่เพิ่งแต่งงานใหม่เสร็จสิ้น จากนั้นเวลาประมาณ 11 โมง กลุ่มชายฉกรรจ์นับสิบคนในชุดพรางพร้อมปืนอัตโนมัติครบมือก็วิ่งบุกเข้ามาในตึกที่ทำการ “ตอนแรกเราคิดว่าเป็นการก่อการร้าย” เซอร์เก โครูเชฟ รองผู้อำนวยการโรงงานกล่าวถึงการเข้าจู่โจมเมื่อเดือนกันยายนปี 2005
แต่ที่จริงแล้วบรรดาแขกไม่ได้รับเชิญเหล่านี้เป็นสมาชิกของหน่วยงานโอเอ็มโอเอ็นในท้องถิ่น ซึ่งเป็นกองกำลังตำรวจกึ่งทหารหน่วยพิเศษของรัสเซียและเจ้าหน้าที่สืบสวนจากมอสโคว กองกำลังนี้เข้ายึดเอกสารทางการเงินหลายพันฉบับ โดยกล่าวว่ามันคือหลักฐานทางอาชญากรรมของคณะผู้บริหาร หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตั้งข้อหาหลบเลี่ยงภาษีและฉ้อโกงกับกรรมการผู้จัดการ วลาดิเมียร์ มฮาไล และซีอีโอ อเล็กซานเดอร์ มาคารอฟ ซึ่งทั้งสองคนได้ออกจากประเทศตั้งแต่เกิดเหตุการณ์คราวนั้น (ไม่สามารถติดต่อทั้งสองคนเพื่อขอความเห็นได้) ขณะที่บริษัทถูกเรียกภาษีย้อนหลังมูลค่า 150 ล้านเหรียญแต่ผู้บริหารหลายคนของโทกลิอัตติ อะซ็อตมีคำอธิบายของตนสำหรับเหตุการณ์เหล่านี้ “มีบางคนต้องการเขมือบผลประโยชน์ที่ดีและกำไรงามเพื่อความเห็นแก่ได้ของตน” โครูเชฟกล่าว ยูริ บูดานอฟ หัวหน้าโรงงานคนปัจจุบัน เรียกการสืบสวนของตำรวจว่า “การข่มขู่รีดไถ” ซึ่งนักการเมืองท้องถิ่นมีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทคู่แข่ง
บูดานอฟและโครูเชฟก็เหมือนชาวรัสเซียคนอื่นๆ ที่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและศาลได้กลายเป็นอาวุธชนิดหนึ่งในคลังอาวุธระบบทุนนิยม สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งรัสเซียกล่าวว่า ในแต่ละปีมีบริษัทราว 8,000 แห่งตกเป็นเป้าหมายในการฟ้องร้องคดีหรือการสอบสวนตามใบสั่งจากบรรดาคู่แข่งที่จ้องหาหนทางกำจัดพวกเขาออกจากธุรกิจหรือไม่ก็เพื่อเข้าฮุบบริษัท ชาวรัสเซียเรียกกระบวนการนี้ว่า Reiderstvo ซึ่งแปลว่าการรุกรานโจมตี ในบางกรณี บริษัทจะจ่ายเงินให้กับตำรวจและศาลโดยมีเป้าหมายเพื่อก่อกวนสร้างปัญหาให้กับบริษัทคู่แข่ง และบางครั้ง บริษัทผู้รุกรานจะอาศัยเจ้าหน้าที่ศาลที่ทุจริตให้ตัดสินว่าพวกเขาเป็นเจ้าของบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมาย ในกรณีอื่นๆ บริษัทที่ออกใบสั่งก่อกวนหรือตัวแทนของบริษัทจะใช้แรงกดดันทางกฎหมายเป็นเครื่องมือในการบีบบังคับผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจการบริหารให้ขายหุ้นของตน ในขณะที่บางครั้งบริษัทที่ตกเป็นเป้าหมายไม่รู้ว่าผู้อยู่เบื้องหลังการโจมตีทางกฎหมายเป็นใคร แต่การปฏิบัติเช่นนี้พบเห็นได้บ่อยครั้งจนสื่อรัสเซียสามารถบอกได้ว่าบรรดาเจ้าหน้าที่ทุจริตเรียกค่าธรรมเนียมสำหรับ “บริการ” ต่างๆ เท่าไร ยกตัวอย่างเช่น การให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาเปิดคดีสืบสวนทางอาชญากรรมค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 20,000-50,000 เหรียญ ส่วนการบุกจู่โจมออฟฟิศอาจสูงไปจนถึง 30,000 เหรียญ และการขอให้คำพิพากษาจากศาลเป็นไปอย่างที่ใจต้องการจะอยู่ที่ 10,000-200,000 เหรียญ ตามข้อมูลจากรายงานสื่อ
ประธานาธิบดี ดิมิทรี เมดเวเดฟกล่าวว่า การไร้กฎหมายที่แพร่ระบาดไปทั่วทุกหัวระแหงนับเป็นอุปสรรคสำคัญอันดับแรกสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจของรัสเซีย อดีตศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ซึ่งให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความสำคัญกับการควบคุมและปราบอาชญากรรมอย่างเข้มงวดเป็นสิ่งแรกได้สร้างคำศัพท์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในเวลาต่อมาว่า “สภาวะไร้กฎหมาย” เพื่ออธิบายถึงความไม่เคารพกฎหมายที่แทรกซึมอยู่ในทุกระดับของสังคม เมดเวเดฟซึ่งเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากวลาดิเมียร์ ปูตินเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม เรียกร้องให้มีการออกกฎหมายเพื่อปราบปรามควบคุมการเข้าจู่โจมโดยทุจริตเหล่านี้ และรัฐสภากำลังถกเถียงเรื่องโทษจำคุกเป็นเวลา 20 ปี สำหรับผู้โจมตีที่เข้าถือครองบริษัทอย่างผิดกฎหมาย
สินบนที่ลุ่มแม่น้ำโวลก้า
หลายต่อหลายครั้งที่การฉ้อโกงที่ถูกกฎหมายเหล่านี้กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลก รัฐบาลรัสเซียทำให้ยูโคส บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ต้องเลิกกิจการและดึงมาเป็นกิจการของรัฐอีกครั้งในช่วงปี 2003-2007 ในวันที่ 20 มีนาคม ตำรวจเข้าบุกตรวจค้นสำนักงานของบีพีในมอสโควพร้อมบริษัทร่วมทุน ทีเอ็นเค-บีพี (ในกรอบ) และเมื่อวันที่ 6 เมษายน เฮอร์มิเทจ แคปิตอล เมเนจเมนท์ กองทุนเพื่อการลงทุนสัญชาติอังกฤษกล่าวว่า ตำรวจรัสเซียปลอมเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนคดีหลบเลี่ยงภาษีได้เข้ามาขโมยเอกสารเพื่อนำไปใช้ในการยักยอกกองทุน (ตำรวจไม่แสดงความเห็น)
ขณะที่กรณีเหล่านี้เรียกความสนใจได้จากคนทั่วโลก แต่ปรกติแล้วการบุกรุกจะมุ่งเป้าไปที่บริษัทขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลางในเมืองอย่างซามารา ซามารานั้นตั้งอยู่บนเส้นทางประวัติศาสตร์ของการค้ากับเอเชียและอยู่ในภาวะบ้านป่าเมืองเถื่อนมานาน ในช่วงศตวรรษที่ 17 เมืองนี้ซึ่งเป็นเมืองหลวงของเขตซามาราเคยเป็นฐานที่มั่นของอาชญากรชื่อก้องแห่งรัสเซียชื่อ สเตพาน ราซิน ทหารคอสแซคซึ่งคอยดักปล้นเรือที่ผ่านไปมา ในยุคปี 1990 อาชญากรรมในภูมิภาคนี้กระจุกตัวอยู่ที่อาฟโตวาซ โรงงานผลิตรถยักษ์ใหญ่ในเมืองโทกลิอัตติหรือเมืองอันดับสองของซามารา โดยแก๊งอาชญากรบุกโรงงานเพื่อขโมยรถและใช้ปืนสังหารผู้จัดการโรงงาน
ปัจจุบันนี้ เมืองมีความสงบสุขมากขึ้น แม้จะยังมีการลอบสังหารนักธุรกิจและเจ้าหน้าที่อยู่บ้าง แต่เศรษฐกิจของเมืองซามาราในยุคปูตินก็ได้ฟื้นตัวขึ้นมาก ซากตึกเก่าสมัยศตวรรษที่ 19 เปรียบเหมือนกลิ่นอายของความหรูหราในอดีต แต่ตามถนนหนทางมีร้านค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ร้านโทรศัพท์มือถือ และแบรนด์จากตะวันตก เช่น ซิตี้แบงก์และอดิดาส เข้ามาแต่งแต้มและสร้างสีสันให้กับท้องถนนมากขึ้น ปัจจุบันธุรกิจต่างๆ ในแถบนี้กังวลกับเรื่องอาชญากรน้อยลง แต่หันมากังวลกับพวกตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐที่บงการตำรวจเหล่านั้นแทน
กรณีของโทกลิอัตติ อะซ็อตสะท้อนให้เห็นกรณีดังกล่าวได้เป็นอย่างดี โรงงานที่โอบล้อมด้วยป่าต้นเบิร์ชแห่งนี้เป็นหนึ่งในโรงงานปิโตรเคมีที่ทำกำไรได้มากที่สุดแห่งหนึ่งของรัสเซีย เนื่องจากเป็นผู้ผลิตส่วนประกอบสำหรับพลาสติกและปุ๋ย (อะซ็อตแปลว่า “ไนโตรเจน“) โรงงานแห่งนี้สร้างขึ้นในยุค 1970 โดยได้รับความช่วยเหลือด้านเทคนิคจาก อาร์มานด์ แฮมเมอร์ มหาเศรษฐีพันล้านจากสหรัฐฯ โรงงานจึงค่อนข้างทันสมัยเมื่อเทียบกับมาตรฐานของรัสเซีย การปฏิรูปทางเศรษฐกิจหรือ เปเรสทรอยก้า ในช่วงปี 80 ส่งผลกระทบต่อบริษัทก็จริงแต่ก็สามารถพลิกฟื้นกลับคืนมาได้จากความช่วยเหลือของหุ้นส่วนธุรกิจรายใหม่และตลาด
หลายคนยกความดีความชอบให้กับมฮาไล กรรมการผู้จัดการที่ยังคงอยู่ในช่วงหลบหนีที่ทำให้โทกลิอัตติ อะซ็อตอยู่รอดมาจนถึงทุกวันนี้ มฮาไลเข้ามาบริหารบริษัทในยุคโซเวียตและอยู่ในตำแหน่งผู้นำเมื่อบริษัทดำเนินการแปรรูปเป็นเอกชนเมื่อต้นยุค 1990 และกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ที่สำคัญคือพนักงานของโรงงานทั้งรักและภักดีกับหัวหน้าคนนี้อย่างน่าประหลาดใจ โดยมีการเดินขบวนประท้วงไม่ต่ำกว่าสิบครั้ง บนป้ายประท้วงของพวกเขาประกาศก้องว่า “อย่าแตะต้องโทกลิอัตติ อะซ็อต” และ “เราจะไม่ยอมให้คนทุจริตเดินลอยนวล” ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าบรรดาแรงงานคิดอย่างไรกับข้อกล่าวหา โอลก้า เซโวสติยาโนว่า หัวหน้าสหภาพแรงงานของโทกลิอัตติ อะซ็อตกล่าวด้วยความพลุ่งพล่านว่า “ถ้าพนักงานออกโรงมาต่อสู้เพื่อปกป้องผู้จัดการ นั่นก็เพราะว่าเขาไม่มีความผิด”
ข้อกล่าวหาของตำรวจอ้างอิงจากเหตุผลที่ว่าระหว่างปี 2002 -2004 โรงงานได้ขายแอมโมเนียในราคาถูกเกินจริงให้กับบริษัทเทรดดิ้งในสวิตเซอร์แลนด์ ตำรวจเชื่อว่าบริษัทจากสวิสเป็นเพียงฉากบังหน้าของมฮาไล จากนั้นบริษัทจะนำแอมโมเนียไปขายในราคาตลาดและเก็บส่วนต่างเข้ากระเป๋าตนเอง โรงงานโต้แย้งในเรื่องนี้และได้รับการช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจากกระทรวงยุติธรรมซึ่งสนับสนุนคำกล่าวอ้างของโทกลิอัตติ อะซ็อตว่า คำฟ้องร้องของตำรวจมีหลักฐานสนับสนุนไม่เพียงพอ ข้างตำรวจของซามาราปฏิเสธที่จะให้ความเห็นในเรื่องนี้ เช่นเดียวกับกระทรวงมหาดไทยในกรุงมอสโคว แต่อาลิม ดซีกันชิน บรรณาธิการสืบสวนจากหนังสือพิมพ์ตำรวจของราชการ Shield and Sword กล่าวว่า “ความคืบหน้าในการสืบสวนนั้นเข้าใกล้ความจริงมากแล้ว (มฮาไล) ฉ้อโกงอย่างร้ายแรงต่อบริษัทของตนและตอนนี้เขาก็พยายามป้ายความผิดให้กับกลุ่มผู้บุกรุก”
ที่แน่ๆ ก็คือคดีของโทกลิอัตติ อะซ็อตนั้นซับซ้อนอย่างมาก เนื่องจากต้องพึ่งหลักฐานข้อมูลลับเฉพาะ อย่างเช่น ราคาส่งออกแอมโมเนียที่เหมาะสม บรรดาผู้วิจารณ์ให้ความเห็นว่ากรณีเช่นนี้หาข้อสรุปว่าอะไรถูกหรืออะไรผิดได้ยาก “การตั้งข้อหาอาชญากรรมนั้นเป็นเหมือนสงครามระหว่างองค์กรอย่างหนึ่ง” โบริส ติตอฟ หัวหน้าบิสสิเนส รัสเซียซึ่งเป็นกลุ่มล็อบบี้กล่าว “คุณไม่มีทางรู้เลยว่าใครโจมตีใครกันแน่”
สถานการณ์คลุมเครือดังกล่าวทำให้เกิดความรุนแรงในท้องถิ่น “ก็เห็นๆ อยู่ว่าทุกๆ อย่างชี้ไปที่การจ้องจะเข้าเทคโอเวอร์บริษัทอย่างไม่เป็นมิตรหรือที่เรียกว่าผู้รุกราน” อนาโตลี่ อิวานอฟ รองหัวหน้าพรรคยูไนเต็ด รัสเซีย ซึ่งเป็นรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้และเป็นส.ส.ตัวแทนเมืองโทกลิอัตติในรัฐสภาของรัสเซียกล่าว เขามองว่าความวุ่นวายครั้งนี้เป็นฝีมือของบริษัท เรโนวาจากกรุงมอสโควของวิคเตอร์ เวคเซลเบิร์ก นักธุรกิจที่ร่ำรวยและมากอิทธิพลซึ่งสนใจธุรกิจปิโตรเคมี เรโนวา กรุ๊ป หนึ่งในผู้ถือหุ้นรายย่อยของโทกลิอัตติ อะซ็อต ปฏิเสธเสียงแข็งต่อการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการรุกรานโจมตีบริษัทครั้งนี้ แม้จะยอมรับว่าเคยมีปากเสียงกับทีมบริหารของโรงงานเรื่องการปันผลและสิทธิของผู้ถือหุ้นในอดีต “เรโนวา กรุ๊ป ไม่สามารถมีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการสืบสวนโรงงานโทกลิอัตติ อะซ็อตได้ ตามบทบัญญัติทางกฎหมายเนื่องจากเราเป็นบริษัทเอกชน” เรโนวากล่าวกับบิสสิเนสวีค
การดำเนินการสอบสวนด้านอาชญากรรมและภาษีกับโทกลิอัตติ อะซ็อต เกิดขึ้นพร้อมกับการฟ้องร้องคดีแพ่งที่ส่งผลกระทบต่อบริษัท ในปี 2006 ผู้บริหารต้องประหลาดใจเมื่อได้ยินคดีที่เกิดขึ้นในเมืองอิวาโนโวใกล้กับกรุงมอสโคว ในคดีนี้บริษัทขนาดเล็กแห่งหนึ่งฟ้องร้องอีกบริษัทหนึ่งในข้อหาผิดสัญญาที่จะขายหุ้นโทกลิอัตติ อะซ็อตให้ทั้ง 100% หลังฝ่ายโจทก์นำเสนอสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นต่อศาลซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าฝ่ายจำเลยถือหุ้นอยู่ ศาลได้ตัดสินให้หยุดการซื้อขายหุ้นของโทกลิอัตติ อะซ็อตทันที แต่เหตุการณ์กลับพลิกผัน ในทางตรงกันข้าม หลังจากอีกบริษัทพิสูจน์ได้ว่าเอกสารนั้นเป็นของปลอม ผู้บริหารกล่าวว่าในอีกกรณีหนึ่งที่ไม่ประสบความสำเร็จคือโจทก์ยื่นฟ้องร้องคดีแพ่งกับโทกลิอัตติ อะซ็อต โดยอ้างอิงข้อมูลจากเอกสารที่ถูกยึดไประหว่างการเข้าบุกตรวจค้นของตำรวจในปี 2005 “พวกเขามีเอกสารที่บริษัทนี้ไม่ควรจะมีโอกาสเข้าถึงได้” โอเล็ก คลูย์คอฟ กรรมการด้านกฎหมายของโทกลิอัตติ อะซ็อตกล่าว
เขตภูมิภาคซามารายังมีตัวอย่างเกี่ยวกับการฟ้องร้องพวกรุกรานนี้อีกมากมาย เช่น ในเมืองซามารา เหตุการณ์ของบริษัทโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทส แตกต่างจากกรณีของโทกลิอัตติ อะซ็อต เนื่องจากโทกลิอัตติ อะซ็อตนั้นเกิดจากนิคมอุตสาหกรรมของโซเวียต และเปลี่ยนมาอยู่ในมือของภาคเอกชนจากขั้นตอนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันหนาหูของรัสเซีย แต่ในทางตรงกันข้าม สมาร์ทสเกิดจากความเฟื่องฟูของผู้บริโภคหลังยุคคอมมิวนิสต์ของรัสเซีย โดยมีลูกค้าลงทะเบียนใช้บริการมากกว่า 4 ล้านคนในเขตแม่น้ำโวลก้าและมีอาคารสำนักงานใหม่เอี่ยมในซามารา อังเดร กิเรฟ กรรมการผู้จัดการทั่วไปของสมาร์ทสยังหนุ่มแน่น สุภาพเรียบร้อยและแต่งตัวเนี้ยบหรูต่างจากวิศวกรผมสีดอกเลาซึ่งบริหารโทกลิอัตติ อะซ็อต แต่ทั้งสองบริษัทมีสิ่งหนึ่งเหมือนกัน นั่นก็คือในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทต้องเจอปัญหาจากการท้าทายทางกฎหมายและการสืบสวนทางอาชญากรรมซึ่งกิเรฟเรียกว่า “การโจมตีอันคลาสสิคของผู้รุกราน”
ปัญหาเริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2005 ขณะที่สมาร์ทสวางแผนจะเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก บริษัทได้ว่าจ้างบริษัท มาร์แชล แคปิตอล พาร์ทเนอร์ส บริษัทที่ปรึกษาของรัสเซียซึ่งทำงานร่วมกับบริษัท ซิกม่า บริษัทเพื่อการลงทุนจากมอสโคว สมาร์ทสกล่าวว่ามาร์แชลไม่สามารถทำตามที่ตกลงกันไว้ได้และทำให้บริษัทโทรศัพท์มือถือต้องยกเลิกสัญญา และตั้งแต่นั้นมาปัญหาทางกฎหมายก็ก่อตัวขึ้น “เมื่อก่อนคนที่ทำธุรกิจผิดกฎหมายเป็นพวกแก๊งมาเฟีย แต่ตอนนี้กลับกลายเป็นพวกที่ปรึกษาและทนายความใส่สูทผูกไทที่ดูดีแค่ภายนอกแต่ก็ใช้วิธีหักหลังแบล็คเมลเหมือนๆ กัน” กิเรฟกล่าว เขาสงสัยว่าซิกม่าทำตามใบสั่งของบริษัทที่ต้องการเข้าซื้อสมาร์ทส
โฆษกของมาร์แชลกล่าวว่า “สำหรับเราคดีนี้สิ้นสุดไปตั้งนานแล้ว” ส่วนซิกม่าไม่ตอบรับเมื่อทางเราขอความเห็น แต่กล่าวกับหนังสือพิมพ์ของรัสเซียว่าบริษัทไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการโจมตีบริษัทสมาร์ทส ซิกม่ากล่าวว่าสมาร์ทสละเมิดข้อสัญญาทำให้ซิกม่ามีสิทธิ์เข้าซื้อหุ้นจำนวน 20% ของบริษัทและซิกม่าได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลหลายครั้งเพื่อดำเนินการกับสมาร์ทส แต่แพ้อุทธรณ์ไปเมื่อปีที่แล้ว
ข้อพิพาทเชิงการค้าน่าสลดใจเช่นนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง แต่ผลที่ตามมาในคดีนี้แตกต่างจากกรณีอื่นๆ ตรงที่ เกนนาดี้ กีร์ยูชิน ผู้ถือหุ้นรายหลักของสมาร์ทสกำลังถูกไต่สวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายต่างๆ ซึ่งรวมถึงการฉ้อโกง การบริหารบริษัทอย่างผิดกฎหมายและคดีฟอกเงิน กีร์ยูชิน ซึ่งอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายห้ามออกจากเขตซามารากล่าวว่า “ไม่มีมูลความจริงในคดีนี้” กิเรฟกล่าวว่าการฟ้องร้องนี้เกิดขึ้นหลังมีคำขู่จากบุคคลซึ่งยืนยันว่าจะทำให้กีร์ยูชินเข้าคุกให้ได้นอกจากจะยินยอมขายหุ้นเสีย
กระหน่ำฟ้องร้อง
มูลเหตุสำหรับการฟ้องร้องก็คือการที่สมาร์ทสไม่สามารถขอใบอนุญาตสำหรับก่อตั้งสถานีฐานของบริษัทซึ่งเป็นการละเมิดกฎข้อปฏิบัติ กิเรฟยอมรับว่าบางครั้งบริษัทก็เปิดใช้สถานีฐานก่อนที่ขั้นตอนการขออนุญาตจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่บริษัทจะทำเช่นนั้นก็ต่อเมื่อได้รับสิทธิ์ในคลื่นความถี่แล้วเท่านั้น โดยปรกติแล้วการละเมิดกฎทางเทคนิคเช่นนี้จะมีโทษปรับราว 400-800 เหรียญเท่านั้น ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น
สมาร์ทสยังถูกฟ้องร้องคดีแพ่งนับสิบคดีในศาลระดับภูมิภาคอีกเช่นกัน คดีเหล่านี้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกันว่าให้มีการหยุดการซื้อขายหุ้นของสมาร์ทส เพราะบุคคลจากภาคเอกชนไม่มีสิทธิ์ขายหุ้นกู้ที่ออกโดยสมาร์ทสได้ “แล้วสมาร์ทสไปเกี่ยวอะไรด้วย” กิเรฟตั้งคำถาม ในเมืองแห่งหนึ่ง ตำรวจดำเนินการไต่สวนโจทก์ซึ่งกล่าวว่าเธอถูกทาบทามโดยคนแปลกหน้าในสวนสาธารณะและเสนอเงินให้ 5,000 รูเบิ้ล (200 เหรียญ) เพื่อเซ็นชื่อในเอกสาร ส่วนอีกเมืองหนึ่ง โจทก์ผู้ฟ้องร้องเสียชีวิต 3 อาทิตย์ก่อนคดีจะถูกยื่นต่อศาล ขณะที่ในขั้นต้นผู้พิพากษาบางคนวินัจฉัยโต้แย้งแต่สมาร์ทสสามารถพลิกคำตัดสินได้โดยชี้ว่าคดีเหล่านี้ไม่มีมูลความจริง “ท้ายที่สุดเราก็ชนะ แต่ในที่อื่นๆ ของรัสเซีย เรื่องเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นอีกซ้ำซาก” กิเรฟกล่าว
เนื่องจากมีคดีเช่นนี้นับพันคดีเกิดขึ้นทั่วรัสเซีย ผู้บริหารและผู้ประกอบการจึงกดดันเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ใช่ว่าการออกกฎหมายใหม่เพียงอย่างเดียวจะสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ เพราะทุกวันนี้พวกรุกรานก็รู้อยู่แก่ใจแล้วว่าการคอร์รัปชั่นของศาลและอัยการ การปลอมแปลงเอกสารและการติดสินบนนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ดังนั้น สิ่งที่ต้องถูกชำระล้างคือวัฒนธรรมแห่งความไร้กฎหมาย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของรัสเซียจะมีความสามารถเพียงพอหรือไม่
บีพีเผชิญปัญหาใหญ่ในรัสเซีย
ปัญหากับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเริ่มทับถมมากขึ้นเรื่อยๆ
เจสัน บุช, บิสสิเนสวีค นิวยอร์ก
เมื่อปี 2003 บีพีจับมือกับเศรษฐีมากอิทธิพลของรัสเซียเพื่อก่อตั้งบริษัทร่วมทุน ทีเอ็นเค-บีพี มูลค่าหลายพันล้านเหรียญซึ่งครั้งนั้นประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินได้จัดงานต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่เพื่อเลี้ยงฉลองข้อตกลงธุรกิจครั้งสำคัญที่ควรคู่แก่การจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ แต่ขณะนี้พรมแดงที่เคยปูต้อนรับเริ่มจะเลือนหายไป เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาการดำเนินงานของบีพีในรัสเซียได้ตกเป็นเป้าอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐ เริ่มตั้งแต่ความยุ่งยากในการขอวีซ่าไปจนถึงการถูกบุกตรวจค้นโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวยุ่งยากซับซ้อนของรัสเซีย ปัญหาต่างๆ ของบีพีเริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมกราคม เมื่อวีซ่าของพนักงานต่างชาติ 148 รายที่ทำงานกับทีเอ็นเค-บีพีถูกแจ้งว่าไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้พนักงานไม่สามารถทำงานได้อยู่หลายสัปดาห์ จากนั้นในเดือนมีนาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าตรวจค้นสำนักงานในมอสโควของทั้งบริษัท บีพีและทีเอ็นเค-บีพี หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงของรัสเซียก็ได้เข้าจับกุมผู้จัดการของทีเอ็นเค-บีพีในข้อหาแอบดักฟังโทรศัพท์ ปัญหาของบีพีรุนแรงขึ้นในเดือนเมษายน เมื่อบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์จากกรุงมอสโควขนาดเล็กรายหนึ่งยื่นฟ้องคดีต่อศาลเมืองตูย์เมน เพื่อขัดขวางพนักงานผู้เชี่ยวชาญต่างชาติของบีพีไม่ให้เข้าทำงานกับทีเอ็นเค-บีพี ศาลซึ่งยังไม่ได้ตัดสินชี้ขาดคดีได้สั่งห้ามไม่ให้พนักงานเหล่านี้ทำงานใดๆ ในระหว่างรอคำวินิจฉัย
ปัญหาต่างๆ ของบีพีกับเจ้าหน้าที่รัฐเกิดขึ้นพร้อมกับข้อพิพาทระหว่างบีพีและหุ้นส่วนธุรกิจจากรัสเซียในบริษัททีเอ็นเค-บีพี คือ อัลฟ่า-แอคเซส-เรโนวา (เอเออาร์) บริษัทเพื่อการลงทุนแห่งนี้เป็นตัวแทนในการลงทุนของ 3 มหาเศรษฐีชาวรัสเซีย ได้แก่ มิคาอิล ฟริดแมน, เลน บลาวัตนิค และวิคเตอร์ เวคเซลเบิร์ก ในการแถลงการณ์กับสื่อ เอเออาร์ได้ฟ้องร้องบีพีเรื่องการละเลยผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรัสเซียในบริษัทร่วมทุนและได้เรียกร้องให้โรเบิร์ต ดัดลีย์ ซีอีโอลาออกจากบริษัท กลุ่มนี้อ้างว่าบีพีได้ปิดกั้นการขยายบริษัทไปยังต่างประเทศของทีเอ็นเค-บีพีและจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติซึ่งมีค่าจ้างสูงจำนวนมากเกินไปแทนที่จะจ้างผู้บริหารชาวรัสเซีย ในการแถลงข่าว บีพีได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวและแสดงถึง “ความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยม” ในตัวดัดลีย์ อดีตผู้บริหารของบีพี
ไม่ว่าข้อถูกผิดของการโต้แย้งนี้จะเป็นอย่างไร แต่นักวิเคราะห์ที่ติดตามสถานการณ์ของมอสโควมองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างความขัดแย้งของผู้ถือหุ้นที่กำลังโกรธเคืองและแรงกดดันจากรัฐต่อบีพี ทั่วกรุงมอสโควเต็มไปด้วยกระแสข่าวลือว่ากาซปรอม บริษัทน้ำมันของรัฐกำลังเตรียมแผนจะเข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัทมาเป็นเวลาหลายเดือน ถ้าเป็นเช่นนั้นนักวิเคราะห์จำนวนมากก็เชื่อว่าผู้ถือหุ้นอาจจะถกเถียงกันว่าใครควรจะเป็นคนยอมขายหุ้นให้กับกาซปรอม ขณะนี้บีพีและเอเออาร์ต่างถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนฝ่ายละ 50%
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่รัฐบาลรัสเซียได้เข้ายึดควบคุมโครงการน้ำมัน ในปี 2006 โรยัล ดัทช์ เชลล์ เสียสิทธิ์ครอบครองโครงการซาคาลิน 2 ให้กับกาซปรอมหลังถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่าปัญหาในปัจจุบันของบีพีจะมีสาเหตุมาจากความสัมพันธ์ระหองระแหงกับบริษัทร่วมทุน เอเออาร์ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นแต่แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับบริษัทปฏิเสธความเชื่อมโยงใดๆ กับรัฐบาล “บีพีทำลายความสัมพันธ์ของบริษัทที่มีกับผู้ถือหุ้นของรัสเซีย กับบางหน่วยงานของรัฐบาลและที่แน่นอนคือกับพนักงานชาวรัสเซีย” แหล่งข่าวกล่าว
เหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งสร้างความไม่สบายใจให้กับนักลงทุนที่จับตามองความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับเงินลงทุนจากต่างชาติที่ใหญ่ที่สุดชิ้นหนึ่งในรัสเซีย แต่สมมติฐานที่สำคัญคือเมื่อเกิดปัญหาขึ้น นักลงทุนจากต่างชาติจะมีสิทธิ์มีเสียงเล็กน้อยเท่านั้นในการงัดข้อกับผลประโยชน์ของคนในท้องถิ่นที่มีสายสัมพันธ์เหนียวแน่น
ข้อมูลเพิ่มเติม
งานหนักรออยู่
ประธานาธิบดี ดมิทรี เมดเวเดฟ ประกาศให้การปฏิรูปเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมของรัสเซียเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกเพื่อจัดระเบียบทางกฎหมายให้กับประเทศชาติ บทความเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมใน The Moscow Times รายงานถึงอุปสรรคต่างๆ ที่เมดเวเดฟต้องเผชิญระหว่างการขุดรากถอนโคนการคอร์รัปชั่นที่แพร่หลายไปทั่วและการจัดตั้งระบบศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระ บทความนี้อ้างอิงถึงคำพูดของนักวิเคราะห์ด้านการเมืองและอดีตโฆษกรัฐบาล สตานิสลาฟ เบลคอฟสกี้ที่กล่าวว่า “สิ่งที่จำเป็นคือการเปลี่ยนแปลงในชนชั้นปกครองระดับสูงไม่ใช่เพียงแค่ศาลผู้ตัดสินเท่านั้น”