เป็นอันโค่น สรยุทธ สุทัศนะจินดา ไม่ลง
ไม่ว่าจะเป็น ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น อันมี นายประมนต์ สุธีวงศ์ เป็นหัวเรือใหญ่
ไม่ว่าจะเป็นสมาคมว่าด้วยนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ และสื่อทางวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ ซึ่งรวมศูนย์ภายใต้ร่มธงสภาการหนังสือพิมพ์
ลำพัง สรยุทธ สุทัศนะจินดา ยังคงดำเนินรายการเรื่องเล่าเช้านี้ทางช่อง 3 อยู่เป็นปกติ ก็ท้าทายต่อมติขององค์กรสื่อ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นอย่างยิ่งแล้วที่สำคัญ มีการยืนยันจากช่อง 3 อย่างหนักแน่นและจริงจังว่าโฆษณาไม่เพียงแต่จะไม่มีการถอน ไม่มีการลด หากแนวโน้มอันเด่นชัดอย่างยิ่งก็คือ มีการไหลเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 20เป็นไปได้ยังไง
แท้จริงแล้ว ปัจจัยโฆษณาที่ไหลเข้าไปยังช่อง 3 นี้เอง คือปัจจัยชี้ขาด เป็นปรอทสำแดงอุณหภูมิทางสังคมอย่างเด่นชัด 1 เด่นชัดถึงสถานะอันมั่นคงของ สรยุทธ สุทัศนะจินดา ว่าวางรากฐานอยู่กับปัจจัยใดในทางสังคม 1 สังคมทุนนิยม
ต้องยอมรับว่า การปรากฏขึ้นของ ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องดีของคนดี การประกาศให้ความร่วมมือจากสมาชิกในภาคีจำนวนมากมายก็เป็นเรื่องดี คนดี
ขณะเดียวกัน การออกโรงของสภาการหนังสือพิมพ์โดยประสานเข้ากับภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นก็เป็นจังหวะก้าวที่ดีเพียงแต่กรณีของสรยุทธสุทัศนะจินดา ที่ปรากฏให้เห็นดำเนินไปอย่างเลือกปฏิบัติสะท้อนความไม่มีมาตรฐาน และแฝงด้วยเงาสะท้อนแห่งสิ่งที่เรียกว่า-ริษยาของชนชั้นกลาง
ก็อย่างที่มีหลายคนได้ตั้งข้อสังเกตไว้แล้วว่าการกล่าวหา"สีเทา" อย่างนี้มิได้มีแต่กับ สรยุทธ สุทัศนะจินดา รายเดียว ยังมีอีกหลายราย บางรายศาลได้มีคำพิพากษาอย่างเด่นชัดและเจ้าตัวเองก็ยอมรับผิดด้วยซ้ำไปเป็นเงินมากกว่า สรยุทธ สุทัศนะจินดา หลายร้อยเท่า สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจและสังคมอื่นอย่างมหาศาลแต่ไม่มีการแตะไม่มีการกดดัน ไม่มีการเรียกร้อง ไม่มีการยื่นคำขาด
ยิ่งกว่านั้น ไม่ว่าการแสดงออกของภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ไม่ว่าการแสดงออกของสภาการหนังสือพิมพ์ ยังยืนยันถึงการไม่เข้าใจต่อลักษณะที่แปรเปลี่ยนไปแล้วของสื่อไม่ว่าสื่อหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าสื่อโทรทัศน์
สื่อในกาลอดีต ยุคของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ยุคของ อิศรา อมันตกุล ดำรงอยู่ภายใต้ร่มเงาอันมืดครึ้มแห่งระบอบเผด็จ การสังคมก็อยู่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านด้านครอบงำของสื่อยังดำเนินไปในลักษณะทางความคิด ทางการเมือง เป้าหมายของสื่อเป็นเป้าหมายของความคิดของการเมืองโดยมีธุรกิจเสมอเป็นเพียงองค์ประกอบองค์กรสื่อสามารถทำหน้าที่เป็นตัวแทนนำการต่อสู้โดยเน้นการเมืองเป็นเป้าหมายหลัก
แต่นับจากเกิดการแปรเปลี่ยนในทางเทคโนโลยีธุรกิจสื่อเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ปัจจัยด้านทุนเข้ามาครอบงำ สื่ออาจมีหัวใจอยู่ที่การผลิตทางปัญญา ทางความคิดดำรงอยู่แต่เป้าหมายก็เพื่อผลกำไร
ยิ่งสื่อออนไลน์ปรากฏขึ้น สื่อใหม่ได้รุกคืบเข้ามาองค์ประกอบของสื่อยิ่งแตกกระจายปัจจัยของจรรยาบรรณจากยุค กุหลาบ สายประดิษฐ์ ยุค อิศรา อมันตกุล อาจ ฟังดูดี แต่ปัจจัยที่สำคัญมากกว่าคือการ ขาย ไม่ว่าขายตัวสื่อเอง ไม่ว่าขายเนื้อที่ โฆษณาโดยมีคุณภาพทางปัญญาเป็นตัวชี้ขาด
เช่นนี้เองที่พาดหัวหน้าปกมติชนสุดสัปดาห์ระบุ"คนยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย" จึงแหลมคมอย่างยิ่ง
แหลมคมในฐานะเป็นหินลองทองต่อ สรยุทธ สุทัศนะจินดา แหลมคมในฐานะเป็นหินลองทองต่อองค์กรสื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาการหนังสือพิมพ์
"ประชาชน" ต่างหากที่เป็นคำตอบสุดท้าย
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ / มติชน