เครื่องบินตก จะรอดไหม

 

เครื่องบินตก...จะรอดไหม
วันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม 2555 เวลา 00:00 น.

ความสงสัยของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเป็นที่มาของการค้นคว้าหาคำตอบ ค้นหาความจริงจากข้อสงสัย หรือคำถามที่มีอยู่มากมาย แล้วคุณเคยสงสัยหรือไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเครื่องบินที่คุณโดยสารมาเกิดตก การเตรียมพร้อมจะช่วยให้รอดได้หรือไม่ นั่งตรงไหนดีที่สุด และจริง ๆ แล้ว เครื่องบินถูกออกแบบมาให้คุณรอดในกรณีที่เครื่องตกหรือไม่

เกือบ 30 ปีที่แล้ว องค์การนาซ่าเคยลองเอาเครื่องบินของจริงมาจำลองการตก เพื่อค้นหาว่าเวลาที่เครื่องบินตกนั้นจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เพื่อจะได้หาวิธีมาปรับปรุงมาตรการเพื่อความปลอดภัย เพื่อเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตจากเครื่องบินตกให้มากขึ้น แต่มันก็ไม่ประสบความสำเร็จ

แต่วันนี้ CURIOSITY รายการสารคดีเรื่องเยี่ยมของดิสคอฟเวอรี่ แชนแนล ซีซั่นใหม่จะมาพร้อมกับการบุกเบิกมิติใหม่ครั้งแรกของวงการ ด้วยการทดลองการตกของเครื่องบินโบอิ้ง 727 โดยใช้กล้องเก็บภาพละเอียดยิบในจำนวนที่มากอย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ทั้งหุ่นจำลอง และการทดลองทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์กันให้เห็นกับตา ในหลากหลายมุมมอง

นักวิทยาศาสตร์ออกแบบการทดลอง การตกของเครื่องบินโดยสารโบอิ้ง 727 ด้วยการร่อนลงแบบกระแทกแรง ๆ กลางทะเลทรายบริเวณชายแดนสหรัฐ-เม็กซิโก เพื่อศึกษาโอกาสรอดจากการตกของเครื่องบิน และผลกระทบจากเครื่องบินตกที่มีต่อร่างกายของมนุษย์

การทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะดูว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างเวลาที่เครื่องบินตก พร้อมกับค้นหาศาสตร์ที่จะทำให้ผู้โดยสารมีโอกาสรอดชีวิตมากที่สุด โดยมีหุ่นแครชเทสต์ดัมมี่และอุปกรณ์เซนเซอร์ที่ติดตั้งทั่วทั้งลำของเครื่องบินจะทำให้เรารู้ว่ามีพลังชนิดใดบ้างที่ถูกปลดปล่อยออกมา ในกรณีที่เครื่องบินตก ภาพฟุตเทจจากภายในตัวเครื่องบินจะทำให้ผู้ชมได้เห็นทุกอย่างที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เครื่องบินกระแทกพื้น

การทดลองนี้ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เครื่องบินทั้งลำถูกนำมาใช้ทดสอบการตก นับตั้งแต่ปี 1984 เป็นต้นมา ซึ่งในปีนั้นทางองค์การนาซ่าได้พยายามทดลอง แต่ผลที่ออกมาไม่เป็นที่น่าพอใจนัก การทดลองครั้งล่าสุดนี้น่าจะได้ผลลัพธ์ตรงตามที่ต้องการ เพราะมีการวางแผนอย่างรัดกุมเป็นเวลาถึงสี่ปี โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องบินตกหลากหลายแขนงเข้าร่วม

นำโดย นาวาเอกเดฟ เคนเนดี้ หัวหน้าทีมและผู้บัญชาการการปฏิบัติการบินทุกครั้งในโครงการนี้ เขาคัดเลือกสมาชิกในทีมโบรคเกนวิงเองทั้งหมด รวมทั้งนักบิน มีบทบาทสำคัญในการทดสอบเครื่องโบอิ้ง 727 จนถึงขั้นตอนการสาธิต ก่อนจะนำเครื่องไปทดสอบการตก ทุกอย่างต้องการตรวจสอบจากเขาก่อน ในฐานะหัวหน้าทีม เขาดูแลกำหนดการแต่ละวันของทีมงานโบรคเกนวิง ซักซ้อมทีมงานและตรวจทานความถูกต้อง รวมทั้งเป็นตัวเดินเรื่องสำคัญในสารคดี ในระหว่างการสาธิตจริง เดฟนั่งอยู่ในเครื่องบินติดตามหมายเลข 2 กำกับดูแลหน่วยรีโมทคอนโทรล กองสอง

ส่วน ชิป แชนลี่ เจ้าหน้าที่ควบคุมรีโมทคอนโทรลเครื่องบินติดตาม หนึ่งในผู้ก่อตั้งทีมโบรคเกนวิง และมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการสาธิตเครื่องบินตก เพราะเป็นผู้ควบคุมระบบรีโมทคอนโทรลของเครื่องโบอิ้ง 727 และการบังคับเครื่องบินให้ตกในบริเวณที่กำหนดไว้ ทำงานอยู่ในเครื่องบินติดตามหมายเลข 1

ขณะที่ ดร. ซินดี้ เบอร์ นักชีวกลศาสตร์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเวย์น สเตท โดยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยศัลยกรรมออร์โธปิดิกส์ด้วย เธอเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านชีวกลศาสตร์การบาดเจ็บ การกระแทกจากวิถีกระสุน และนิติชีวกลศาสตร์ ซินดี้เป็นนักวิจัยผลกระทบจากการการกระแทกอย่างรุนแรงที่เกิดกับทุกส่วนของร่างกาย ซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก

ซินดี้เป็นผู้รับผิดชอบหุ่นแครชเทสต์ดัมมี่ 3 ตัวมูลค่าตัวละ 150,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งติดตั้งไว้ในเครื่องโบอิ้ง 727 ที่ใช้ทดสอบการตก หุ่นแต่ละตัวจะฝังอุปกรณ์เซนเซอร์ซับซ้อนเอาไว้ 30 ชิ้น หุ่นเหล่านี้จะแสดงให้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนจริงๆ เวลาที่เครื่องบินตก

ดร. ทอม บาร์ธ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอยู่รอด เจ้าหน้าสืบสวนอุบัติเหตุ/วิศวกรชีวกลศาสตร์แห่งณะกรรมการความปลอดภัยด้านการขนส่งแห่งชาติ มีภารกิจในการหาข้อสรุปว่าพลังจากการตกกระแทกถูกถ่ายทอดจากโครงสร้างของเครื่องบินไปยังผู้โดยสารได้อย่างไร อุปกรณ์วัดอัตราเร่งเผยให้เห็นพลังที่ส่งผลกระทบต่อส่วนต่างๆ ของเครื่องบินและให้คำตอบแก่คำถามที่ผู้คนอยากรู้ คือนั่งตรงไหนปลอดภัยที่สุด

ศ.จอห์น ฮันสแมน หัวหน้าฝ่ายมนุษย์และระบบอัตโนมัติของภาควิชาการบินและอวกาศ สถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเสต ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินที่ได้รับการยกย่องทั่วโลก รอบรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์อุบัติเหตุเครื่องบินตก การทดสอบการตกและการออกแบบเครื่องบิน ที่ผ่านมา จอห์นทำงานร่วมกับทีมวิทยาศาสตร์ในการทดลองกับเครื่องโบอิ้ง 727 ทุกครั้ง

นอกจากเครื่องบินตกแล้วพวกเขายังค้นหาคำตอบสร้างความกระจ่างให้กับประเด็นที่ยังเป็นความสงสัยในสาขาต่าง ๆ อาทิ โบราณคดี สถาปัตยกรรม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม เทคโนโลยี ระบบสุริยะ และเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย โดยยังคงใช้รูปแบบการทดลองที่ท้าทาย และวิธีการวิจัยที่ล้ำหน้าโดยผู้เชี่ยวชาญระดับโลก

ไล่ตั้งแต่ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่อาจจะอธิบายเหตุการณ์แปลกๆ อย่างการสูญหายของเรือ เครื่องบินและผู้คนในบริเวณสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา ไปจนถึงการทดลองที่อาจจะเปลี่ยนความเชื่อของชาวโลก และทำให้คนดีๆ กลายเป็นฆาตกรเลือดเย็น การสืบค้นวิจัยว่าดาวอังคารมีองค์ประกอบทางเคมีที่จะทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตหรือเปล่า การคลี่คลายปริศนาเบื้องหลังการก่อสร้างอนุสรณ์สถานที่ยิ่งใหญ่ของโลก ก้อนหินหนักหลายตันซึ่งใช้ก่อสร้างสโตเฮนจ์เดินทางข้ามผืนน้ำ ผืนแผ่นดินจากเหมืองหินในประเทศเวลส์ไปยังที่จุดนั้นซึ่งห่างกันกว่า 250 ไมล์ได้อย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่จะไขปริศนาลึกลับแห่งยุคสมัยนั้นได้

ติดตามการทดสอบการตกของเครื่องบินหนึ่งใน 10 เรื่องของสารคดีชุด CURIOSITY ออกอากาศอาทิตย์ที่ 28 ตุลาคมนี้ เวลา 20.00 น. ทางช่องดิสคอฟเวอรี่ แชนแนล ทรูวิชั่นส์ 20. 

Credit: เดลินิวส์ออนไลน์
#เครื่องบิน
THEPOco
ผู้กำกับภาพ
สมาชิก VIP
21 ต.ค. 55 เวลา 08:25 1,905
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...