ต้นกำเนิด "ว่าว" ไทยเริ่มสมัยสุโขทัย ปัจจุบันกำลังเลือนหายไป??

 

 

ว่าวจุฬา

 

เชื่อกันว่ากว่า 4,000 ปีมาแล้วที่มนุษย์สามารถบังคับวัตถุที่หนักกว่าอากาศ ให้ต่อต้านแรงดึงดูดโลก ลอยขึ้นไปบนฟ้าได้ครั้งแรก ซึ่งสิ่งนั้นมีชื่อเรียกว่า “ว่าว” โดยมีความเชื่อว่าจีน เป็นชนชาติแรกที่สามารถสร้างว่าวได้ ซึ่งในสมัยนั้นจีนได้ใช้ประโยชน์ของว่าวทางการทหาร เช่น บินว่าวเพื่อวัดระยะของข้าศึก ผูกนักโทษขึ้นไปกับว่าวในวันที่ฝนฟ้าคะนอง เมื่อนำนักโทษลงมาแล้วไม่ตายก็ออกเรือได้ นับเป็นการพยากรณ์อากาศครั้งแรกของโลก

อินเดียนับเป็นอีกหนึ่งชาติที่เชื่อว่าชนชาติของตนบินว่าวมานานนับพันปี ซึ่งชาวอินเดียนิยมบินว่าวต่อสู้กันกลางอากาศ โดยบินว่าวขึ้นไปหลายๆตัวพร้อมกันแล้วโฉบร่อนว่าวใช้สายป่านตัดสายป่านคู่ต่อสู้ให้ขาด ซึ่งที่สายป่านจะมีการนำเศษแก้วบดละเอียดผสมกาวเคลือบตลอดเส้น และที่อินเดียไม่ได้เล่นว่าวกันเฉพาะบนพื้นเท่านั้น ยังมีการเล่นว่าวกันบนหลังคาบ้าน บนต้นไม้ อีกด้วย การบินว่าวนั้นยังมีการเล่นกันมาอย่างยาวนานในหลายประเทศ เช่น ปากรีสถาน อิหร่าน  อิรัก กรีก และอีกหลายประเทศในตะวันออกกลาง รวมถึงญี่ปุ่น เกาหลี และอีกหลายประเทศในเอเชีย

 

ว่าวนกยูง

 

ว่าวงู

 

ในประเทศไทยทุกคนคงรู้จักและคุ้นเคยกับว่าวมาตั้งแต่สมัยเด็กๆ ซึ่งว่าวไทยนั้นมีประวัติศาสตร์อันยาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย มีความนิยมเล่นว่าวในหมู่เจ้านาย จนมีเรื่องเล่าที่เป็นเรื่องราวความรักของ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ซึ่งโปรดการเล่นว่าว วันหนึ่งพระองค์ทรงเล่นว่าวในวัง แต่สายป่านขาดลอยไปตกที่หลังคาบ้านพระยาเอื้อ เมื่อถึงเวลากลางคืนพระองค์จึงปลอมตัวเป็นคนสามัญ ปีนออกจากวังไปเก็บว่าวที่บ้านพระยาเอื้อ แล้วพบว่าพระยาเอื้อมีลูกสาวสวย ทำให้พระองค์เกิดความรักกับลูกสาวพระยาเอื้อ

ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา การเล่นว่าวได้รับความนิยมมาก ไม่จำกัดแค่พระมหากษัตริย์ และในหมู่เจ้านาย แต่สามัญชนก็นิยมเล่นเช่นกัน ทำให้มีการแข่งขันว่าวจุฬา และปักเป้าเกิดขึ้นในสมัยนี้ โดยมีหลักฐานจากจดหมายเหตุของ มองซิเออร์ เดอลาลูแบร์ อัครราชฑูตจากราชสำนักฝรั่งเศสสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ที่เข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีกับไทย ซึ่งมีเนื้อหาบรรยายไว้ในจดหมายเหตุ การเดินทางไว้ว่า "ว่าวของสมเด็จพระเจ้ากรุงสยามปรากฏในท้องฟ้าของทุกเดือน ตลอดระยะเวลา 2 เดือนของฤดูหนาว และทรงแต่งตั้งขุนนางให้คอยผลัดเปลี่ยนเวรกันถือสายป่านไว้"

 

                                  ว่าวปั๊กเป้า                                 ว่าววงเดือน

 

สมัยรัตนโกสินทร์ การเล่นว่าวยังเป็นที่นิยมกันอยู่มาก โดยในสมัยรัชกาลที่ 4 พระองค์ทรงมีพระบรมราชานุญาต ให้ประชาชนเล่นว่าวได้ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งก่อนหน้านั้นผู้ที่เล่นว่าวใกล้พระบรมมหาราชวังมีโทษถึงการตัดมือ เนื่องจากว่าวอาจลอยไปทำลายยอดและเครื่องประดับของตัวปราสาท การนิยมเล่นว่าวแพร่หลายมากขึ้นตลอดเวลา ทำให้สมัยรัชกาลที่ 5 ในปี พ.ศ. 2449 ได้มีการจัดการแข่งขัน ว่าวจุฬา-ปักเป้า ชิงถ้วยทองคำพระราชทานขึ้น ที่พระราชวังดุสิต การแข่งขันนี้มีเป็นประจำทุกปี จนสิ้นรัชสมัยของพระองค์

จากนั้นการเล่นว่าวได้ลดความนิยมและเกือบจะสูญหายไป แต่รัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูกีฬาว่าวขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงได้จัดการแข่งขันกีฬาว่าวระหว่างจุฬา-ปักเป้าประจำปีขึ้นมาอีกครั้ง แต่ความนิยมในการเล่นว่าวก็ต้องลดน้อยถอยลงไปอีก เนื่องจากรัฐบาลไม่ส่งเสริม เพราะว่าวเป็นสิ่งที่สร้างปัญหากับระบบการจ่ายไฟฟ้า เพราะมีว่าวไปติดสายไฟหลายแห่ง รวมถึงเคยมีคนถูกไฟดูดตายเพราะว่าวบ่อยครั้ง จึงทำให้การเล่นว่าวเสื่อมความนิยมลงไป

 

 

ปัจจุบันมีกลุ่มคนที่เล่นว่าวอย่างจริงจังอยู่น้อยมากในประเทศไทย คนมีที่มีภูมิปัญญาด้านนี้เริ่มร่อยหรอลง เด็กรุ่นใหม่ที่เล่นว่าวกันอย่างสนุกสนานเหมือนสมัยก่อนเริ่มไม่มีให้เห็น เป็นที่น่าเสียดายหากการละเล่นที่สืบทอดมานานกว่า 700 ปีในประเทศไทยจะเลือนหายไป อยากให้คนไทยทุกคนเห็นความสำคัญและหันมาอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปะของชาติอีกหนึ่งแขนงให้คงอยู่คู่กับประเทศเราต่อไป

 

 

ว่าวสมัยใหม่ในรูปแบบต่างๆ

 

มาช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปะของชาติให้คงอยู่คู่กับชาติไทยตลอดไปกันค่ะ

 

Credit: http://www.bloggang.com/viewdiary.
20 ต.ค. 55 เวลา 22:25 5,261 2 40
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...