เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
จากการสำรวจตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั่วประเทศ พบไม่ผ่านมาตรฐานกว่า 33% ชี้มีเชื้อโรคมากมาย เสี่ยงผู้บริโภคเป็นโรคอาหารเป็นพิษ
วันนี้ (19 ตุลาคม) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการสำรวจสถานการณ์ความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญในปี 2555 เพื่อประเมินคุณภาพและความปลอดภัยของน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญทั่วประเทศ โดยจากการเก็บตัวอย่างจำนวน 1,871 ตัวอย่าง พบว่า มีจำนวน 633 หรือคิดเป็นร้อยละ 33.8 ไม่ผ่านมาตรฐาน โดยร้อยละ 26 พบว่าไม่ผ่านมาตรฐานด้านเคมี เนื่องจากค่าความเป็นกรดเป็นด่างต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และค่าความกระด้างหรือมีปริมาณสิ่งแปลกปลอมสูงเกินมาตรฐาน
รมช.สาธารณสุข กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ในบางพื้นที่ ยังตรวจพบสารปนเปื้อนอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิ ไนเตรท 1.5% แมงกานีส 0.5% ฟลูออไรด์ 0.3% สังกะสี 0.2% เหล็กและตะกั่ว 0.1% และจากการทดสอบความปลอดภัยจากเชื้อจุลินทรีย์ พบตัวอย่างที่ไม่ผ่านมาตรฐาน 303 ตัวอย่าง คิดเป็น 16.2% โดยพบเชื้อ "โคลิฟอร์ม" มากที่สุด ซึ่งคิดเป็นจำนวนกว่า 80% ของตัวอย่างที่ผิดมาตรฐาน รองลงมาคือ อี.โคไล และเชื้อโรคอาหารเป็นพิษ เช่น แซลโมเนลล่า และแสตปฟิโลค็อกคัส ออเรียส อีกทั้งในบางพื้นที่ยังพบเชื้อก่อโรคอื่น ๆ เช่น บาซิลลัส ซีเรียส และคลอสตริเดียม เพอร์ฟริงเจนส์ ด้วย
ขณะที่ นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า จากการสำรวจตู้น้ำหยอดเหรียญข้างต้น แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการหรือผู้รับผิดชอบน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญบางรายขาดการดูแลบำรุงรักษาเครื่องกรองน้ำ ซึ่งเป็นอุปกรณ์หลักของตู้ ทำให้ตู้นั้นมีประสิทธิภาพการกรองต่ำลง และเกิดการสะสมของจุลินทรีย์มากขึ้น นอกจากนี้ ยังจะทำให้ผู้ที่บริโภคน้ำดังกล่าว เป็นโรคอาหารเป็นพิษ อาจจะมีอาการท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ และเกิดตะคริวที่ท้องได้ ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่มาติดตั้งตู้น้ำหยอดเหรียญ รวมถึงการดูแลและบำรุงรักษาตู้น้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ตู้หยอดเหรียญได้คุณภาพและปลอดภัยแก่ผู้บริโภคด้วย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก