ทราบกันมานานแล้วว่าสหรัฐมีหน่วยบัญชาการรบไซเบอร์ ซึ่งเป็นกองกำลังต่อสู้สงครามข้อมูลออนไลน์ แต่ที่กำลังกังขาคือหน่วยบัญชาการนี้มีกฎหมายรองรับการปฏิบัติงานหรือไม่
ในเมื่อร่างรัฐบัญญัติที่จะให้อำนาจยังไม่ผ่านสภาคองเกรส และคาดว่าคงอีกนานกว่าจะผ่านได้ แต่ขณะนี้สหรัฐก็พร้อมที่จะทำสงครามไซเบอร์ โดยใช้คำสั่งพิเศษของประธานาธิบดี ซึ่งปรกติมีอำนาจสั่งการรบแบบยับยั้งได้หากเห็นว่าสงครามใกล้จะเกิด หรืออาจเกิดภัยใหญ่หลวงต่อประเทศ
ผู้ออกมาให้คำตอบนี้คือ นายลีออน พาเนตตา รัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐ โดยระหว่างการปราศรัยต่อที่ประชุมผู้นำธุรกิจความมั่นคงแห่งชาติที่นครนิวยอร์กเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนบริษัทและสำนักที่ปรึกษาที่ทำงานเกี่ยวกับการป้องกันและต่อต้านการโจมตีและก่อกวนระบบข้อมูล
ใครได้ฟังนายพาเนตตากล่าวถึงภัยสงครามไซเบอร์สมัยใหม่แล้วคงขนหัวลุก เพราะกลุ่มหรือประเทศที่ต้องการทำสงครามไซเบอร์ไม่ได้มุ่งไปที่ข้อมูลสำคัญซึ่งเป็นความลับสุดยอดที่เก็บไว้ตามสถานที่ต่างๆอีกต่อไป แต่มุ่งไปที่ข้อมูลในระบบบริหารจัดการสาธารณูปโภคอย่างน้ำประปาและไฟฟ้า เป็นต้น
โดยเฉพาะการโจมตีน้ำประปา ซึ่งทำให้ไม่มีน้ำสะอาดใช้ดื่ม เช่นเดียวกับไฟฟ้าที่ทำลายเครือข่ายการจ่ายกระแสไฟทั่วประเทศ นอกจากนี้ยังมีระบบบริหารจัดการการคมนาคม อย่างรถไฟซึ่งบรรทุกผู้โดยสารหรือเคมีภัณฑ์อันตราย ทำให้ตกรางและสร้างความเสียหายต่างๆ
หากเกิดภัยดังที่กล่าวมา สหรัฐก็สามารถประกาศตอบโต้ได้ทันที หรือหากรู้ว่ามีกลุ่มหรือประเทศใดเตรียมจะโจมตี ซึ่งขณะนี้กระทรวงกลาโหมสหรัฐสามารถคิดค้นเครื่องมือสะกดรอยผู้วางแผนหรือเตรียมใช้การโจมตีทางไซเบอร์ได้แล้ว รวมทั้งมีการจัดตั้งกองกำลังที่สามารถปฏิบัติการได้ทันทีทันควัน
นอกจากนี้นายพาเนตตายังเปิดเผยถึงภัยการโจมตีแบบใหม่ว่า ไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมามีการโจมตีระบบข้อมูลของธนาคารหลายแห่งจากต่างประเทศ โดยทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ธนาคารปฏิเสธการให้บริการลูกค้า และก่อนหน้านี้มีการโจมตีระบบข้อมูลบริษัทน้ำมันในกาตาร์และซาอุดีอาระเบีย เป็นการโจมตีโดยใช้การติดตั้งไวรัสชื่อ shamoon ไว้ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งสั่งให้ลบข้อมูลระบบปฏิบัติการของเครื่อง จากนั้นบนจอคอมพิวเตอร์จะปรากฏภาพธงชาติสหรัฐกำลังถูกเผา
การโจมตีอีกลักษณะคือคำสั่งให้เอาข้อมูลขยะเขียนทับในข้อมูลที่เก็บไว้ในเครื่องแทน ทำให้ระบบข้อมูลบริษัทอารามโก้ บริษัทน้ำมันแห่งชาติซาอุดีอาระเบียที่มีคอมพิวเตอร์ 30,000 เครื่อง เสียหายใช้การไม่ได้ ซึ่งเป็นการโจมตีระบบข้อมูลเอกชนที่ถือว่าร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในตะวันออกกลาง
หน่วยบัญชาการรบไซเบอร์ได้รับการก่อตั้งเมื่อปี 2552 โดยการเปิดเผยต่อสาธารณรัฐอย่างไม่ปิดบัง จึงทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย ทั้งมีการเปิดเว็บไซต์แนะนำตัวเองและภารกิจที่หน่วยรบใหม่จะปฏิบัติการอีกด้วย หนึ่งในนั้นคือการจะรับสมัครผู้เชี่ยวชาญในการเจาะข้อมูลและป้องกันข้อมูลหรือแฮคเกอร์อย่างน้อย 1,000 คน ในระยะไม่กี่ปีข้างหน้า
ถือเป็นภารกิจที่น่าตื่นตาตื่นใจนักเจาะระบบและป้องกันข้อมูลทั่วโลก เพราะการประกาศรับสมัครดังกล่าวไม่สนใจเรื่องทรงผมหรือการแต่งกายว่าผมจะยาวและแต่งตัวจ๊าบแค่ไหน เพราะคุณสมบัติอยู่ที่ต้องเป็นยอดฝีมือ ถ้ายอดจริงก็ได้ทำงานแน่นอน ซึ่งอาจมีงานทำอย่างสนุกสนานพร้อมเงินเดือนน้องๆเจ้าชายเลยทีเดียว จึงเชื่อว่าจะมีแฮคเกอร์จากทั่วโลกมาสมัคร
แต่มีคำเตือนจากผู้สังเกตการณ์ว่าการออกข่าวของสหรัฐแบบนี้อาจเป็นการหาข้อมูลแฮคเกอร์ทั่วโลกไปในตัวด้วยว่ามีจำนวนเท่าไรและอยู่ที่ไหนบ้าง เพื่อติดตามตรวจสอบพฤติกรรมหรือนำมาขึ้นบัญชีดำ แต่อีกทางหนึ่งการเปิดเผยอย่างโจ่งแจ้งของหน่วยบัญชาการรบไซเบอร์อาจเป็นเป้าถูกทำร้ายจากฝ่ายตรงข้ามสหรัฐได้เช่นกัน
ที่สำคัญประเทศทั่วโลกต่างวิตกกังวลเกี่ยวกับสงครามไซเบอร์ของสหรัฐ เพราะทำให้ต้องตื่นตัวเตรียมรับมือสงครามไซเบอร์เช่นกัน นอกจากนี้ยังจะทำให้บริษัทโทรคมนาคมและประมวลผลกลายเป็นบริษัทค้าอาวุธที่ร่ำรวยด้วย
แต่ผลร้ายที่จะตามมาคือ การแข่งขันสร้างกองทัพไซเบอร์ทำให้แต่ละประเทศต้องทุ่มงบประมาณก้อนใหญ่เพื่อรองรับสงครามไซเบอร์
ข้อวิตกนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่พูดกันเล่นๆ เพราะในปีเดียวกับที่สหรัฐก่อตั้งหน่วยบัญชาการรบไซเบอร์ เกาหลีใต้ก็ก่อตั้งบ้าง โดยอ้างว่าเกาหลีเหนือมีการเปิดหน่วยรบทางไซเบอร์แล้ว ตามด้วยอังกฤษที่กำลังนำหน่วยงานความมั่นคงทางไซเบอร์ของกระทรวงและกองทัพต่างๆมารวมไว้ในหน่วยเดียวกัน โดยใช้ชื่อ Cyber Operations Group แปลว่า “กลุ่มปฏิบัติการไซเบอร์”
ส่วนจีนก็ถือโอกาสครบรอบ 1 ปีของการก่อตั้งหน่วยบัญชาการรบไซเบอร์ของสหรัฐ ประกาศตั้งหน่วยบัญชาการรบไซเบอร์โดยใช้ชื่อ Information Security Base แปลว่า “ฐานความมั่นคงข่าวสาร” โดยนายทหารจีนผู้หนึ่งเปิดเผยว่าหน่วยรบใหม่นี้จะรวบรวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสงครามไซเบอร์ ไม่ใช่เพื่อทำสงคราม
ขณะที่กองทัพนาโต้ก็มีหน่วยปฏิบัติการไซเบอร์เช่นกัน โดยตั้งอยู่ที่เอสโตเนีย ซึ่งในปี 2550 องค์กรสำคัญในประเทศเอสโตเนีย รวมทั้งสื่อมวลชนถูกรัสเซียโจมตีระบบข้อมูล หลังรัสเซียแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลเอสโตเนียเคลื่อนย้ายอนุสาวรีย์และหลุมฝังศพทหารที่สร้างไว้ในช่วงที่รัสเซียปกครอง ซึ่งเป็นการโจมตีทางไซเบอร์ที่ใหญ่และเต็มรูปแบบ ทำให้ประเทศทั่วโลกตระหนักถึงภัยสงครามไซเบอร์
การรบในอนาคตจึงมีหลากหลายรูปแบบ นอกจากการใช้เครื่องบินไร้คนขับ การใช้วิธีการแบบเพชฌฆาตไร้เงาที่เด็ดหัวฝ่ายตรงข้ามด้วยเครื่องบินหุ่นยนต์ ซึ่งล้วนเป็นสงครามที่น่ากลัว
แต่ที่แน่ๆไม่ว่าจะเป็นสงครามแบบใดก็ทำให้ประชาชนต้องรับเคราะห์กรรมเดือดร้อนแสนสาหัสทั้งสิ้น
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข