เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3, ไทยพีบีเอส
กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ออกมาคัดค้าน หลัง ผบ.ตร. สั่งซื้ออุปกรณ์ดักจับแก๊งซิ่ง เพื่อปราบปรามปัญหาเด็กแว้นกวนเมือง โดยแย้งว่า การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวรุนแรงเกินกว่าเหตุ และอาจทำให้มีผู้เสียชีวิตได้
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สั่งซื้อชุดดักรถจักรยานยนต์กวนเมือง หรือชุดซิ่งสั่งลา หลังจากทางบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งได้นำมาสาธิตให้ดู โดยเครื่องนี้ทำงานด้วยระบบกลไกแขนที่ยืดเข้าออกได้ด้วยการบังคับของคน และมีหนาม ซึ่งเป็นอาวุธเหล็กในการเจาะยางรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ให้ค่อย ๆ รั่วซึม เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และไม่เป็นอันตรายกับผู้ขับขี่ ซึ่งจะขับรถต่อไปได้อีกประมาณ 30-40 เมตร ไปถึงจุดหมายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดจับ เพื่อเป็นการปราบปรามปัญหาแก๊งซิ่งกวนเมือง ที่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วไปนั้น
ล่าสุด ในวันเดียวกัน พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ออกมากล่าวว่า จุดประสงค์ในการกวดขัน และปราบปรามกลุ่มนักซิ่งเหล่านี้อยู่บนพื้นฐานของความหวังดี เพื่อเป็นการลดการก่อความเดือดร้อน รำคาญ รวมถึงลดอันตรายทั้งต่อผู้ขับขี่ และต่อบุคคลรอบข้างที่ใช้รถใช้ถนน ซึ่งต้องคำนึงถึงวิธีการจับกุม และปราบปราม ส่วนที่มีการสาธิตการใช้ชุดดักรถจักรยานยนต์กวนเมือง หรือ ชุดซิ่งสั่งลาดังกล่าว จากการพิจารณาแล้วเห็นว่า หากนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปใช้สกัดจับจริง อาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงมีผู้บาดเจ็บ หรืออาจร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
พล.ต.อ.วันชัย กล่าวต่อว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องใช้วิธีการที่เหมาะสม และคำนึงถึงความปลอดภัยให้มากที่สุด เพื่อมิให้เกิดอันตรายขึ้นทั้งต่อเจ้าหน้าที่และกลุ่มแก๊งซิ่งเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม วิธีการกวดขัน จับกุม ที่ถือว่าเป็นมาตรการขั้นปลาย ที่อาจต้องใช้วิธีการด้านอื่น ๆ เสริมด้วย เช่น การจัดทำทะเบียนประวัติผู้ขับขี่ ประวัติพ่อแม่ผู้ปกครอง และกวดขันจับกุมร้านจำหน่ายอุปกรณ์แต่งรถซิ่ง และการจำกัด ขนาดซีซีรถ และรุ่นรถเพื่อมิให้นำไปสู่การขับขี่ด้วยความเร็ว รวมไปถึงการจัดทำสนามแข่งรถเพื่อให้เป็นพื้นที่ให้กลุ่มคนเหล่านี้แสดงออกเช่นเดียวประเทศ มาเลเซีย สิงคโปร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.วันชัย ทิ้งท้ายว่า การกวดขันจับกุม ควรที่จะดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มิใช่เน้นเพียงการกวดขันในขั้นตอนสุดท้ายคือการไล่จับ หรือก็คือ การเน้นวิธีการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ ต่อเนื่อง และทันท่วงที มากกว่าการใช้วิธีการรุนแรง ที่พิสูจน์มาหลายครั้งแล้วว่าไม่ช่วยให้ปัญหาลดลง
ขณะที่ นายมนตรี สินทวิชัย เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเด็ก กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดการกวดขันจับกุมอย่างจริงจัง และเข้มข้น เนื่องจากเยาวชนบางส่วนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม กระทำในสิ่งที่ละเมิดบุคคลอื่น ซึ่งส่งผลทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บ และเสียชีวิต แต่ตำรวจซึ่งทำหน้าที่จับกุมก็ควรที่จะระมัดระวังในวิธีการจับกุมที่อาจจะละเมิดสิทธิเยาวชนหรือบุคคลอื่นด้วยเช่นกัน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก