จะเกิดอะไรกับ"มือถือ" เมื่อ"3จี"ฉลุยใช้งาน

 

หลายคนคงอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า การประมูล 3จี (3rd generation mobile telecommunications) 

โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา คืออะไร 

เพราะเหตุใดจึงต้องนำ 3จี มาประมูลอีก ในเมื่อโทรศัพท์พวกสมาร์ทโฟนทั้งหลายที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็มีบริการ 3จี อยู่แล้ว

ขอย้อนเรื่องก่อนว่า โทรศัพท์ที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ มีผู้ประกอบการในตลาดรายใหญ่ๆ อยู่ 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท ทรู มูฟ จำกัด หรือทรูมูฟและทรูมูฟเอช 

ทั้ง 3 ค่าย ต่างถือครองคลื่นความถี่ตามสัญญาสัมปทานเพื่อให้บริการแก่ลูกค้าของตนแตกต่างกัน 

เอไอเอส การให้บริการหลักๆ จะอยู่ที่คลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ มีการแบ่งครึ่งของจำนวนช่องทางการสื่อสารของคลื่น (แบนวิดธ์) ที่มีอยู่ ในอัตราส่วนครึ่งต่อครึ่งเพื่อให้บริการในระบบ 2จี และ 3จี ควบคู่กันไป

ต่างจาก ดีแทค และทรูมูฟ ที่การให้บริการหลักๆ จะอยู่ที่ความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในระบบ 2จี และ 850 เมกะเฮิรตซ์ ในระบบ 3จี

อย่างไรก็ตาม คลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ที่นำมาทำ 3จี เพื่อให้บริการกันอยู่ขณะนี้ เป็นช่วงคลื่นที่เหมาะแก่การใช้งาน 2จี มากกว่า 3จี 

อีกทั้งเมื่อมีการนำคลื่นมาแบ่งใช้งานในลักษณะควบคู่กัน ประกอบกับการที่โทรศัพท์มือถือในยุคใหม่หรือสมาร์ทโฟนที่ใช้งาน 3จี ที่การอัพโหลด ดาวน์โหลด การเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตต่างๆ เข้ามาแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

จึงส่งผลให้คุณภาพการทำงาน 3จี ของคลื่นทั้ง 2 ย่านความถี่นั้นลดน้อยลง 

จะต่างกับคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ที่มีการรับรองโดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ให้การรับรองว่าเป็นคลื่นความถี่ที่เหมาะสมกับการใช้งาน 3จี มากที่สุด

อีกทั้งคลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ เป็นย่านความถี่ที่หลายประเทศในโลกนำมาให้บริการ 3จี มากที่สุด

สำหรับคุณภาพการใช้งาน 3จี เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันระหว่างคลื่น 3จี ที่ใช้กันอยู่ปัจจุบันในความถี่ย่าน 850 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ จะมีอัตราความเร็วสูงสุดในการเชื่อมต่อข้อมูลอยู่ที่ราว 7.2 เมกะบิตต่อวินาที

ส่วนคลื่น 3จี ในย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ จะมีอัตราความเร็วสูงสุดในการเชื่อมต่อข้อมูลอยู่ที่ราว 42 เมกะบิตต่อวินาที 

รวมทั้งการใช้งานยังไม่ต้องติดขัดปัญหาเรื่องขนาดของช่องทางการสื่อสารทำให้เน็ตช้า เช่นเดียวกับปัจจุบันอีกด้วย 

อีกทั้งในอนาคต ยังมีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการที่ดีรับคลื่นจากการประมูลครั้งนี้ไปอาจนำคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ มาพัฒนาเพื่อให้บริการในรูปแบบ 4 แทนที่คลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 2300 กิกะเฮิรตซ์ เป็นย่านความถี่ที่เหมาะสมแก่บริการ 4จี มากสุด 

การเรียกคืนมาพัฒนาเป็น 4จี ยังคงติดปัญหาเรื่องการเรียกคืนของ กสทช. เนื่องจากผู้ที่ถือครองคลื่นอยู่ในขณะนี้ ทั้ง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ยังคงติดในเรื่องสัญญาสัมปทานการให้บริการกับเอกชนยังไม่หมดอายุ และในคลื่นความถี่ดังกล่าวโดยเฉพาะ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ยังคงมีลูกค้าที่ใช้บริการ 2จี คงค้างอยู่ในระบบอีกกว่า 20 ล้านคน ซึ่งการต้องโอนย้ายให้หมดทันทีอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายได้

นอกจากนี้ คลื่นความถี่ย่าน 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ยังเป็นคลื่นความถี่ในระบบใบอนุญาต จะต่างกับการใช้งานคลื่นความถี่อื่นๆ ที่ใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้ ที่อยู่ภายใต้ระบบสัญญาสัมปทาน 

ผู้ประกอบการภาคเอกชน ต้องแบ่งเงินรายได้จากการให้บริการคลื่นความถี่ส่งคืน บริษัท ผู้ถือครองสัญญาสัมปทานทั้ง กสท และทีโอที ในอัตรา 20-30% ของเงินรายได้รวมทั้งหมด การที่ภาคเอกชนไม่ต้องเสียส่วนต่างจากค่าสัญญาสัมปทานเมื่อได้รับใบอนุญาต จึงส่งผลให้มีเงินเหลือในการเร่งพัฒนาโครงข่าย หรือปรับอัตราค่าบริการให้ลดลงก็เป็นได้ 

ฉะนั้น แน่นอนที่สุด เบื้องต้นที่จะได้เห็นหลังภาคเอกชนให้บริการ 3จี บนคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ลูกค้าในคลื่นภายใต้ระบบสัญญาสัมปทานเดิมที่ต้องการใช้งาน 3จี จะต้องถูกทยอยโอนย้ายมาสู่แบรนด์ใหม่ของผู้ประกอบการรายเดิมตามความสมัครใจของลูกค้า เช่น จากทรูมูฟ ย้ายไปทรูมูฟเอช เพื่อมาสู่การใช้คลื่นใหม่ภายใต้ระบบใบอนุญาต 

อย่างไรก็ดี ในส่วนของการใช้ค่าบริการของคลื่น 2.1 เมกะเฮิรตซ์ หากอ้างอิงตามที่ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. ในฐานะ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้เคยกล่าวไว้ว่า การประมูลคลื่นความถี่ที่มีผู้ประกอบการได้รับ มีโอกาสบริการคลื่นความถี่ในอัตราส่วนเท่ากัน จะทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดมากขึ้น 

ทำให้ประชาชนเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงในราคาการใช้บริการ 3จี ที่ถูกลง 

ความเห็นดังกล่าวนี้ ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เคยกล่าวไว้เช่นกันว่า หลังได้รับใบอนุญาตใช้งานคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ลูกค้าของทรูจะได้ใช้งาน 3จี ที่มีคุณภาพสูงขึ้น ในราคาที่ถูกลง

แต่ดูเหมือนจะขัดแย้งกับ สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เมื่อมีการเปิดการใช้งานของคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ราคาจะไม่ถูกลง เนื่องจากผู้ประกอบการภาคเอกชนต่างรู้อยู่แล้วว่าลูกค้าของตนเองที่จะใช้บริการ 3จี มีกำลังจ่ายในอัตราเดียวกับการใช้งาน 3จี ในปัจจุบัน 

ข้อมูลข้างต้นสอดคล้องกับ จอห์น เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ที่กล่าวว่า เมื่อการให้บริการ 3จี บนคลื่น 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ลูกค้าจะได้ใช้งาน 3จี ที่ดีขึ้นในราคาเท่าเดิม 

ส่วนสาเหตุที่ราคาไม่ลดลงนั้นเนื่องจากต้องนำเงินมาเป็นส่วนชดเชยจากเงินค่าประมูลที่เสียไปในหลักหมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของระยะเวลาที่คนไทยจะได้สัมผัสการใช้งาน 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ตามกำหนดของ กสทช. ระบุไว้ว่าหลังผู้ชนะประมูลได้รับใบอนุญาตต้องเปิดให้บริการทันทีใน 6 เดือน รวมทั้งการให้บริการต้องครอบคลุม 50% ใน 2 ปี และ 80% ใน 4 ปี 

งานนี้ต้องมาลุ้นกันว่า 3จี ที่ทุกคนต่างรอคอยใช้งานมาเนิ่นนานนี้ จะดีจริงสมคำร่ำลือหรือไม่ 

การที่ผู้ประกอบการได้ถือครองคลื่นเพื่อให้บริการเท่าๆ กัน รายละ 15 เมกะเฮิรตซ์ เช่นนี้ จะทำให้ราคาถูกลง จริงหรือไม่


เป็นเรื่องที่ผู้บริโภคต้องติดตามกันต่อไป

 

18 ต.ค. 55 เวลา 10:49 1,693 1 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...