เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ปิดการประมูล 3 จี 2.1 GHz เคาะราคาทั้งหมด 7 รอบ 3 ผู้ให้บริการคว้าใบอนุญาตด้วยมูลค่าทั้งหมด 41,625 ล้านบาท ขยับจากราคากลาง 1,125 ล้านบาท
[08.00 น.] ประมูล 3จี คึก 3 ค่ายใหญ่ลงทะเบียน รอเคาะราคา
ในช่วงเช้าของวันนี้ (16 ตุลาคม) บรรยากาศที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จะมีการประมูลคลื่นความถี่ 2.1GHz หรือ 3G เป็นไปอย่างคึกคัก โดยทางคณะกรรมการ กสทช. ได้มีการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในพื้นที่ เพื่อให้การประมูลเป็นไปด้วยความราบรื่น ขณะที่ผู้ประกอบการเริ่มเข้าร่วมการประมูล ได้ทยอยเดินทางมาแล้ว เพื่อรอรับการจับสลากในเวลา 09.00 น. ก่อนที่จะมีการเริ่มเคาะราคาประมูลในเวลา 10.00 น. ของวันนี้
ขณะที่การรักษาความปลอดภัยทุกทางเข้า - ออก เป็นไปอย่างเข้มงวด โดยมีกองกำลังทั้งทหาร และตำรวจ ในการดูแลรักษาความปลอดภัย โดยมีตำรวจประจำการอยู่ห้องละ 2 นาย พร้อมติดตั้งกล้องวงจรปิดจับความเคลื่อนไหว และไม่ให้มีอุปกรณ์สื่อสารใด ๆ ขณะที่ด้านนอกและรอบ ๆ สำนักงาน กสทช. มีตำรวจกระจายกำลังอยู่อีกราว 50 นาย เพื่อป้องกันปัญหาหรือความวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้น
[10.30 น.] การประมูลเริ่มต้นแล้ว! รอบแรกเอกชนเสนอซ้ำกัน 2 สล็อต
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประกวดราคาในรอบแรกในเวลา 10.30 น. เริ่มต้นแล้ว โดย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือเอไอเอส จับสลากได้พาสเวิร์ดซองหมายเลข 3 บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือทรู จับสลากได้พาสเวิร์ดซองหมายเลข 2 และ บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค ในเครือดีแทค จับสลากได้พาสเวิร์ดซองหมายเลข 1 ซึ่งมีรายงานว่า หลังจากการเปิดประมูลในรอบแรก บริษัทเอกชนจำนวน 2 ราย เสนอราคาประมูลขั้นต้นจำนวน 4.5 พันล้านบาท ชนกัน 2 ราย คือเสนอราคาทับซ้อนกันระหว่างสล็อต E และ H
ทั้งนี้ การเคาะราคาใรชั่วโมงแรก หรือครั้งแรก พบว่า สล๊อต A D G I มีการเคาะ 1 ครั้ง ส่วนสล๊อต E และ F มีการเคาะ 2 ครั้ง (ซึ่งแสดงว่าเอกชนเคาะซ้ำสล็อตกัน) ขณะที่สล๊อต B C E ไม่มีการเคาะเลือก ซึ่งหลังจากนั้นได้เข้าสู่การประมูลเพื่อเคาะราคาในชั่วโมงที่สามต่อไป อย่างไรก็ตาม ในการเปิดให้เคาะราคา 2 ครั้ง ยังไม่มีการเคาะเลือกสล๊อตครบ 9 สล็อต
ขณะที่ นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช. กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า วัตถุประสงค์ในการประมูลคลื่นความถี่นั้น เพื่อต้องการสนับสนุนให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า ขณะเดียวกับก็ต้องจัดสรรให้คลื่นความถี่เพียงพอกับผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ การประมูลคลื่นความถี่จะสำเร็จขึ้นได้นั้นก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การออกแบบอัตราเริ่มต้นความถี่ หรือวิธีการประมูลทั้งหลายอย่างไรก็ตาม การประมูลครั้งนี้ ประเทศชาติจะต้องได้ประโยชน์สูงสุด เนื่องจากความคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของประเทศ ดังนั้นภาครัฐต้องได้ผลประโยชน์ที่เหมาะสม และประชาชนก็ต้องได้รับการบริการอย่างเป็นธรรม
[10.45 น.] เคาะรอบสอง! ยื่นราคาที่ 4,725 ล้านบาท
เริ่มการประมูลครั้งที่ 2 ทาง กสทช. รายงานว่า ราคาประมูลต่อสล็อตที่มีการเสนอราคาขึ้นไปอยู่ที่ 4,725 ล้านบาท ในสล็อต A B E G H I โดยมีผู้เสนอราคาในช่อง A E H เพิ่ม ส่วนช่องที่เหลือใช้สิทธิผู้ชนะชั่วคราว ส่งผลให้ราคารวมใบอนุญาตในรอบที่ 2 อยู่ที่ 27,675 ล้านบาท
[11.30 น.] ประมูลรอบที่ 3 ราคาพุ่งถึง 4,950 ล้านบาท
กสทช. เปิดเผยผลการประมูลใบอนุญาตบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1GHz รอบที่ 3 ปิดไปเมื่อเวลา 12.30 น. ก่อนจะหยุดพักการประมูลครึ่งวันแรก โดยมีผู้เสนอราคาประมูลสูงขึ้นมาเป็น 4,950 ล้านบาท ใน 2 สล็อต จากทั้งหมด 9 สล็อต ขณะที่ยังมีสล็อตที่ไม่มีผู้ประมูลเหลืออยู่อีก 1 สล็อต ดังนี้
สล็อต A ราคาอยู่ที่ 4,725 ล้านบาท
สล็อต B ราคาอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท
สล็อต C ราคาอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท
สล็อต D ราคาอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท
สล็อต E ราคาอยู่ที่ 4,950 ล้านบาท
สล็อต F ยังไม่มีผู้เสนอราคา
สล็อต G ราคาอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท
สล็อต H ราคาอยู่ที่ 4,950 ล้านบาท
สล็อต I ราคาอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท
[13.00 น.] ประมูลรอบ 4 ไม่มีผู้เสนอเพิ่ม ราคาคงที่ 4,950 ล้านบาท
การประมูลครั้งที่ 4 เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 13.00 น. และปิดประมูลเมื่อเวลา 13.45 น. โดยทาง กสทช. รายงานว่า การประมูลรอบล่าสุด ไม่มีผู้เสนอราคาเพิ่ม แต่มีการใช้สิทธิไม่เสนอราคา (เวฟเวอร์) ทำให้การประมูลในรอบถัดไปยังไม่ใช่รอบ Final Phase ดังนั้น ราคาในรอบที่ 4 จึงคงที่ ที่ 4,950 ล้านบาท
[13.45 น.] เคาะรอบที่ 5 ไม่มีผู้เสนอเพิ่ม ราคาคงที่
กสทช. เผยว่า การประมูลในรอบที่ 5 ซึ่งเริ่มในเวลา 13.45 น. ยังคงไม่มีผู้ใดเสนอราคาเพิ่ม และไม่มีผู้ใช้สิทธิไม่เสนอราคา (เวฟเวอร์) แต่ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมประมูลยังสามารถเคาะเพิ่มได้ และการรับ Final Phase ก็สามารถมีได้หลายครั้งไ ปจนกว่าไม่มีรายใดเคาะเพิ่ม
[14.30 น.] เคาะรอบที่ 6 ราคารวมสูงถึง 41,625 ล้านบาท
จากการประมูลรอบที่ 6 ซึ่งเริ่มในเวลา 14.30 น. ซึ่งถือว่าเป็นรอบ Final Phase รอบแรก ปรากฏว่า มีผู้เสนอราคาในสล็อก F แล้ว 1 ราย ส่งผลให้ราคารวมขึ้นไปอยู่ที่ 41,625 ล้านบาท
[16.00 น.] จบแล้ว เคาะรอบที่ 7 สรุปราคารวม 41,625 ล้านบาท
ผลการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 2.1 GHz (3G) ของ กสทช. ในรอบที่ 7 ไม่มีรายใดประมูลเพิ่ม ส่งผลให้ปิดการประมูลที่มูลค่ารวม 9 สล็อต 41,625 ล้านบาท แบ่งเป็น ใบละ 4,500 ล้านบาท 6 ใบ ใบละ 4,950 ล้านบาท 2 ใบ และ 4,725 ล้านบาท 1 ใบ
รายละเอียดการประมูล 3จี
ส่วนทางด้าน นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวถึงรายละเอียดภายในงานว่า การประมูลจะแบ่งออกเป็น 9 ใบ ใบละ 5 เมกะเฮิรตซ์ รวมทั้งหมด 45 เมกะเฮิรตซ์ และเริ่มเคาะราคาครั้งแรกเวลา 10.00 น. จนถึงเวลา 21.00 น. โดยในการเคาะราคาจะเกิดขึ้นครั้งละ 225 ล้านบาท หรือเพิ่มครั้งละ 5% ของราคาเริ่มต้นประมูลใบละ 4,500 บาท ทั้งนี้จะมีการเคาะราคาทุก ๆ 1 ชั่วโมง ไปจนกว่าจะไม่มีการเคาะราคาใด ๆ เป็นเวลา 2 ครั้ง จึงจะถือว่าสิ้นสุดการประมูล และหากสิ้นสุดแล้ว ผู้ที่เสนอราคาสูงสุดจะเป็นผู้มีสิทธิ์ได้เลือกตำแหน่งคลื่นความถี่ก่อน และหากการเคาะราคาวันแรกยังไม่ได้ข้อสรุป ทางเอกชนจะต้องกลับมาเคาะราคาอีกครั้งในวันถัดไป ซึ่งทาง กสทช. วางเอาไว้ 3 วัน คือวันที่ 16-18 ตุลาคม
สำหรับความพร้อมของบริษัทผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด, บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด, บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ซึ่งประกาศก่อนหน้านี้ว่าพร้อมสู้ราคาเต็มที่ เพื่อให้ได้ไลเซนส์ทั้งหมด 3 ใบ ตามเพดานการถือครองที่ กสทช. กำหนด ถึงแม้ว่าราคารวมจะสูงถึง 2 หมื่นล้านก็ตาม ทั้งนี้หากการประมูลเสร็จสิ้นก็จะสามารถเปิดให้ประชาชนใช้บริการได้ในเดือนมีนาคม 2556 อย่างไรก็ตาม ทาง กสทช. ได้ทำหนังสือเชิญตัวแทนจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กับสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน มาเป็นสักขีพยานในการตรวจครั้งนี้ด้วย
รายชื่อตัวแทนผู้เข้าร่วมประมูลจากทั้ง 3 บริษัท
การประมูล 3 จี ในวันนี้ มีรายงานว่า บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวิร์ค จำกัด ในเครือเอไอเอส และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือทรู ได้แจ้งรายชื่อผู้เข้าประมูลบริษัทละ 10 คน ส่วนบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือดีแทค มีทั้งหมด 7 คน โดยรายชื่อตัวแทนจาก 3 บริษัท ในเบื้องต้น มีดังนี้
บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เนทเวอร์ค จำกัด ในเครือเอไอเอส ได้แก่
- นายสมประสงค์ บุญยะชัย ซีอีโอ กลุ่มอินทัช
- นายวิเชียร์ เมฆตระการ ซีอีโอ เอไอเอส
- นายมาร์ก ชอง ชิน ก็อก ซีโอโอ เอไอเอส
- นายสิทธิชัย ชื่นชูศิลป์ ผู้บริหารเอไอเอส
- นายฮุย เวง ชอง ตัวแทน สิงเทล และตัวแทนเทมาเส็กอีก 5 คน
บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ในเครือทรู ได้แก่
- นายศุภชัย เจียรวนนท์ ซีอีโอ กลุ่มทรู
- นายวิเชาว์ รักพงษ์ ไพโรจน์
- นายนพปฎล เดชอุดม
- นายอธึก อัศวานันท์
- นายอิรุฒม์ โตทวีแสนสุข
- นางสาวอชิรา เตาลานนท์ เป็นต้น
บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค ในเครือดีแทค ได้แก่
- นายจอน เอ็ดดี้ อับดุลลาห์ ซีอีโอ ดีแทค
- นายดามพ์ สุคนธทรัพย์ ผู้บริหารดีแทค
- นายอาลิ อามิน ซัททาร์
- นางวีรนุช กมยบุตร และตัวแทนเทเลนอร์ อีก 3 คน
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก