พลิกตำราเรียนสมัยประถมศึกษา หลายต่อหลายคนคงเคยผ่านการฝึกฝีมือการเพาะเห็ดในชั่วโมงเรียนวิชาเกษตรมาแล้ว ส่วนใหญ่มองว่าง่ายเพราะแค่บากถุงให้เป็นรอยฉีกขาด รดน้ำแล้วรอไม่นานวัน เจ้าดอกเห็ดนางฟ้าก็โผล่พ้นรอยบนถุงพร้อมนำไปโรงเรียนเพื่อขอแลกคะแนนจากคุณครู แต่หลังจากนั้นมันจะเช่นไรก็ไม่ได้นึกใส่ใจอีก จนกระทั่งได้พบและพูดคุยกับ อาจารย์เอ็ม “ประยูร จวงจันทร์” อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เจ้าของโครงการวิจัย “โรงเพาะเห็ดอิเล็กทรอนิกส์” ทำให้รู้ถึงความละเอียดอ่อนของเห็ดนานาชนิดว่าอันที่จริงแล้วถ้าจะเอาดีเรื่องการเพาะเห็ดนั้น ขั้นตอนของมันมากพอสมควรทีเดียว
อาจารย์เอ็ม เล่าว่า ส่วนตัวนั้นเป็นคนชอบทานเห็ด เพราะเป็นเด็กต่างจังหวัด แต่พอเข้ามาทำงานในเมืองกรุง เห็ดหาทานยากแถมมีราคาแพง ดังนั้นจึงเริ่มเพาะเห็ดกินเอง แต่แล้วมันไม่ง่ายอย่างที่คิด ทำให้ต้องศึกษาเรื่องเห็ดจริงจังพร้อมกับคิดค้นนำองค์ประกอบทางด้านอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นตัวช่วย จนกลายมาเป็นโรงเพาะเห็ดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีหลักการทำงานที่สำคัญในการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้สมดุลและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่เพาะเห็ด และเมื่อมีความรู้ตรงนี้ก็เริ่มเผยแพร่ให้แก่ผู้สนใจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ เอสเอ็มอี
“หลายคนซื้อเชื้อมาจากสวนจตุจักรนำมาเพาะ ส่วนใหญ่จะขึ้นรอบเดียวจากนั้นก็ไม่ขึ้นอีก ซึ่งในส่วนผู้บริโภคที่อยากปลูกเองเจอแบบนี้ก็ถอดใจ ส่วนของภาคธุรกิจที่ลงทุนซื้อเชื้อมาปริมาณมาก ๆ เพาะแล้วมันออกดอกแค่รอบเดียว ก็ไม่คุ้มค่าการลงทุน ดังนั้นตั้งแต่เริ่มโครงการวิจัยฯ มาจนถึงปัจจุบันนี้ จึงมีผู้เข้ามาศึกษา ขอคำแนะนำ รวมถึงใช้บริการติดตั้งโรงเพาะเห็ดอิเล็กทรอนิกส์ จำนวนมากถึงกว่า 100 ราย จากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ”
ทั้งนี้เพราะปัญหาทั่วไปที่พบในการเพาะเห็ด อันดับแรกเกิดจากความแปรปรวนของสภาพอากาศในแต่ละวัน เดี๋ยวร้อนแดดแรง เดี๋ยวก็มีฝนตก ทำให้การควบคุมอุณหภูมิและความชื้นซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเจริญเติบโตของเห็ดทำได้ยาก นอกจากนี้ปริมาณน้ำที่จะฉีดพ่นให้เหมาะสมกับชนิดของเห็ดก็ละเลยไม่ได้ ดังนั้นโรงเพาะเห็ดอิเล็กทรอนิกส์จึงตอบโจทย์ปัญหาทั้งหลายได้อยู่หมัด ด้วยคุณสมบัติที่ฝังอยู่ในสมองกลอิเล็กทรอนิกส์ของระบบควบคุมอัจฉริยะ มีลักษณะเป็นแผงวงจรที่ออกแบบให้ผู้ใช้สามารถกำหนดค่าอุณหภูมิและความชื้นได้เอง ตามความเหมาะสมของเห็ดแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็นเห็ดเมืองหนาว เช่น เห็ดออรินจิ เห็ดเข็มทอง เห็ดหอม เห็ดถั่งเฉ้า หรือ เห็ดเย็นชื้น เช่น เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดตระกูลนางรม เห็ดเป๋าฮื้อ เห็ดหลินจือ หรือ เห็ดร้อนชื้น เช่น เห็ดขอนขาว และเห็ดฟาง เป็นต้น
ผศ.ดร.ธีรยศ เวียงทอง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในฐานะผู้จัดทำระบบควบคุม เล่าว่า ระบบควบคุมจะสั่งงานตามสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงในโรงเรือนเพื่อปรับความชื้นและอุณหภูมิให้เหมาะสมกับเห็ดอยู่ตลอดเวลาและทันท่วงที พร้อมกัน
นี้ระบบสามารถตรวจสอบปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เห็ดคายออกมาและระบายก๊าซที่สะสมในโรงเรือนออกโดยอัตโนมัติ วิธีนี้จะช่วยให้ดอกเห็ดสมบูรณ์และมีปริมาณดอกมากขึ้น นอกจากนี้ระบบยังสามารถปรับปริมาณแสงและน้ำในโรงเรือนตามที่เห็ดแต่ละชนิดต้องการในการเจริญเติบโตแต่ละช่วง ซึ่งจะช่วยให้ดอกเห็ดที่ได้สวยงามและเห็ดออกดอกสม่ำเสมอ รวมถึงระบบควบคุมยังสามารถตั้งเวลาเปิดปิดอุปกรณ์ เพื่อความสะดวกในการเข้าไปเก็บผลผลิตตามเวลาที่ผู้ใช้กำหนด ทั้งนี้เพราะการเข้าไปอยู่ในโรงเพาะเห็ดเป็นเวลานาน ๆ อาจมีผลทางด้านสุขภาพจากสปอร์เห็ดที่กระจายอยู่ในโรงเรือน
สำหรับขนาดของโรงเพาะเห็ดอิเล็กทรอนิกส์ สามารถจัดทำขึ้นได้ตามความต้องการของผู้ใช้ ตั้งแต่ระดับปลูกกินเองในครัวเรือนจนถึงทำเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม บางบ้านสามารถใช้ตู้เสื้อผ้าเก่าที่เป็นโครงเหล็กสี่เหลี่ยมมีผ้าคลุมนำมาติดตั้งระบบควบคุมเข้าไปก็กลายเป็นโรงเพาะเห็ดอิเล็กทรอนิกส์ได้ไม่ยาก และใส่เห็ดได้เท่าที่ขนาดของตู้จะบรรจุไหว ทั้งนี้ไม่เพียงประโยชน์เรื่องความสะดวกในการเพาะเห็ดได้ตลอดทั้งปี ผลผลิตดี ลงทุนต่ำ ไม่ใช้สารเคมี สะอาดปลอดภัยกับผู้ปลูกและผู้บริโภค ในเรื่องรสชาติของเห็ดที่ผ่านโรงเพาะเห็ดอิเล็กทรอนิกส์ ก็ยังได้รสอร่อย ทั้งหอมและหวานตามรสชาติเห็ดแท้ ๆ สนใจทดลองชิมหรือเยี่ยมชมการทำงานโรงเพาะเห็ดฯ พร้อมพูดคุยเรื่องเห็ด ๆ กับ อาจารย์ประยูร ติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2988-3655 ต่อ 1128, 1127 และ 08-1807-2637.
ครบเครื่องเรื่องแคมปัส
คลิก อินไซด์แคมปัส dailynews.co.th online