การจามใส่หน้าทำเชื้อลามเร็ว ห้ามออกกำลังกายขณะป่วยทำเชื้อลงปอดเร็วและรุนแรง
การแพร่โรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ในไทยเข้าสู่ระยะที่ 3 คือแพร่กระจายทั่วประเทศ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กระจายยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ไปแล้ว
ขณะที่รัฐบาลวางมาตรการเพื่อป้องกันในหลายด้าน อาทิ แจกคู่มือการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ และแจกหน้ากากอนามัย
อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ข้อมูลของนักวิชาการพบว่า อาการของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 ขึ้นอยู่กับปริมาณของเชื้อไวรัสและภูมิต้านทานของแต่ละคน เช่น การที่มือสัมผัสกับเชื้อไวรัสตามลูกบิดประตู หรือสถานที่ต่างๆ เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายน้อยกว่าผู้ป่วยไอจามใส่หน้าโดยตรง จากข้อมูลของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงที่พบในไทย พบว่า ในปอดมีเชื้อโรคจำนวนมาก และเชื้อโรคลงในปอดส่วนล่างทำให้เกิดอาการปอดบวมรุนแรง
"ละอองฝอยของเชื้อโรคจากการไอ จาม จากผู้ป่วยเข้าสู่หน้าโดยตรงทำให้ได้รับเชื้อปริมาณมาก คำแนะนำทางการแพทย์คือ ควรไปล้างหน้าเท่านั้น เพราะการใช้ผ้าเช็ดหน้าเช็ดไม่ช่วยให้เชื้อโรคหายไป แต่หากเผลอนำแคะจมูก ขยี้ตา โอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายก็มีมากขึ้น"
การออกกำลังกายระหว่างที่เป็นไข้หวัดก็ยิ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อจากระบบทางเดินหายใจส่วนบนลงไปส่วนล่าง และทำให้โรคมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการออกกำลังกายจะทำให้หัวใจสูบฉีดโลหิตแลกเปลี่ยนออกซิเจนไปทั่วร่างกาย การสูดอากาศหายใจลึกในช่วงออกกำลังกาย จะทำให้เชื้อโรคที่อยู่บริเวณทางเดินหายใจส่วนบนลงลึกไปอยู่ในส่วนล่างมากขึ้นด้วย
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่มั่นใจมาตรการในการป้องกันการแพร่ระบาดของไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ว่า เฝ้าดูตัวเลขการแพร่ระบาดอยู่ตลอด และตั้งใจว่าจะรอดูอีก 1-2 วันเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น หลักในการบริหารคือทำอย่างไรจะสามารถชะลอการแพร่ระบาดของเชื้อได้ ซึ่งต้องดูว่าสถานการณ์และตัวเลขผู้เข้ารับการรักษาตัวในสถานพยาบาลเป็นอย่างไร ซึ่งได้ขอให้ สธ.
รายงานข้อมูลให้ตนทุกวัน สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องติดตามว่าหลังจากแพทย์จ่ายยาให้ผู้ติดเชื้อแล้ว มีปัญหาเรื่องดื้อยาหรือไม่ เพราะประสบการณ์ของไวรัสในลักษณะนี้ มีกรณีการกลายพันธุ์ หรือการระบาดรอบ 2 และรอบ 3 ที่รุนแรงกว่า จึงต้องจับตาดูเป็นพิเศษ
"การให้ยาของ สธ.ในช่วงที่ผ่านมา น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ทำให้ความเสี่ยงมีค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับหลายๆ แห่ง ซึ่งในต่างประเทศเริ่มมีแล้ว แต่ยังไม่มีการกลายพันธุ์ซึ่งต้องระวัง เพราะการเดินทางไปมาของคนยุคนี้มีมาก ส่วนเรื่องไข้หวัดที่ระบาดในหมู คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแนวทางไปแล้ว ก็ต้องเฝ้าระวังและเตรียมการให้ดีที่สุด แต่สำหรับวัคซีนและยาต้านในกรณีที่เกิดการกลายพันธุ์นั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้เชี่ยวชาญที่จะคิดค้นมาให้ทันกาล เพราะขนาดวัคซีนป้องกันการไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็ยังไม่เรียบร้อย"