เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Neale Cousland / shutterstock.com และ skyscrapercity.com
นับถอยหลังใน พ.ศ. 2558 10 ประเทศอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ก็จะมีการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียน หรือ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันในการสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมือง ความก้าวหน้าทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และเพื่อการเตรียมความพร้อมในการต้อนรับสู่ประชาคมอาเซียน เราคนคนไทยที่เป็นหนึ่งในประชาชนประชาคมอาเซียน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนรู้ และรู้จักกับประเทศสมาชิก ทั้งภาษา ประเพณี วัฒนธรรมต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและง่ายในการปรับตัวสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ซึ่ง วันนี้กระปุกดอทคอม ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับเมืองหลวงของ 10 ประเทศสมาชิกมาให้รู้จักกัน ว่าแล้วก็ตามไปทำความรู้จักกันเลยค่ะ
บรูไน
บันดาร์ เสรี เบกาวัน เมืองหลวงของประเทศบรูไน ก่อตั้งเมื่อคริสตศตวรรษที่ 8 (พุทธศตวรรษที่ 13) ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของแม่น้ำบรูไน มีพื้นที่ 1,395 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 1.4 แสนคน โดยมีชาวบรูไนกับมาเลย์เป็นประชากรหลัก และมีชาวจีนอาศัยเป็นชนกลุ่มน้อย
ด้านสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของเมืองบันดาร์ เสรี เบกาวัน มีมากมายหลายแนว แยกเป็นสถานที่สำคัญทางศาสนาก็ต้องไปที่ มัสยิดสุลต่าน โอมาร์ อาลี ไซฟัดดิน ซึ่งเป็นมัสยิดทองคำสไตล์อิตาลี หรือถ้าหากต้องการชมวิถีชีวิตคนที่นี่ ก็ต้องไปที่ หมู่บ้านริมน้ำ Kampong Ayer ติดแม่น้ำบรูไน ยาวกว่า 8 กิโลเมตร ที่แห่งนี้นับว่าถูกบรรจุเป็นมรดกโลก มีผู้อาศัยกว่า 3 หมื่นครัวเรือน และอายุมากกว่า 1 พันปีแล้ว
กัมพูชา
พนมเปญ เมืองหลวงของประเทศกัมพูชา ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง มีพื้นที่ 678 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 2,250,000 ล้านคน นับว่ามากที่สุดในกัมพูชา และเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศอีกด้วย
สำหรับประวัติกรุงพนมเปญ ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1372 (พ.ศ. 1915) และเป็นเมืองหลวงของกัมพูชา ก่อนที่จะย้ายเมืองไปย้ายเมืองมา เนื่องจากถูกรุกรานจากอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาและเวียดนามสลับกันโจมตี กระทั่งกัมพูชาเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศส ทำให้ ค.ศ. 1865(พ.ศ. 2408) ในยุคของพระเจ้านโรดมที่ 1 กรุงพนมเปญจึงถูกตั้งเป็นเมืองหลวงอีกครั้ง
อินโดนีเซีย
จาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่มีพื้นที่มากที่สุดในอาเซียน ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะชวา ติดทะเลชวา มีเนื้อที่ 740 กิโลเมตร มีประชากรประมาณ 10 ล้านคน และเป็นที่ตั้งของสำนักงานอาเซียนด้วย
สำหรับกรุงจาการ์ตา ก่อตั้งตั้งแต่ ค.ศ. 397 (พ.ศ. 940) และเป็นเมืองหลวงของอินโดนีเซียมาอย่างยาวนานตั้งแต่ก่อนเป็นอาณานิคมของเนเธอร์แลนด์จนถึงปัจจุบัน
สัญลักษณ์ที่สำคัญที่สุดของกรุงจาการ์ตา ได้แก่ อนุเสาวรีย์ประจำชาติอินโดนีเซีย (โมนาส) ซึ่งถือว่าเป็นอนุเสาวรีย์ที่สร้างโดยมีส่วนประกอบของทองคำ ในยุคของประธานาธิบดีซูการ์โน ผู้ประกาศเอกราชให้อินโดนีเซียปลดแอกจากเนเธอร์แลนด์ได้
ลาว
กรุงเวียงจันทน์ เมืองหลวงของลาว ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง และมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศไทย มีเนื้อที่ 3,920 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 7 แสนคน นับว่ามากที่สุดในประเทศ
เดิมนั้นลาวมีเมืองหลวงคือ หลวงพระบาง ทว่าในช่วง ค.ศ. 1563 (พ.ศ. 2106) เป็นต้นมา พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง ก็ได้ตั้งเวียงจันทน์เป็นเมืองหลวงแทน เพื่อหลีกหนีการรุกรานของพระเจ้าบุเรงนองแห่งอาณาจักรหงสาวดี
สำหรับสถานที่สำคัญของกรุงเวียงจันทน์ มีอยู่ 2 สถานที่ด้วยกัน ซึ่งถือว่าเป็นสถานที่ที่เป็นประวัติศาสตร์ของเมืองด้วย ได้แก่ หอพระแก้ว ซึ่งเป็นสถานที่ในการเก็บพระแก้วของลาว กับวัดพระธาตุหลวง เป็นวัดที่เป็นสัญลักษณ์ของลาว และสร้างพระธาตุหลวงด้วยทองคำ
มาเลเซีย
กรุงกัวลาลัมเปอร์ เมืองหลวงของมาเลเซีย ก่อตั้งประมาณ ค.ศ. 1850 (พ.ศ. 2393) มีเนื้อที่ประมาณ 243 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 1.6 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นเมืองที่มีประชากรมากสุดของประเทศ เมื่อมองทางด้านเชื้อชาติของผู้อาศัยในกรุงกัวลาลัมเปอร์ พบว่า เป็นชาวมาเลย์และชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ชาวอินเดียมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
สำหรับสัญลักษณ์ยุคใหม่ของกรุงกัวลาลัมเปอร์ ที่ใคร ๆ ก็รู้จัก คงหนีไม่พ้นตึกแฝดเปโตรนาสอย่างแน่นอน
พม่า
กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงแห่งใหม่ของพม่า ซึ่งย้ายมาจากกรุงย่างกุ้งมาตั้งแต่ พ.ศ. 2548 มีเนื้อที่ประมาณ 7,024 ตารางกิโลเมตร มีประชากรราว 9 แสนคน และเพิ่งเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวได้ในปีนี้ (พ.ศ. 2555) เอง
สำหรับการย้ายเมืองหลวงมายังกรุงเนปิดอว์ ยังไม่ทราบเหตุผลที่แน่ชัด แต่เท่าที่หลายฝ่ายวิเคราะห์ อาจจะเป็นเพราะต้องการตั้งเมืองหลวงในใจกลางประเทศ เพื่อยุทธศาสตร์ทางการทหาร ต่างจากย่างกุ้งที่อยู่ใกล้ทะเลมากเกินไป หรือไม่ก็ต้องการฟื้นฟูธรรมเนียมดั้งเดิม เมื่อมีการเปลี่ยนราชวงศ์ก็ต้องย้ายเมืองหลวง
เนปิดอว์ แม้ว่าจะเป็นเมืองที่สร้างใหม่ แต่ก็มีสถานที่ที่น่าสนใจ อาทิ อนุเสาวรีย์ 3 กษัตริย์พม่าได้แก่ พระเจ้าอโนรธา แห่งเมืองพุกาม พระเจ้าบุเรงนอง แห่งเมืองหงสาวดี และพระเจ้าอลองพญาแห่งชเวโบ กลางเมืองเนปิดอว์ นอกจากนี้ ยังจำลองเจดีย์ชเวดากองในเมืองอีกด้วย ชื่อว่า มหาเจดีย์อุปปตศานติ
ฟิลิปปินส์
กรุงมะนิลา เมืองหลวงของฟิลิปปินส์ ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1574 (พ.ศ. 2117) ตั้งอยู่บนเกาะลูซอน ริมอ่าวมะนิลา มีเนื้อที่ประมาณ 38.55 ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือว่าเล็กมาก มีประชากรประมาณ 1.6 ล้านคน
สำหรับสัญลักษณ์ของกรุงมะนิลา ได้แก่ อนุเสาวรีย์ไรซอล ที่สวนสาธารณะลูเนต้า ซึ่งอนุเสาวรีย์ดังกล่าว เป็นอนุเสาวรีย์ของโฆเซ่ ไรซอล บุคคลสำคัญที่ปลุกระดมให้ชาวฟิลิปปินส์สู้เพื่อปลดแอกจากสเปนได้ อย่างไรก็ตาม ไรซอลกลับถูกนำไปประหารเสียก่อน ก่อนที่จะเห็นความสำเร็จตัวเองในภายหลัง
สิงคโปร์
สิงคโปร์ เป็นประเทศเดียวที่ไม่มีเมืองหลวง เนื่องจากเป็นเกาะขนาด 710 ตารางกิโลเมตร จึงบริหารประเทศทั้งหมดเป็นรัฐเดียว มีประชากรราว 5 ล้านคน ก่อตั้งราวคริสตศตวรรษที่ 2 (พุทธศตวรรษที่ 7)
สำหรับสัญลักษณ์ที่สำคัญของสิงคโปร์ ย่อมหนีไม่พ้นเมอร์ไลอ้อน (สิงโตทะเล) ที่ตั้งอยู่ในเมือง มีหัวเป็นสิงโต ร่างเป็นปลา ยืนอยูบนยอดคลื่น สามารถพ้นน้ำออกมาได้
ไทย
กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงของไทย มีเนื้อที่ 1,568 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 5.6 ล้านคน นับเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย
กรุงเทพมหานคร มีอายุมาแล้วกว่า 230 ปี ก่อตั้งราวคริสตศตวรรษที่ 15 (พุทธศตวรรษที่ 20) มีสถานที่สำคัญอย่างวัดพระแก้ว สนามหลวงเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นพระบรมมหาราชวังของกษัตริย์ในต้นราชวงศ์จักรีมาก่อน มีสยามสแควร์ ตลาดนัดสวนจตุจักรเป็นสัญลักษณ์ของการช็อปปิ้ง และมีอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นจุดศูนย์กลางของการเดินทาง
เวียดนาม
ฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม มีพื้นที่ 3,344 ตารางกิโลเมตร ประชากรประมาณ 6.5 ล้านคน นับว่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศรองจาก โฮจิมินห์ ซิตี้ ถือว่าเป็นเมืองที่แปลกมาก เพราะโดยทั่วไปปกติเมืองหลวงมักเป็นเมืองที่มีประชากรมากสุด (ไม่นับเนปิดอว์ เพราะเป็นเมืองที่สร้างใหม่)
กรุงฮานอย ถูกสร้างเมื่อปี ค.ศ. 1010 (พ.ศ. 1553) และเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรไต้เวียด ก่อนที่จะใช้เมืองเว้ในช่วงราชวงศ์เหงียน และกลับมาใช้ฮานอยเป็นเมืองหลวงอีกครั้งในยุคที่เป็นอาณานิคมฝรั่งเศส หลัง ค.ศ. 1887 (พ.ศ. 2430) เป็นต้นไป ด้วยเหตุนี้จึงนับได้ว่า ฮานอยเป็นเมืองที่เก่าแก่ที่สุด เป็นเมืองหลวงเวียดนามเกือบพันปีเลยทีเดียว
ทั้งหมดนี้ คือ รายละเอียดของ 10 เมืองหลวงอาเซียนโดยสังเขป ซึ่งจะพบว่า แต่ละเมืองต่างมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง มีประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกันไป ทำให้รู้สึกว่าแต่ละเมืองมีเสน่ห์กันคนละแบบจริง ๆ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- phnompenh.gov.kh
- manila.gov.ph