ออร์เคสตร้าเด็กไทย กระหึ่มกำแพงเมืองจีน

"เด็กไทยมีความสามัคคีมาก ได้รับคำชมจากประเทศจีนในเรื่องการแต่งกายที่สุภาพดีเยี่ยม เป็นตัวอย่างที่ดีและมีมาตรฐาน"

คำบอกเล่าที่น่าชื่นใจจาก อาจารย์ช่อ แซ่โง้ว ผู้ฝึกสอนวงออร์เคสตร้าจีน มูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่า อุดรธานี ภายหลังการประกวดวงออร์เคสตร้าจีน "ไชน่า อินเตอร์เนชั่นแนล เทรดิชั่นแนล อินสทรูแมนทอล มิวสิค อาร์ต เฟสติวัล" ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีน เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา 

โดยวงดนตรีออร์เคสตร้าจีน มูลนิธิศาลเจ้า ปู่ ย่า อุดรธานี คว้าแชมป์การประกวดประเภทวง ในเพลงหนานเชียงเป่ยเตี้ยว ที่แสดงได้ดีเยี่ยมสวยงามและมีระเบียบ จากผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 11 วงในเมืองต่างๆ อาทิ ปักกิ่ง ชานโจว เทียนสิน เหอหนาน ชานตง และยังคว้ารางวัลชนะเลิศการประ กวดประเภทเดี่ยว ในเครื่องดนตรีขลุ่ยและขิมด้วย 

ไม่เพียงการเข้าร่วมและคว้ารางวัลการประกวดในเวทีดังกล่าว เด็กไทยยังมีโอกาสร่วมเฉลิมฉลองวันชาติจีน 1 ต.ค. ด้วยการแสดงดนตรีออร์เคส ตร้าอันยิ่งใหญ่กระหึ่มกำแพงเมืองจีน ตามคำเชิญของสถาบันพัฒนาดนตรีแห่งชาติจีน กระทรวงวัฒนธรรม ในบทเพลงเกอฉ่างจู่กั้ว หรือเพลงสดุดีมาตุภูมิ เป็นเพลงฉลองวันชาติจีน เพลงฉ่ายหวินจุ่ยเยียว บทเพลงที่แสดงถึงความสามัคคีของชาวจีน เพลงพระราชนิพนธ์สายฝน และเพลงสรรเสริญพระบารมี สร้างความประทับใจให้เยาวชนไทยเป็นอย่างยิ่ง

สำหรับวงออร์เคสตร้าจีน มูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่า อุดรธานี ประกอบด้วยผู้เล่น 120 คน จากเครื่องดนตรีจีนที่มีความหลากหลาย อาทิ กู่เจิง ขิม ซอเอ้อหู พิณหยดน้ำ ขลุ่ย แคนจีน ปี่ ฉาบ เชลโล ฯลฯ โดยเป็นการร่วมแรงร่วมใจร่วมบรรเลงจากเยาวชนในหลายโรงเรียนและมหาวิทยาลัยใน จ.อุดรธานี จ.ชลบุรี และกรุงเทพฯ

นอกจากนี้ยังร่วมกันปลูกต้นสนจีนที่บริเวณกำแพงเมืองจีนเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีของทั้งสองประเทศ รวมถึงการเยี่ยมชมสถานที่สำคัญในพระราชวังต้องห้าม (กู่กง) อีกด้วย 



นายปรีชา ชัยรัตน์ ประธานมูลนิธิศาลเจ้าปู่ ย่า อุดรธานี เปิดเผยว่า วงออร์เคสตร้าเกิดขึ้นเพื่อเป็นทางเลือกให้กับเด็กๆ นอกจากการเล่นกีฬา และยังเป็นการดึงเด็กๆ ออกจากยาเสพติด การเดินทางมาครั้งนี้รางวัลจากการแข่งขันคือสิ่งตอบแทน แต่สิ่งที่ได้ยิ่งใหญ่กว่านั้นคือโอกาสที่เด็กจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องดนตรีและประสบการณ์จากเจ้าของเครื่องดนตรีอย่างแท้จริง 

ด้านผู้ฝึกสอน อาจารย์ช่อ แซ่โง้ว วัย 40 ปี ศิลปินแห่งชาติสถาบันพัฒนาดนตรีแห่งชาติจีน กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งได้รางวัลผู้สอนดีเด่นในการประกวดครั้งนี้ เล่าให้ฟังถึงการฝึกซ้อมเด็กไทยว่า เด็กไทยไม่แพ้ชาติไหนในโลก ถ้าเด็กได้ลองเล่น ได้ฟังเสียงเครื่องดนตรีจะเกิดความรักในเครื่องดนตรีและอยากเล่นให้ได้ นักเรียนที่เข้ามาไม่จำเป็นต้องเป็นคนจีน เพียงมีใจรักในดนตรีและอยากเล่นจริงๆ การเล่นเป็นวงออร์เคสตร้าจะฝึกในเรื่องการตรงต่อเวลา มารยาทและการอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ กว่า 100 คนได้ 

"การประกวดที่เมืองจีนครั้งนี้รู้สึกพอใจมาก จุดเด่นของเด็กไทยคืออายุน้อยกว่า เวลาเล่น มีความสามัคคีมาก และเด็กยังได้รับความรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ดนตรีจีนซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่เขาเล่น จะทำให้เด็กรักในดนตรีมากขึ้น" 

มาที่นักดนตรีเยาวชนไทย ด.ช.กนกพงศ์อู๋ หรือ น้องอู๋ วัย 13 ปี นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนชลราษฎรอำรุง จ.ชลบุรี นักดนตรีซอ เอ้อหู บุตรชายของอาจารย์ช่อ ซึ่งพูดภาษาจีนแต้จิ๋วได้เล็กน้อย เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ได้ยินเสียงของซอเอ้อหูก็รู้สึกอยากจะเล่นขึ้นมาเอง และเป็นครั้งแรกที่ได้มาประกวดหลังจากฝึกซ้อมมาหลายปี ดีใจที่มีโอกาสมาเล่นดนตรีจีนที่กำแพงเมืองจีน การเล่นดนตรีเป็นวงใหญ่ทำให้เรามีระเบียบวินัย ต้องเคารพผู้อื่น ที่สำคัญรู้สึกมีความสุขทุกครั้งเมื่อได้เล่น

ด้าน นายวีรวัฒน์ แสงทองส่งสกุล หรือ น้องกาย วัย 15 ปี นักเรียนชั้นม.3 โรงเรียนอุดรวิทยา จ.อุดรธานี นักดนตรีกู่เจิง เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเล่น กู่เจิงว่า เกิดจากความประทับใจในการทรงดนตรีของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จากข่าวสารต่างๆ ซึ่งมีความงดงามทั้งท่าทางและเสียงของเครื่องดนตรีเป็นอย่างมาก ทำให้อยากเล่นดนตรีชนิดนี้



"กู่เจิงเสียงเหมือนน้ำไหล ลีลาในการเล่นสวยงาม อนาคตอยากจะเล่นและศึกษาเรื่องกู่เจิงไปเรื่อยๆ หากมีโอกาสอยากชื่นชมพระอัจฉริยภาพ ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี อย่างใกล้ชิด รวมทั้งอยากเป็นลูกศิษย์ของพระองค์ท่านด้วย" น้องกายกล่าว

ด้านเด็กน้อยคนเก่งวัย 10 ขวบ น้องปริม ด.ญ.นภัสสร จันทโคตร นักดนตรีขิม ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นป.4 โรงเรียนอุดรวิทยา จ.อุดรธานี บอกเล่าเสียงใสว่า "ตอนนี้เล่นได้ 9 เพลง ทั้ง เพลงไทยและเพลงจีน ได้มีโอกาสมาแข่งขันครั้งนี้ รู้สึกดีใจและตื่นเต้นมาก คุณแม่บอกวิธีทำให้หายตื่นเต้นด้วยการหายใจลึกๆ 3 ครั้งค่ะ มาครั้งนี้ยังได้ไปเที่ยวพระราชวังต้องห้ามที่ดูยิ่งใหญ่และสวยงามมากค่ะ" 



ส่วน น้องธันนี่ น.ส.ธัญสินี ฤกษ์ขวัญยังมี อายุ 16 ปี นักเรียนชั้นม.5 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ นักดนตรีซอเอ้อหู บอกว่า แรกเริ่มอยากมีความสามารถพิเศษ และชอบอ่านประวัติศาสตร์จีน จึงเลือกเรียนดนตรีจีน และได้มีโอกาสคัดเลือกเพื่อมาประกวด 

"ดีใจที่ได้เห็นเจ้าของเครื่องดนตรีจีนเล่นดนตรีของตัวเอง ทำให้เห็นว่าเพื่อนจากประเทศจีนเล่นได้เก่งมากๆ อนาคตอยากพัฒนาตัวเองให้เก่งกว่านี้อีกค่ะ 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...