เฟลิกซ์ บอมการ์ตเนอร์ นักท้ามฤตยูชาวออสเตรีย ต้องยกเลิกภารกิจการสร้างสถิติดิ่งพสุธาจากขอบอวกาศวานนี้ (9 ต.ค.) เนื่องจากสภาพอากาศไม่เป็นใจ
สภาพลมแรงเหนือท้องฟ้าเมืองรอสเวล รัฐนิวเม็กซิโก ของสหรัฐฯ ทำให้นายบอมการ์ตเนอร์ไม่สามารถนำบอลลูนที่ภายในบรรจุก๊าซฮีเลียมขึ้นสู่ขอบอวกาศในระดับความสูง 36.5 กม.ได้ ขณะที่สำนักงานอุตุนิยมวิทยาท้องถิ่นเผยว่า วันพฤหัสบดีนี้ (11 ต.ค.) จะเป็นวันที่ดีที่สุดในการสร้างสถิติ
เฟลิกซ์ บอมการ์ตเนอร์ นักดิ่งพสุธาชื่อดัง หวังจะเป็นมนุษย์คนแรกที่สามารถทะลุผ่านกำแพงเสียง (sound barrier) โดยที่ไม่มียานพาหนะใดๆช่วย แต่เนื่องจากความเบาบางของอากาศที่ชั้นบรรยากาศ ในระดับความสูง 36,500 เมตร เขาจำเป็นต้องเร่งความเร็วในทันทีที่เขากระโดดออกจากแคปซูลที่ติดกับบอลลูน
ผลการคำนวณชี้ว่า เขาต้องทำความเร็วให้ได้ถึง 1 มัค หรือเท่ากับที่วัตถุวิ่งด้วยความเร็วเสียง ที่ราว 1,110 กม.ต่อชม. ในระดับความสูงเป้าหมาย ภายใน 40 วินาที
นายบอมการ์ตเนอร์ จะโดยสารภายในแคปซูลบอลลูนขนาดยักษ์บรรจุก๊าซฮีเลียมขึ้นไปสู่ระดับความสูง ที่ 36,500 เมตร หรือเกือบชิดขอบอวกาศ ก่อนกระโดดทิ้งตัวดิ่งลงมากลับเข้าสู่โลก โดยสวมชุดป้องกันแบบพิเศษที่ต้านทานแรงเสียดสี ช่วยควบคุมแรงดันภายในร่างกายและแบกถังออกซิเจนสำหรับช่วยหายใจ
ภารกิจซึ่งใช้ชื่อว่า Red Bull Stratos นี้ รวบรวมทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์การบินและอวกาศ วิศวกรรม ไว้จำนวนมาก เพื่อร่วมพัฒนาชุดความดันสร้างแคปซูลและการประดิษฐ์บอลลูน กว่า 100 คน และมีศูนย์บัญชาการในฐานปล่อยจรวดในเมืองโรสเวล รัฐนิวเม็กซิโก โดยแคปซูลอวกาศจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมง สำหรับพาบอมการ์ตเนอร์ขึ้นไปยังขอบอวกาศ และหากทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น การดิ่งพสุธาจะใช้เวลาราว 15-20 นาที ก่อนที่เขาจะกางร่ม และเมื่อกางร่มแล้ว ก็จะใช้เวลาอีกราวๆ 10-15 นาที สำหรับการลงสู่พื้น
เดิมปฏิบัติการท้ามฤตยูกำหนดไว้ในวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่ก็ถูกเลื่อนออกมาอีก 24 ชั่วโมง เนื่องจากสภาพอากาศที่ไม่เป็นใจ กระทั่งเช้าวันอังคาร สภาพอากาศยังไม่คลี่คลาย ทำให้ฝ่ายจัดตัดสินใจเลื่อนอีกครั้ง เนื่องจากบอลลูนดังกล่าวมีข้อจำกัดหลายประการ อาทิ ความเร็วลมบริเวณพื้นถึงระดับความสูง 250 เมตร จะต้องไม่เกิน 5 กม.ต่อ ชม. มิฉะนั้นอาจมีโอกาสที่บอลลูนจะฉีกขาดได้ง่ายในช่วงปล่อย
อย่างไรก็ดี แม้สภาพอากาศบริเวณพื้นผิวจะค่อนข้างสงบในช่วงเวลาปล่อย แต่ความเร็วลมในระดับความสูง 215 เมตรกลับมีความแปรปรวนจนต้องประกาศยกเลิกภารกิจกลางคัน
รายงานข่าวระบุว่า บอมการ์ตเนอร์ 43 ปี และทีมงานใช้เวลาฝึกซ้อม เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับปฏิบัติการท้ามฤตยูครั้งนี้นานกว่า 5 ปี ขณะเดียวกัน ตามแผนที่วางเอาไว้ บาว์มการ์ตเนอร์ จะกระโดดแบบเหินเวหาลงมาก่อนจะกระตุกร่ม ณ ความสูง 5,000 ฟุต และจะค่อยๆ ลอยลงสู่พื้นอย่างปลอดภัย