เกิดข้อถกเถียงมาโดยตลอดสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย ซึ่งในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีท่าทีในการเตรียมแหล่งพื้นที่ สำรวจที่ตั้งโรงงาน ตรวจสอบด้านธรณีวิทยา จัดหาแหล่งน้ำเพื่อใช้ในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ หาพื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์
แต่แน่นอนย่อมเกิดเสียงต้านจากประชาชน กลายเป็นม็อบจากชาวบ้านที่คัดค้านไม่ให้ดำเนินการใดๆ โดยขอให้มีการทำประชาพิจารณ์ หาผลดี ผลเสียที่เกิดขึ้น อีกทั้งการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ สร้างความหวาดวิตก และเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย หากเกิดวิกฤติการณ์เหมือนเช่นที่ประเทศญี่ปุ่น
ทำไมต้องสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งประโยชน์ ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถือว่าเป็นเชื้อเพลิงราคาถูก อีกทั้งเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพและมั่นคง สามารถเดินเครื่องได้โดยไม่ต้องปิดเครื่องนานถึง 18-24 เดือน จึงทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 6 กรัมต่อหน่วย ซึ่งต่ำกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินถึง 130 เท่า
เพราะนับวัน มนุษย์ยิ่งมีการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และกลายเป็นปัจจัยสำคัญมากที่สุดสำหรับการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งการสื่อสาร คมนาคม การศึกษาและการมีส่วนร่วมในทุกๆ กิจกรรม
อย่างไรก็ตาม นายวิรัช กาญจนพิบูลย์ รองผู้ว่าการบริหาร กฟผ.ได้กล่าวไว้ว่า จะยังคงเดินหน้าให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม กับชุมชนเพื่อที่จะได้รับข้อมูลอย่างถูกต้องและรอบด้าน
แม้ว่าตอนนี้การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในไทยจะยังต้องรอต่อไปอีก เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้มีมติเลื่อนการก่อสร้างโรง ไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งจากเดิมจะสร้างใน ปี 2566 มาเป็น ปี 2569 ก็ตาม
ขณะเดียวกัน ความเคลื่อนไหวการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับเกิดขึ้นในประเทศเพื่อน บ้านอย่าง กัมพูชา ซึ่งมีการเดินหน้าศึกษาการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกาะกง เนื่องจากมีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของกัมพูชา รวมไปถึงเวียดนามที่กำลังมีแผน สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ 2 โรง
สิ่งที่เพื่อนบ้านกำลังเดินไปข้างหน้า กับโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะเดินมาถูกทางหรือไม่ ต้องถามความเห็นจากคนไทยบางส่วนที่คัดค้าน ว่าประเทศไทยจะเดินหน้า หรือดำเนินการอย่างไรกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ที่มา : MThai