ปอกเปลือกชีวิต แรงงานไทยในมาเก๊า ค่าเช่า(ห้อง)ที่ต้องจ่าย รายได้ที่ต้องหา-ภาษาที่ต้องรู้

 

โฉมหน้าของ "เกาะมาเก๊า" ในวันนี้ ยังคงรักษาเอกลักษณ์ของการเป็น "เมืองท่าแห่งกาสิโน" ไว้ได้อย่างเหนียวแน่น และสิ่งนี้เองได้นำไปสู่ความเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตบนเกาะมาเก๊า เห็นได้จากการที่มีโรงแรมใหม่ๆ จำนวนมากผุดขึ้นมาราวกับดอกเห็ดทั่วทั้งเกาะ บนพื้นที่ประมาณ 29.5 ตารางกิโลเมตร และไม่ว่าจะมองไปทางใดก็จะเห็นแต่พื้นที่ที่กำลังถมดิน พร้อมกับกองทัพเครื่องจักร รถยกต่างๆ จำนวนมากที่ระดมกำลังกันตอกเสาเข็มเพื่อเตรียมสร้างโรงแรมขนาดใหญ่สไตล์พระราชวัง 

มาเก๊ามีความต้องการแรงงานในภาคก่อสร้างและบริการจำนวนมาก เพื่อรองรับการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต แรงงานชาวต่างชาติหลายหมื่นคนจึงไหลทะลักเข้าไปที่นั่น ไม่เว้นแม้กระทั่งแรงงานไทย

 


ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน ที่ได้สำรวจสถิติแรงงานต่างชาติในมาเก๊า ปี 2554 ระบุว่า มีแรงงานฟิลิปปินส์ 13,375 คน เวียดนาม 8,116 คน อินโดนีเซีย 4,293 คน ไทย 800-1,000 คน โดยส่วนใหญ่จะทำงานภาคบริการในธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร เช่น พนักงานต้อนรับในโรงแรม ช่างซ่อมฝ่ายอิเล็กทรอนิกส์ พนักงานทำความสะอาด ผู้ช่วยแม่บ้าน และเด็กเสิร์ฟ 

ที่นี่...ชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานไทยส่วนใหญ่จะอาศัยเช่าอพาร์ตเมนต์อยู่รวมกับเพื่อนๆ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งจากการพบปะพูดคุยกับแรงงานไทยกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์ย่านเขตไทป้า

 

"สมชาย" (นามสมมุติ) ช่างซ่อมฝ่ายอิเล็กทรอนิกส์โรงแรมเชอราตัน วัย 42 ปี เล่าว่า เป็นชาว จ.นครราชสีมา จบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์ เพิ่งทำงานที่มาเก๊าได้ 2 เดือน โดยมี กกจ.ประสานงานให้และทำสัญญาจ้างงานกับโรงแรมแบบปีต่อปี ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 8 ชั่วโมง มีรายได้เดือนละ 10,000 เหรียญดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 40,000 บาท 

"ครั้งแรกที่ไปถึงมาเก๊า ผมประสบปัญหาเรื่องการหาที่พัก แม้ว่าโรงแรมเชอราตันจะให้พักฟรีได้ 7 วัน แต่ก็ไม่สามารถหาที่พักได้ทันตามกำหนด เนื่องจากอัตราค่าที่พักในมาเก๊ามีราคาสูงและเพิ่มค่าเช่าทุกปี รวมทั้งค่าเอเยนต์หาห้องพักราคาแพงมาก ประมาณค่าเช่าห้อง 1 เดือน ปัจจุบันค่าเช่าห้องเดือนละ 6,800 เหรียญ หรือประมาณ 27,200 บาท ซึ่งปีที่ผ่านมาห้องพักราคาเพียง 5,000 เหรียญ หรือ 20,000 บาท ก่อนเข้าไปอยู่จะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าเป็นค่าเช่าห้องและค่ามัดจำประมาณ 4 เท่าของค่าเช่า 1 เดือน ถ้าอยู่คนเดียวก็ไม่คุ้มกับเงินเดือนที่ได้รับ จึงต้องหาเพื่อนไปร่วมแชร์ค่าห้อง เพื่อให้ค่าที่พักถูกลง ปัจจุบันห้องพักอยู่กัน 4 คน เฉลี่ยจ่ายค่าที่พักคนละ 2,000 เหรียญ แต่ปัญหาคือ สภาพห้องไม่เอื้ออำนวย ต้องเบียดเสียดกันอยู่ในห้องแคบๆ พื้นที่ไม่กี่ตารางเมตรเท่านั้น"

สมชายยังเล่าอีกว่า ในช่วงแรกอาจจะต้องมีการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับเพื่อนร่วมห้องพัก และเพื่อนร่วมงานซึ่งมีหลายเชื้อชาติ แต่ส่วนตัวแล้วรู้สึกโชคดีที่มีนายจ้างดี โดยเฉพาะหัวหน้าแผนกชาวสิงคโปร์ เนื่องจากเมื่อครั้งที่มาอยู่แรกๆ เขาให้ยืมเงินไปมัดจำค่าที่พัก ให้และให้ยืมข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นด้วย นอกจากนี้ โรงแรมยังมีสวัสดิการรถรับส่ง อาหารฟรี 3 มื้อ และบริการซักชุดทำงานให้พนักงานด้วย 

"ค่าใช้จ่ายที่มาเก๊าทุกอย่างประมาณ 4 เท่าของเมืองไทย เช่น ข้าวกล่องละ 28 เหรียญ น้ำดื่มขวดละ 15 เหรียญ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปซองละ 4 เหรียญ แต่ถ้าเก็บเงินแล้วส่งเงินกลับไปเมืองไทย จะทำให้คนที่บ้านสามารถใช้เงินได้ถึง 4 เท่า ผมจึงเก็บเงินไว้ใช้จ่ายเพียงเดือนละ 2,000 เหรียญ ส่วนเงินที่เหลือก็ส่งกลับบ้านทั้งหมด" สมชายกล่าว และว่า ก่อนไปมาเก๊า ว่างงานอยู่ถึง 2 ปี ไม่มีใครรับเข้าทำงานเพราะอายุ 40 ปีเศษ แต่นายจ้างมาเก๊าไม่เหมือนนายจ้างไทย ดูที่ประสบการณ์และทักษะความสามารถในการทำงาน ต่อให้พนักงานอายุ 50-60 ปี หากยังทำงานได้ แม้ว่าจะมีเจ้านายอายุน้อยกว่าก็ยังจ้าง 

ส่วน นิโยบล เจริญชัย หรือตูม แม่บ้านโรงแรมเดอะเวเนเชี่ยน มาเก๊า วัย 34 ปี ชาว จ.หนองคาย เล่าว่า เรียนจบชั้น ม.3 และเคยทำงานเป็นแคดดี้สนามกอล์ฟ จ.ฉะเชิงเทรา มาก่อน ทำให้มีความรู้ภาษาอังกฤษติดตัวบ้าง จึงคิดลองไปทำงานต่างประเทศ ซึ่งมาเก๊าเป็นที่แรก เพิ่งอยู่ได้ประมาณ 20 วัน ได้รับค่าจ้างเดือนละ 7,500 เหรียญ หรือ 30,000 บาท ทำงานสัปดาห์ละ 6 วัน วันละ 8 ชั่วโมงเช่นกัน โดยบริษัทให้สวัสดิการด้านอาหาร 24 ชั่วโมง มีรถรับส่งถึงที่พัก และยังมีบริการซักรีดชุดพนักงานให้ด้วย 

"อยู่มาเก๊ามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละหมื่นกว่าบาท แยกเป็นค่าเช่าห้องที่ต้องแชร์กับเพื่อน 6 คน คนละ 5,000 บาท ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 5,000 บาท และตั้งใจส่งเงินกลับบ้านเดือนละ 10,000 บาท" ตูมกล่าว

และว่า คนไทยที่จะไปทำงานมาเก๊า ควรจะมีทักษะภาษาอังกฤษและภาษาจีนกวางตุ้ง เพื่อจะได้สื่อสารกับหัวหน้างานและเพื่อนร่วมงานได้ง่าย ที่สำคัญ...ควรมีเงินสำรองติดตัวไปอย่างน้อย 30,000-40,000 บาท เพื่อเป็นค่าเช่าที่พักและมัดจำล่วงหน้า 3 เดือน เนื่องจากที่นี่มีปัญหาเรื่องที่พักราคาค่อนข้างสูง 

เสียงครวญเรื่องค่าที่พักมหาโหดนี่ จึงเป็นที่มาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน "เผดิมชัย สะสมทรัพย์" ซึ่งเพิ่งกลับจากเดินทางไปตรวจเยี่ยมแรงงานไทยในมาเก๊ามีไอเดียที่จะลงทุนจัดสร้างที่พักอาศัยให้กับแรงงานงานไทยในมาเก๊า ส่วนผลจะออกมาเป็นเช่นไรนั้น ต้องติดตามตอนต่อไป!

 

ที่มานสพ.มติชน

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...