เมื่อวันที่ 5 ต.ค. นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รมว.พลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนา “พลังงานไม่ขาดแคลน : โลจิสติกส์ไทยก้าวหน้า” ว่า สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรี ของประเทศกัมพูชา แสดงความสนใจที่จะสร้างโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่บริเวณ เกาะกง เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศกัมพูชา ที่ปัจจุบันใช้ไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันมาผลิต ทำให้มีต้นทุนที่สูง ซึ่งการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของกัมพูชาอยู่ระหว่างว่าจ้างที่ปรึกษาในประเทศยุโรป ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้
“ในการประชุมรมว.พลังงานอาเซียน ที่ กรุงพนมเปญ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทุกคนตกใจที่ สมเด็จฮุนเซ็น ประกาศจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะไม่เคยมีการพูดถึงเรื่องนี้มาก่อน โดยเฉพาะที่เกาะกง ซึ่งใกล้กับประเทศไทยมาก หากมีปัญหาก็ต้องกระทบกับประเทศไทยแน่นอน แต่เชื่อว่าเทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เข้าสู่ยุคที่ 3-4 แล้วซึ่งเรื่องความปลอดภัยต้องมาก่อน คนละกรณีกับกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิม่าของญี่ปุ่น ที่แยกระบบทำความเย็นออกไป เพราะเป็นการพัฒนาในยุคแรกๆ ทำให้ได้รับผลกระทบจากสึนามิ” นายอารักษ์ กล่าว
นายอารักษ์ กล่าวต่อว่า ในภูมิภาคอาเซียน มีประเทศที่พร้อมจะเดินหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ นอกจากกัมพูชาแล้ว ยังมีประเทศเวียดนาม ซึ่งมีการกำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ประเทศสร้างโรงไฟฟฟ้า 2 แห่ง กำลังผลิต 2,800 เมกะวัตต์ ทำให้ไทยต้องกลับมาทวนแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ความมั่นคงตามพลังงาน ที่รัฐบาลเพื่อไทยได้กำหนดนโยบายไว้ ซึ่งตามแผนพีดีพีฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ได้ชะลอเรื่องนี้ออกไป แต่ไม่ได้หมายความว่าจะยุติ เนื่องจากต้องมีการศึกษาเตรียมพร้อมไว้ หากมีความจำเป็นก็ทำได้ทันที อย่างไรก็ตามเรื่องทั้งหมดต้องมีการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจด้วย
นายอารักษ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ที่เกาะกง ยังมีส่วนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเช่นกัน โดยเป็นการชักชวนบริษัทไทยไปลงทุน สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังการผลิต 1,800 เมกะวัตต์ ซึ่ง บมจ.ราชบุรี โฮลดิ้ง ร่วมทุนกับ บริษัท เกาะกง ซีบอร์ด ของกัมพูชา อยู่ในขั้นตอนดำเนินการ แต่ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพราะระบบโลจิสติกส์ ท่าเรือขนส่ง รวมถึงสายส่งไฟฟ้าต่างๆ ยังไม่มีความพร้อม.