ฮือฮาอีก! ราชบัณฑิตรวมศัพท์โจ๋-คำแสลง "กินตับ-เกรียน-เมาธ์มอย-กาก-จัดเต็ม" กว่า1พันคำ เสร็จปลายปี

 

ฮือฮา! ′ราชบัณฑิตยสถาน′ เตรียมพิมพ์พจนานุกรมคำใหม่เล่ม 4 ออกเผยแพร่ปลายปีนี้ รวมกว่า 1 พันคำศัพท์ใหม่-ศัพท์วัยรุ่น-คำสแลง ทั้ง ′กินตับ-จัดหนัก-กากๆ-เม้าธ์มอย-เกรียน′

ความคืบหน้ากรณีกองศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสถาน กำลังสำรวจความคิดเห็นจากคณะกรรมการราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมประมาณ 300 ชุด เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการเขียนคำที่ยืมจากภาษาอังกฤษใหม่ จำนวน 176 คำ ที่ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 เนื่องจากเขียนไม่ตรงกับเสียงวรรณยุกต์ของคำนั้นๆ ตามอักขรวิธีไทยและการอ่านออกเสียง โดยหากเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยก็จะนำไปบรรจุในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แต่ล่าสุดราชบัณฑิตยสถานได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า จะไม่มีการแก้ไขในพจนานุกรมฉบับ ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ที่กำลังจัดพิมพ์ รวมทั้งยังไม่มีมติให้แก้ไขรูปแบบการเขียนคำดังกล่าวนั้น

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม น.ส.กนกวลี ชูชัยยะ เลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า การจะแก้ไขการเขียนคำที่ยืมมาจากภาษาอังกฤษดังกล่าว ถือเป็นเรื่องใหญ่ ต้องมีกระบวนการอีกหลายขั้นตอน จุดนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น ขั้นตอนขณะนี้เพิ่งเริ่มรับฟังความคิดเห็นจากคนภายในองค์กรเท่านั้น หากจะมีการเปลี่ยนแปลงอะไรจริงๆ คงต้องเปิดรับฟังความเห็นของคนภายนอกองค์กรด้วย ดังนั้น ขอยืนยันว่าในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ จะไม่มีการนำศัพท์ทั้ง 176 คำไปบรรจุแน่นอน เพราะกระบวนการจัดพิมพ์ได้ส่งต้นฉบับไปยังโรงพิมพ์เรียบร้อยแล้ว 

นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า เท่าที่ดูสังคมในภาพรวมอาจจะยังไม่เห็นด้วยกับราชบัณฑิตที่จะเปลี่ยนศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาอังกฤษใหม่ดังกล่าว และโดยส่วนตัวเห็นว่าคนไทยมีความเคยชินกับคำศัพท์ที่ยืมมาจากภาษาอังกฤษอยู่แล้ว และสามารถออกเสียงได้ถูกต้อง แม้จะเขียนไม่ตรงตัวสะกด แต่ก็เข้าใจความหมาย ดังนั้น เรื่องการช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องนี้คงต้องขอคิดดูก่อน จะให้ทีมงานศึกษารายละเอียดเรื่องนี้อย่างรอบด้านอีกครั้ง 

นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า การทำประชาพิจารณ์เรื่องคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษของราชบัณฑิตนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมจะเข้าไปเป็นเจ้าภาพร่วมด้วยในลักษณะการให้ใช้ทรัพยากรของ สพฐ. เช่น ให้นักวิชาการ ข้าราชการของ สพฐ.เข้าไปร่วม เป็นต้น 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เฟซบุ๊กของราชบัณฑิตย สถานได้อัพโหลดแถลงการณ์ราชบัณฑิตยสถานลงนามโดยเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน เรื่อง "ราชบัณฑิตยสถานยืนยันไม่แก้คำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554" โดยมีใจความสำคัญว่า ตามที่มีประชาชนจำนวนมากแสดงความห่วงใยเรื่องรูปแบบการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ผ่านสื่อต่างๆ นั้น ราชบัณฑิตยสถานขอชี้แจงว่า ราชบัณฑิตยสถานได้ถือหลักการเขียนคำในภาษาต่างประเทศ ตามพระดำริของพลตรีพระ เจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ อดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน ว่า การเขียนคำในภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษออกเสียงไม่แน่นอน จะออกเสียงอย่างไรย่อมแล้วแต่ประโยค เสียงจะสูงต่ำก็แล้วแต่ตำแหน่งของคำในประโยค จึงทรงเห็นว่าไม่ควรใช้วรรณยุกต์ กำกับ

แถลงการณ์ระบุต่อไปว่า นางกาญจนา นาคสกุล ในฐานะราชบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย ได้เสนอขอให้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการเขียนคำยืมจากภาษาอังกฤษ โดยแนะให้ใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์หรือใช้อักษรสูง หรือใช้ "ห" นำในคำที่ไม่สามารถผันวรรณยุกต์ได้ ราชบัณฑิตยสถานจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดแนวทางการเขียนคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ เพื่อพิจารณาเรื่องที่นางกาญจนาเสนอ โดยคณะกรรมการได้มีมติให้ออกแบบสอบถามราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก และกรรมการวิชาการของราช บัณฑิตยสถาน เพื่อรับฟังความคิดเห็นเฉพาะภายในองค์กรให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ และจะนำเสนอที่ประชุมสภาราชบัณฑิตในวันที่ 12 ธันวาคม ทั้งนี้ ผลการรับฟังความคิดเห็นภายในองค์กรไม่ว่าจะมีผลอย่างไร ไม่ใช่ข้อยุติ การแก้ไขคำยืมจากภาษาอังกฤษ ซึ่งใช้ในทางราชการ ทางการศึกษามาเป็นเวลานาน หากมีการเปลี่ยนแปลงย่อมมีผลกระทบสำคัญต่อการใช้ภาษาไทยของหน่วยงานราชการ นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ดังนั้น จะไม่มีการแก้ไขคำยืมจากภาษาอังกฤษในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิมพ์ และจะเสร็จพร้อมแจกให้กลุ่มเป้าหมายในต้นปี 2556

ด้านนางกาญจนากล่าวว่า ขณะนี้มีหลายคนออกมาคัดค้านกับการเสนอแก้การเขียนคำศัพท์ที่ยืมมาจากคำภาษาอังกฤษ ซึ่งตนอยากทราบเหตุผลว่าทำไมถึงค้าน เอาเหตุผลที่แท้จริง อย่าพูดแต่อารมณ์หรือว่าค้านอย่างเดียวโดยไม่ชี้แจง ส่วนเหตุผลที่หลายคนถามว่าทำไมถึงไม่เปิดรับความคิดเห็นจากคนภายนอกและคนทั่วประเทศด้วยนั้น การดำเนินการเรื่องนี้ได้เริ่มจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ส่วนคนภายนอกก็อยากทำ แต่ยังไม่มีงบประมาณ แต่ถ้าใครต้องการให้ทำ ตนก็พร้อมรับฟังข้อเสนอ อย่างไรก็ตาม ตนยังมองว่าคำต่างๆ ควรมีการแก้ไขให้ถูกต้อง 

นางกาญจนาเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ทางราชบัณฑิตยสถานและคณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมคำใหม่ กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมคำศัพท์ใหม่ ศัพท์วัยรุ่นที่ทันยุคสมัย และคำสแลง รวมถึงสำนวนที่ใช้จนติดปากกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่ยังไม่ได้บรรจุอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 รวมทั้งคำศัพท์ที่บรรจุไว้ในพจนานุกรมแล้ว แต่ยังไม่มีคำอธิบายและยกตัวอย่างที่แสดงถึงวิธีการใช้คำศัพท์ที่ถูกต้องและชัดเจน ทั้งนี้ การจัดทำพจนานุกรมคำศัพท์ใหม่เล่มที่ 4 นี้ ก็เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลคำใหม่ต่างๆ และบันทึกคำเหล่านี้ไว้เป็นหลักฐานแสดงการเกิดและการเปลี่ยนแปลงของคำที่ใช้ในสังคมไทย อันจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในเรื่องที่มาของคำในอนาคต ที่สำคัญจะเป็นคู่มือภาษา โดยเฉพาะวัยรุ่นที่ต้องการทราบความหมายของคำศัพท์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งในอดีตไม่มีการเก็บบันทึกคำศัพท์ที่เกิดใหม่ในแต่ละยุคสมัยไว้ จนทำให้คำใหม่สูญหายไปจากสังคม ดังนั้น การบันทึกคำใหม่จึงเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเจริญก้าวหน้าทางภาษาได้อย่างดี

นางกาญจนากล่าวว่า เบื้องต้นคำที่ได้คัดเลือกเพื่อบรรจุลงในพจนานุกรมคำศัพท์ใหม่เล่มล่าสุด มีอาทิ "กรรมสะสมไมล์" เป็นการเปรียบเทียบคนที่ชอบทำบาปกรรมว่าเป็นการสะสมไมล์ เหมือนที่สายการบินให้ลูกค้าสะสมไมล์เมื่อเดินทาง, "กระบือบำบัด" คำนี้มาจากโครงการใช้ควายบำบัดเด็กออทิสติกจนประสบความสำเร็จ, "กองร้อยน้ำหวาน" หรือตำรวจจราจรหญิงในยุคบุกเบิก เป็นกองกำลังหนึ่งของกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน กองบัญชาการตำรวจนครบาล, "กอดเสาเข่าทรุด" เกิดขึ้นจากเหตุการณ์อุทกภัยช่วงปลายปีที่ผ่านมาหลังจากประชาชนกลับเข้าไปบ้านเมื่อเห็นสภาพความเสียหายมากมายถึงขั้นเกิดอาการกอดเสาเข่าทรุด, "กากๆ" คำศัพท์ที่วัยรุ่นนิยมใช้ในอินเตอร์เน็ต โดยเป็นการดูถูกว่าเป็นคนที่ทำตัวไม่ค่อยมีประโยชน์, "กิจกาม" เป็นคำที่ใช้เลียนแบบคำว่า กิจกรรม ซึ่งแทนที่จะไปทำกิจกรรมต่างๆ ก็มุ่งไปเรื่องเพศสัมพันธ์อย่างเดียว

นางกาญจนากล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ มีคำศัพท์ใหม่ "กินตับ" ซึ่งมาจากเพลงกินตับ, "กินอิ่มนอนอุ่น" แทนที่วัยรุ่นจะพูดว่ากินอิ่มนอนหลับ เพื่อความเท่และทันสมัยก็จะพูดคำดังกล่าว, "เกรียน" เป็นคำสแลงของคนที่มีพฤติกรรมก่อกวนคนอื่นและก้าวร้าวทางคำพูด, "ขนแขน สแตนอั้ป" พูดเมื่อเวลาเจอเรื่องน่าตื่นเต้น, "ขออภัยมณีศรีสุวรรณ" แทนที่จะพูดว่าขออภัยคำเดียว ก็จะเติมสร้อยให้ดูทันสมัย, "ครูตู้" คือทีวีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม, "จอนูน" "จอแบน" เป็นการพูดถึงลักษณะของผู้หญิง, "จัดชุดใหญ่" "จัดเต็ม" "จัดแน่น" "จัดหนัก" "จัดใหญ่" เป็นคำที่ใช้พูดในสถานการณ์ที่ต้องการทำอะไรบางอย่างแบบเต็มที่, "แพล้งกิ้ง" ช่วงที่ผ่านมาวัยรุ่นได้ฮิตทำท่าแปลกๆ คล้ายคนที่ตาย, "แท็บเหล็ต-แท็บเบล็ต" หนึ่งในนโยบายของ รัฐบาลชุดปัจจุบันที่แจกแท็บเหล็ตให้กับนักเรียน ป.1

"ยังมีคำว่า ′เฟ้สบุ๊ก′ โปรแกรมที่คนทั่วโลกกำลังนิยมเล่น, ′ชะโงกทัวร์′ มาจากการได้ไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ แต่ทำได้แค่ยืนมองโดยไม่ได้ลงไปชมความงามอย่างเต็มที่, ′แต๊งกิ้วหลาย′ เป็นคำที่วัยรุ่นทับศัพท์มาจากภาษาอังกฤษแล้วใช้ภาษาอีสานเติมเป็นสร้อย, ′ตีขอร์ดหยอดสาว′ พฤติกรรมของผู้ชายที่ใช้เวลาในการเล่นกีฬาไปจีบผู้หญิง, ′นักปั้นน้ำ′ คำนี้ใช้สำหรับคนที่ชอบโกหกไปเรื่อยๆ, ′ซ่อนดาบในรอยยิ้ม′ ใบหน้ายิ้มแย้มแต่ในใจลึกๆ กำลังคิดร้าย, ′เม้าธ์มอย′ เป็นการนินทาหรือกล่าวหาผู้อื่น, ′มีหัวไว้คั่นหู′ ใช้ด่าและประชดประชันคนที่ถูกมองว่าโง่, สมใจนึกบางลำพู′ มาจากร้านขายเสื้อผ้าย่านบางลำพู ใครๆ ก็รู้จัก เวลาพูดว่าจะไปซื้อเสื้อผ้าที่บางลำพู ก็จะบอกว่าไปร้านนี้, ′เคลียร์คัดชัดเจน′ ใช้พูดเวลาที่ทำความเข้าใจในเรื่องนั้นจนชัดเจนกระจ่างแจ้งแล้ว, ′โนเวย์สเตชั่น′ แทนที่จะใช้คำว่า ไม่ ก็จะใช้คำนี้แทน, ′ฟ้ามีตา′ ใช้พูดเตือนสติคนที่คิดว่าทำชั่วแล้วจะไม่มีใครรู้เห็น" นาง กาญจนากล่าว

นางกาญจนากล่าวอีกว่า ยังมีคำอื่นที่จะบรรจุในพจนานุกรมเล่มดังกล่าวอีก อาทิ คิดเองเออเอง, คุ้ยแคะแกะเกา, จิ้งจกเปลี่ยนสี, เจิมปาก, ชื่นรูหู, เช็ดเม็ด, ซูโดกุ, ตายซับตายซ้อน, พรแสวง, ยิมน้าสติก, ร้องเพลงรอ, ริกเต้อร์ และโลว์ซีซั่น ทั้งนี้ หลังจากทางราชบัณฑิตยสถานได้ทำการคัดเลือกคำศัพท์ใหม่เสร็จเรียบร้อย ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 1,000 คำ ก็จะตีพิมพ์ออกเผยแพร่ในช่วงปลายปี 2555 ทันที

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...