พบสัตว์สกุลใหม่ในทะเลสาบสงขลา

 

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมนี้ ศ. ดร.เสาวภา อังสุภานิช ภาควิชาวาริชศาสตร์ คณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเผยว่า จากการติดตามวิจัยและเก็บตัวอย่างสัตว์พื้นใต้น้ำซึ่งเป็นสัตว์ขนาดเล็ก ที่เป็นตัวเชื่อมโยงห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์เศรษฐกิจ เช่น กุ้ง หอย ปู ปลา พบว่า ยังมีสัตว์พื้นใต้น้ำชนิดใหม่ถูกพบในทะเลสาบสงขลาเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดได้พบสัตว์สกุล (genus) ใหม่ ซึ่งได้รับการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Birdotanais songkhlaensis ซึ่งเป็นสัตว์ขนาดเล็ก ลำตัวยาวประมาณ 2 มิลลิเมตร อาศัยอยู่ในตะกอนดินโคลนเหนียวในทะเลสาบสงขลาตอนล่างใกล้ปากทะเลสาบ ในความลึก 70 เซนติเมตร ซึ่งในช่วงเวลาที่พบน้ำมีความเค็มประมาณ 30 ส่วนในพัน Birdotanais songkhlaensis เป็นสัตว์ใน Phylum Arthropoda , Subphylum Crustacea , Order Tanaidacea , Family Nototanaidae ได้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ในระดับสกุลที่มาจากชื่อผู้เชี่ยวชาญในสาขานี้ คือ Dr.Graham Bird ซึ่งได้ให้ข้อเสนอแนะที่มีประโยชน์ในการจำแนกชนิด ส่วนชื่อในระดับสปีซีส์ ตั้งตามสถานที่ที่พบ คือ ทะเลสาบสงขลา และได้รับการตีพิมพ์แล้วในวารสาร The Raffles Bulletin of Zoology 60 หน้า 421 – 432


"คุณค่าของสัตว์พื้นใต้น้ำที่มีอยู่ในทะเลสาบสงขลา นอกจากจะเป็นอาหารของสัตว์น้ำอื่นๆ ที่เป็นอาหารของมนุษย์แล้ว ยังมีประโยชน์อย่างไรต่อระบบนิเวศ โดยช่วยกำจัดตะกอนอินทรีย์ ในตะกอนดินพื้นท้องทะเลสาบ เนื่องจากสัตว์พื้นใต้น้ำส่วนใหญ่เป็นชนิดที่กินตะกอนอินทรีย์เป็นอาหาร เป็นการลดความเน่าเสียในตะกอนดินพื้นทะเลสาบ ช่วยในการแลกเปลี่ยนมวลน้ำใต้ผิวดิน เป็นการเติมอากาศหรือออกซิเจนในตะกอนดินโดยทางอ้อม เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสัตว์ที่ขุดรูเป็นท่ออยู่ในดิน ทำให้น้ำและอากาศไหลสู่ท่อ เกิดการย่อยสลายสารอินทรีย์โดยจุลินทรีย์แบบใช้ออกซิเจน จึงบรรเทาการเกิดก๊าซไข่เน่าซึ่งเป็นพิษต่อสัตว์น้ำ และ ช่วยลดสารแขวนลอยในน้ำ โดยสัตว์พื้นน้ำที่กรองอาหารจากมวลน้ำ ทำให้น้ำใสและแดดส่องไปได้ลึก" ศาสตราจารย์ ดร.เสาวภา ว่า

 
ศาสตราจารย์ ดร.เสาวภา ยังกล่าวด้วยว่า เมื่อ 80 ปีมาแล้ว เคยมีนักวิชาการต่างชาติได้พบสัตว์พื้นใต้น้ำชนิดใหม่ชนิดหนึ่งในทะเลสาบสงขลา และปัจจุบันสัตว์ชนิดนั้นก็ยังมีอยู่ แต่ไม่ได้หมายความว่าสภาวะแวดล้อมในทะเลสาบสงขลาจะดีขึ้น เพราะ สัตว์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลง สามารถปรับตัวได้เร็ว แต่จากการทำวิจัยมาหลายสิบปี โดยทำการเก็บตัวอย่างสัตว์ตั้งแต่ขอบทะเลสาบ และพบว่าใกล้ฝั่งที่กำลังเป็นที่สะสมของขยะและการเน่าเสีย จะมีสัตว์ใต้พื้นน้ำเหลือน้อย แต่จะมีมากขึ้นเมื่อห่างฝั่งออกไป ทะเลสาบสงขลามีข้อดีคือจะมีทั้งน้ำจืด น้ำเค็ม และน้ำกร่อย แล้วแต่พื้นที่และฤดูกาล ทำให้มีการหมุนเวียนชนิดของสัตว์ที่อยู่อาศัยในทะเลสาบ การขาดการดูแลสมบัติตามธรรมชาติและ การพยายามอนุรักษ์ทั้งๆ ที่ไม่มีความเข้าใจธรรมชาติอย่างลึกซึ้งอาจจะทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ดังนั้นควรถึงเวลาชาวบ้านและผู้ประกอบอุตสาหกรรมรอบทะเลสาบ ต้องเสียสละเพื่อทะเลสาบได้แล้ว

2 ต.ค. 55 เวลา 14:04 1,398 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...