บอกแล้ว อาชีพนี้ มีอนาคต !!!

ไม่ชอบก็ต้องยอมรับกันแล้วละนะคะว่า โลกเราจะมีจำนวนคนชรามากขึ้น มองไปทางไหนอาจจะหาความสดใสยากสักหน่อย เจอแต่คนเดินถือไม้เท้า หน้าย่น ผิวหนังเหี่ยว การมีคนชรามากขึ้นก็เป็นเรื่องที่สังคมต้องดูแล ทั้งต้องจัดหาทรัพยากรบุคคลมาคอยประกบ และยังต้องมีการจัดสรรค่าใช้จ่ายไว้เพื่อการนี้โดยเฉพาะ

คนชรารุ่นนี้เป็นรุ่นหลังสงครามโลกที่เรียกว่า เบบี้บูมเมอร์ พร้อมใจกันแก่และพร้อมใจกันครองพื้นที่บนโลก ก็เป็นรุ่นที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์เริ่มแจกเบี้ยผู้สูงอายุนั่นแหละค่ะ ตอนนี้ท่านที่ได้รับเบี้ยไปที่มีฐานะดีก็บริจาคให้คนที่มีฐานะด้อยกว่ากันไปส่วนคนที่ฐานะไม่ดีเงินก้อนนี้ก็มีความหมายมาก

เบบี้บูมเมอร์ชนชั้นกลางที่ทำงานหนักต่างคนต่างก็เก็บหอมรอมริบเพื่อให้มีเงินใช้ในตอนแก่เฒ่าสำหรับการจ้างคนมาคอยดูแล และอย่าว่าเป็นเล่นไปเงินเดือนคนดูแลคนชรานั้นขึ้นไปเรื่อยๆ เร็วกว่าเงินเฟ้อเสียอีก ตอนนี้อัตราเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 8,000-15,000 บาท ต่อเดือน เท่าคนจบปริญญาตรี

ดังนั้น ก็ไม่ผิดหรอกค่ะถ้าจะบอกว่าอาชีพดูแลคนชราเป็นอาชีพที่ดี

ก็เพราะคนจ้างเขามีจะจ่าย และถือว่านี่มันคือความจำเป็นของชีวิต หรือไม่ลูกหลานเขาก็เป็นคนจ่าย เพราะเขากตัญญู และเห็นว่าการดูแลคนชราก็เป็นงานหนักจำเป็นต้องมีคนมาช่วยทำงานนี้โดยเฉพาะ

ผู้ดูแลคนชราที่มีดีกรีพยาบาลสามารถเรียกค่าตอบแทนสูงๆ ได้ เท่าที่ทราบพยาบาลมีดีกรีกำลังขาดแคลนมาก ยิ่งคนชรามีจำนวนมากขึ้น ความขาดแคลนก็มากขึ้น

ประเทศที่ผลิตพยาบาลคือประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศที่รับพยาบาลฟิลิปปินส์แบบไม่อั้นก็คือสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเศรษฐกิจดีและต้องการคุณภาพชีวิตสูง ยุโรป และญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกัน 



ถือโอกาสเล่าเกร็ดประกอบเรื่องคนชราในญี่ปุ่น น้องสาวของเพื่อนของผู้เขียนแต่งงานกับคนญี่ปุ่น มีแม่ชรา

ครอบครัวนี้จะย้ายมาอยู่เมืองไทยโดยจะเอาแม่มาด้วย เขากำลังสร้างบ้าน ในบ้านที่จะสร้างนี้ก็ต้องมีห้องเฉพาะให้ผู้ดูแลผู้ชราอยู่ติดกับห้องผู้ชรา นี่ก็แสดงว่าในประเทศที่ร่ำรวย "ผู้ดูแลคนชรา" จะกลายเป็นความจำเป็นในครอบครัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในประเทศนิวซีแลนด์ แพทย์ร้อยละ 34 และพยาบาลร้อยละ 21 เป็นชาวต่างชาติ เรียกว่าสูงสุดในประเทศทั้งหลาย ในขณะที่ในสหรัฐอเมริกา แพทย์ร้อยละ 27 และพยาบาลร้อยละ 5 เป็นชาวต่างชาติ 

ในบรรดาประเทศที่ "ส่งออกผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุข" ฟิลิปปินส์และอินเดียนำโด่งมา ทั้งอินเดียและฟิลิปปินส์รวมกันมีจำนวนแพทย์และพยาบาลที่อพยพไปทำงานนอกประเทศร้อยละ 15 ของตลาดในประเทศในกลุ่มโออีซีดี หรือองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา 

ในสหรัฐอเมริกามีพยาบาลขึ้นทะเบียนอยู่ 2.9 ล้านคน เป็นพยาบาลจากเอเชีย และ ฮาวายร้อยละ 3 หรือ 89,000 คน 

พยาบาลที่ทำงานเต็มเวลาในสหรัฐอเมริกา มีรายได้ปีละ 57,000 เหรียญ หรือ 1,710,000 ตกแล้วก็เดือนละแสนสี่เชียวละ จะว่าไปอาชีพนี้รายได้ดีไม่ใช่เล่น

ส่วนที่ออสเตรเลียยิ่งรายได้ดีเข้าไปใหญ่ ตกปีละ 78,000 เหรียญ หรือ สองล้านสาม เทียบกับถ้าอยู่ในประเทศฟิลิปปินส์ พยาบาลอาชีพมีรายได้เดือนละ 195-325 เหรียญ

ต่างกันราวฟ้ากับดินทีเดียว



บุรุษพยาบาลจากอินโดนีเซียมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 2,900 เมื่อเขาย้ายจากอินโดนีเซียไปทำงานในประเทศญี่ปุ่น เขาลงทุนเรียนภาษาญี่ปุ่นถึง 3 ปี กว่าจะสอบภาษาญี่ปุ่นผ่านเข้าไปทำงานในญี่ปุ่นได้ 

ญี่ปุ่นนั้นถึงกับทำข้อตกลงทางการค้ากับอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันมีผู้สมัครเข้าทดสอบภาษา 1,360 คน แต่สอบผ่านเพียง 100 คน หรือ ร้อยละ 7 เท่านั้น

อาชีพพยาบาลสร้างอนาคตให้บุรุษพยาบาลคนนี้และครอบครัว พ่อแม่ของเขาขายที่นาเพื่อส่งเขาเรียน เมื่อมีรายได้เขาส่งกลับมาให้พ่อแม่ซื้อไร่กาแฟ ปลูกบ้าน และส่งเสียน้องสาวเรียนหนังสือ

ที่ญี่ปุ่นนี้เขามีรายได้เดือนละ 70,000 บาท น่าจะมากกว่าที่พ่อแม่หาได้ทั้งปีจากการปลูกข้าว

เรียกว่าเขามอบชีวิตใหม่ให้ครอบครัวเลยทีเดียว

ที่ญี่ปุ่นนี้เมื่อถึงปี 2568 หนึ่งในสามของประชากรญี่ปุ่นจะมีอายุมากกว่า 65 โอคุณพระคุณเจ้าช่วย ได้ฟังอย่างนี้แล้วครอบครัวทั้งหลายจงมีลูกมากกว่าหนึ่งคน อย่างน้อยก็สองคนเห็นจะดี เพราะเมื่อพ่อแม่เฒ่าแก่ลงจะได้แบ่งกันดูแล

ส่วนคนไม่มีลูกก็เก็บเงินไว้เยอะๆ ไว้จ้างพยาบาลสถานเดียว



ปัญหาเรื่องพยาบาลดูแลผู้ชรานี้ญี่ปุ่นเอาจริงเอาจังมาก ถึงขนาดให้โรงพยาบาลเปิดมหาวิทยาลัยพยาบาล และกำลังวางแผนเปิดอีกแห่งในประเทศจีน คงจะปวดหัวกับคนฟิลิปปินส์และคนอินโดนีเซียเรียนภาษาญี่ปุ่นได้ช้า จึงหันเข้าหาจีนที่มีพื้นฐานภาษาใกล้เคียงแทน 

องค์การสหประชาชาติระบุว่าในประเทศต่างๆ จะมีจำนวนผู้สูงอายุดังนี้

ปี 2593 ในประเทศเกาหลีและญี่ปุ่นประชากรมากกว่าร้อยละ 40 จะมีอายุ 60 ปี ส่วนในยุโรปประชากรร้อยละ 35 จะมีอายุมากกว่า 60 เช่นกันในปี 2593 

แต่ก่อนนี้พยาบาลต้องหาทางออกไปทำงานในต่างประเทศที่มีเศรษฐกิจดี แต่เดี๋ยวนี้พอเศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นก็เป็นธรรมดาที่ทุกคนอยากกลับมาทำงานที่บ้านเรา อย่างเช่น สเตฟานี ชาน พยาบาลชาวฟิลิปปินส์ที่อุตส่าห์สอบเข้าโรงเรียนแพทย์ จบออกมาเป็นพยาบาล ไปทำงานเมืองนอก แต่เมื่อฟิลิปปินส์มี Call Center เกิดขึ้นตามองค์กรต่างๆ เธอก็เลือกทิ้งอาชีพพยาบาลกลับบ้านมาเป็นพนักงาน Call Center มีเพื่อนในวัยเดียวกัน และยังได้อยู่บ้านเกิดเมืองนอนที่คุ้นเคย

นั่นก็ยิ่งทำให้พยาบาลขาดแคลน

บุรุษพยาบาลชาวฟิลิปปินส์ซึ่งผ่านการรับรองให้ทำงานในอเมริกาได้บอกว่า

"ผมจับอาชีพได้ถูกต้องแล้ว เผอิญที่ฟิลิปปินส์นี่เศรษฐกิจดีขึ้น อาชีพพยาบาลที่อยู่ฝ่ายบริหารได้เงินเดือนมากขึ้น ได้ไปออกกำลังสัปดาห์ละ 2 ครั้ง กินอาหารนอกบ้านเกือบทุกวัน ผมคงตัดสินใจอยู่ที่นี่ไม่ไปอเมริกาแล้ว"

1 ต.ค. 55 เวลา 14:24 11,556 80
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...