ซุ่มเงียบ รัฐเตรียมแผนถมทะเลสร้างเมืองใหม่ ทุ่มงบ 1.8 ล้านล้าน

 

 

 

 

 

 ซุ่มเงียบ รัฐเตรียมแผนถมทะเลสร้างเมืองใหม่

ทุ่มงบ 1.8 ล้านล้าน

 

 

 


รัฐเอาจริง ซุ่มดันโครงการถมทะเลเฉียด 2 ล้านล้านบาท กรมที่ดินชงเรื่องตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ แปลงสินทรัพย์ ระดมทุนก่อสร้าง ก๊อปปี้โมเดลศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เล็งผุดเขื่อนลึกเข้าไปในทะเล 15 กม. สร้างถนนใหญ่ 4-6 เลน พร้อมพัฒนาเมืองใหม่เป็นศูนย์กลางธุรกิจ ที่อยู่อาศัย รีสอร์ต มารีน่า บูมท่องเที่ยว

นายบุญเชิด คิดเห็น อธิบดีกรมที่ดิน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ล่าสุดได้ยกร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่ โดยเสนอให้จัดตั้งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle : SPV) ชื่อบริษัท บริหารจัดการและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย จำกัด (Thai Property Management And Development Limited : TPMD) รูปแบบเหมือนบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด เพื่อผลักดันนโยบายด้านเศรษฐกิจและการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ ทั้งแปรสภาพแหล่งน้ำ และถมทะเล ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวผ่านการพิจารณาของคณะทำงานยกร่างฯแล้ว จะเสนอกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเร็วๆ นี้

แหล่งข่าวจากพรรคเพื่อไทยเปิดเผยว่า โครงการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) ในรูปบริษัท บริหารจัดการและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย จำกัด (TPMD) ถือเป็นนโยบายเร่งด่วน ตามโครงการถมทะเลก่อสร้างเมืองใหม่ เนื้อที่ 2 แสนไร่ มูลค่าลงทุน 1.8 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์กลางธุรกิจ ที่อยู่อาศัย รีสอร์ต มารีน่า และรถไฟความเร็วสูง ตัวโครงการนอกจากสามารถใช้ประโยชน์ในทางเศรษฐกิจแล้ว ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมและป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งได้ด้วย เพราะเมื่อถมทะเล ตัวโครงการจะเป็นเขื่อนหรือเกาะกั้นทะเล ทำให้การกัดเซาะชายฝั่งลดน้อยลง

สำหรับเงินลงทุนที่จะนำมาพัฒนาโครงการนั้น กระทรวงมหาดไทยเสนอแนะให้ดำเนินการโดยจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจขึ้น โดยใช้บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ซึ่งกรมธนารักษ์จัดตั้งขึ้นสำหรับใช้ระดมทุนด้วยการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (securitization) ก่อสร้างศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ วงเงินลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท เป็นต้นแบบ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินการและการบริหารจัดการทางด้านการเงินและการระดมทุน โดยจะแบ่งการพัฒนาเป็นเฟส ๆ ตามความเหมาะสม

"รูปแบบโครงการอาจจะเป็นการก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำในทะเล หรือจะถมทะเลให้เป็นเกาะ อยู่ที่ผลการศึกษาว่ารูปแบบไหนจะเหมาะสมกว่ากัน ถ้าหากเป็นการก่อสร้างเขื่อนลึกเข้าไปในทะเลก็ใช้ประโยชน์เป็นเส้นทางสัญจรไปมา เส้นทางคมนาคมขนส่ง และการท่องเที่ยว จะมีการพัฒนาพื้นที่ในจุดที่มีความเหมาะสมสำหรับทำเป็นเมืองใหม่ควบคู่กันไปด้วย"

แหล่งข่าวกล่าวว่า เป้าหมายหนึ่งในการถมทะเลก็เพื่อป้องกัน กทม. และพื้นที่ภาคกลางซึ่งหลายจังหวัดที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลกำลังประสบปัญหาถูกน้ำทะเลกัดเซาะรุนแรงปลอดภัยจากปัญหาแผ่นดินทรุด และถูกน้ำทะเลกัดเซาะ ถือเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อย่างไรก็ตามในการดำเนินการจะยึดหลักวิชาการ และให้ความสำคัญกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมเป็นพิเศษ ทั้งต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมและคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจด้วย

สำหรับพื้นที่ที่จะถมทะเลนั้น มีหลายตัวเลือก อาทิ สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี และชลบุรี เบื้องต้นได้คัดเลือกพื้นที่เป็น 2 แนวทางคือ 1.ก่อสร้างเขื่อนกั้นน้ำบริเวณริมฝั่งทะเล จุดเริ่มต้นโครงการอยู่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ แล้วอ้อมทะเลอ่าวไทยไปเมืองพัทยา 2.ก่อสร้างลึกเข้าไปในทะเล ห่างจากชายฝั่งทะเล 15-16 กิโลเมตร ตามแนวสันทราย จากชายฝั่งทะเลในพื้นที่ จ.เพชรบุรี ไปถึงฝั่งทะเลด้าน จ.ชลบุรี รูปแบบจะเป็นถนนขนาด 4-6 เลน ตลอดทางจะมีประตูน้ำขนาดใหญ่สำหรับระบายน้ำทะเลเข้าออก และจะมีการถมทะเลพัฒนาเชิงพาณิชย์ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมกะโปรเจ็กต์ถมทะเล เป็นโครงการที่พรรคไทยรักไทยกำหนดในนโยบายหาเสียงเมื่อปี 2554 โดยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกมาศึกษาและออกแบบ เมืองใหม่ถ้ามีทั้งและที่สาธารณะ ที่เชิงพาณิชย์ ที่อยู่อาศัย รีสอร์ต ท่าเรือมารีน่า ฯลฯ

อย่างไรก็ตามเนื่องจากโครงการนี้เคยถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการและองค์กรภาคเอกชน (เอ็นจีโอ) ในวงกว้าง พรรคเพื่อไทยจึงเก็บเรื่องเงียบเพราะเกรงจะเกิดกระแสโจมตี แต่ลึก ๆ ยังมีความพยายามผลักดันโครงการถมทะเลให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เพียงแต่รอจังหวะเวลาที่เหมาะสม ขณะเดียวกันช่วงที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยือนประเทศจีน เดือนเมษายน 2555 ที่ผ่านมา และมีโอกาสได้เยี่ยมชมเมืองเทียนจิน เมืองท่าใหญ่ที่สุดทางภาคเหนือของจีน ซึ่งมีการพัฒนาเมืองใหม่ นายกฯได้สั่งการให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ศึกษาแนวทางพัฒนาเมืองใหม่ลักษณะเหมือนเมืองเทียนจิน ที่มีการจัดวางผังเมือง และระบบคมนาคมที่สมบูรณ์แบบ รองรับทั้งด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ และการอยู่อาศัย
 
 
Credit: http://www.babnee.com/index.php
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...