วิภาส ศรีทอง ซีไรต์ "ร้อน"

เงียบเหงามาหลายปี แล้วนี่ก็เป็นอีกครั้งที่ "ซีไรต์" ร้อนแรงและอยู่ในกระแสความสนใจ

เพราะหลังสิ้นเสียงประกาศว่า ""คนแคระ"" โดย "วิภาส ศรีทอง" ได้รับรางวัล ทั้งห้องประชุมก็เงียบกริบอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

"คนแคระ" มาพร้อมคำชี้แจงว่าเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยม และได้ผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มข้นแล้ว เป็นการตรวจสอบเนื่องจากหนึ่งเหตุการณ์ในอดีตและหนึ่งข้อสังเกตในปัจจุบัน

ในอดีตคือ เมื่อปี 2551 เรื่องสั้นเรื่อง ""เปลือก"" ในหนังสือรวมเรื่องสั้น ""เวลาล่วงผ่านอุโมงค์"" ของวิภาส ถูกวิพากษ์ว่าดัดแปลงมาจากเรื่อง ""peeling"" จากหนังสือ ""The Fat Man in History"" ของ "ปีเตอร์ แครีย์" นักเขียนชาวออสเตรเลีย ในตอนนั้นวิภาสไม่ได้ออกมาอธิบายใดๆ จงก่อให้เกิดคำถามเชิงจริยธรรมของนักเขียน

ในปัจจุบัน คือข้อสังเกตเกี่ยวกับแรงบันดาลใจ ที่บางกระแสมองว่า "คนแคระ" น่าจะได้รับอิทธิพลจากนิยายเรื่อง ""Misery"" ของ "สตีเฟ่น คิง" ระดับหนึ่ง ทั้งในส่วนโครงเรื่องและสารของเรื่อง 

โครงเรื่องของ "คนแคระ" และ "Misery" คือ การที่ตัวละครถูกจับมาขังในห้อง และตัวละครแต่ละตัวล้วนมีปมและบาดแผลในใจ ทำร้ายกันไปแต่ก็ดูแลกันไป เป็นทั้งผู้กระทำและผู้ถูกกระทำในขณะเดียวกัน

สารของเรื่องที่ "คนแคระ" และ "Misery" ล้วนสะท้อนถึงความบิดเบี้ยวของสัมพันธภาพของมนุษย์ ความอ้างว้าง ความโดดเดี่ยวของคนในสังคมปัจเจก จนต้องบำบัดด้วยการยกตัวเองเป็นผู้กระทำ และผลักคนอื่นเข้าสู่ภาวะถูกกระทำ ด้วยพฤติกรรมที่ซับซ้อนและแปลกแยกจากสังคม

ทว่า เสียงส่วนใหญ่ของวงวรรณกรรมรวมถึงคณะกรรมการไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตดังกล่าว 

"ประภัสสร เสวิกุล" ประธานกรรมการตัดสิน และ "เจน สมสงพันธุ์" คณะกรรมการอีกคนที่เดินทางไปตรวจสอบถึงต่างประเทศก็เห็นว่า "คนแคระ" ไม่เข้าข่ายใดๆ ดังกล่าว เพราะโครงเรื่องเป็นพล็อตสามัญ ในขณะที่สารอื่นๆ ก็เป็นสารที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาวะจิตและความรู้สึกร่วมของผู้คนในสังคมร่วมสมัย 

และในส่วนความสมบูรณ์ของนิยายเล่มนี้นั้น ประภัสสร เสวิกุล เผยว่า การลักพาตัวคนแคระมากักขังไว้ สะท้อนถึงการหยามเหยียดเสรีภาพและความเสมอภาคของมนุษย์ คนแคระที่ถูกขังในกรงชวนให้เกิดการตีความหลากหลาย 

ขณะที่หนึ่งในผู้ตั้งข้อสังเกต "จิตติ หนูสุข" กรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยและกรรมการด้านลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นิยายเล่มนี้เป็นผลงานที่มีคุณภาพ แต่เชื่อว่าเป็นไปได้ที่จะได้แรงบันดาลใจจาก "Misery" แต่ส่วนตัวแล้วไม่ติดใจโครงเรื่อง แต่ติดใจสารของเรื่องที่มาพร้อมกับโครงเรื่อง แต่กลวิธี รายละเอียด ชั้นเชิงภาษานั้นไม่เหมือนกันแน่นอน

อย่างไรก็ดี ที่ตนติดใจมากกว่าจนต้องลุกขึ้นถามแม้จะรู้ว่าไม่มีผลใดๆ ก็ตาม คือเรื่องจริยธรรม

"ซีไรต์มีมายาภาพหลายอย่างคลุมอยู่ที่ต่างจากรางวัลอื่นๆ มันไม่ใช่แค่รางวัลที่เกี่ยวกับหนังสือ ตามหลักฐานที่ทางสมาคมนักเขียนได้ตรวจสอบเมื่อปี 2551 ไม่อยากเชื่อว่าเป็นเพียงแรงบันดาลใจ หากขอโทษหรือขอโอกาสจะไม่ติดขัดเลย และไม่ว่างานจะดีล้ำเลิศแค่ไหน แต่โอกาสก็ควรเป็นของคนที่สำนึก โดยเฉพาะกับผู้ที่ได้รางวัลนี้"

"และนี่คือคำสัมภาษณ์จากวิภาส ศรีทอง ในทุกประเด็นร้อน"

"เรื่องสั้นที่เป็นปัญหาก่อนหน้านี้ยอมรับว่าได้แรงบันดาลใจมาจริง แต่เมื่อนำงานไปรวมเล่มเกิดความผิดพลาดที่ไม่ได้อ้างอิงชื่อนักเขียนคนนั้นไว้ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่ยืนยันว่าไม่เหมือนแน่นอน

"รางวัลซีไรต์เป็นรางวัลที่ให้กับหนังสือที่ดีที่สุดในสายตากรรมการ ไม่ใช่รางวัลที่มองตัวบุคคลไม่ใช่หรือครับ

"ผมมองมันเหมือนรางวัล booker prize เพราะลักษณะอะไรหลายอย่าง เช่นการมีลองลิสต์ ช็อตลิสต์ เหมือนกัน

"จุดเริ่มต้นของนิยายเล่มนี้ยากจะบอกที่มา มันไม่ใช่อาการแบบยูเรก้าแล้วกระโดดล่อนจ้อนออกจากอ่างน้ำ มันค่อยๆ ตะล่อมขึ้นมาเป็นกลุ่มก้อนนามธรรมอะไรสักอย่างจนชัดเจนขึ้นถึงจุดที่ต้องเขียน แต่ถ้าจะหาตาน้ำเริ่มต้น ก่อนจะเป็นต้นธารความคิดในภายหลัง น่าจะเริ่มจากการได้พบคนแคระนิสัยดีท่านหนึ่งในดึกคืนหนึ่งที่แถวบางลำพูเมื่อสัก 6-7 ปีที่แล้ว

"สำหรับประเด็น Misery นั้นผมไม่เคยอ่านเรื่องนี้ เคยดูหนังและก็จำพล็อตได้ไม่ชัด แค่ระลึกความรู้สึกได้เพียงว่าหนังสือสนุกมาก จึงไม่คิดอยากอ่านอีก แต่ตอนนี้ผมก็รู้สึกตงิดๆ อยากจะอ่านขึ้นมาจริงๆ เท่าที่ไปค้นจากเน็ต ก็ทำให้ทราบพล็อตชัดขึ้น

"ถ้าไม่นับเรื่องการลักพาตัว ผมมองไม่เห็นว่ามันจะพ้องตรงไหน นิยายเรื่อง Misery มีลักษณะของความเป็น Genre สยองขวัญชัดเจน ขณะที่ประเด็นคนแคระพูดถึงเสรีภาพ อิสรภาพ นิยายพยายามทะลวงคำตอบพร้อมกับโยนคำถามลึกๆ อะไรหลายอย่างถึงความเป็นมนุษย์ให้แก่คนอ่าน แต่ Misery มันแทบไม่แตะอะไรเหล่านี้ หรือแตะก็เพียงผิวนอก

"Misery เน้นอารมณ์ระทึกขวัญ มันคือหนังสือสยองขวัญ และถ้าแค่หัวข้อการลักพาตัวถึงกับเป็นเรื่องที่ไม่ว่าใครเขียนถึงก็คือการเลียนแบบสตีเฟน คิง นิยายเรื่องสั้นและภาพยนตร์อีกนับร้อยก็คงเอามาจากแกหมด และต่อไปใครเขียนถึงคนแคระ มีตัวละครเป็นคนแคระก็หมายความว่าเลียนแบบจากผมหมด ผมว่ามันไม่เมกเซนส์เลย 

"สาเหตุที่งานของผมชอบเล่นกับจิตใจของมนุษย์ จิตที่อ้างว้าง และสัมพันธภาพที่มีปัญหาระหว่างกัน เป็นเพราะผมชอบอ่านเรื่องสั้นหรือนิยายที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ มันทำให้เราเห็นความซับซ้อนของชีวิต และการได้มองเห็นชีวิตซับซ้อนหลายเปลาะ หลายชั้น เดี๋ยวคล้ำดำเดี๋ยวสว่างโพลง มันยิ่งเพิ่มพูนความรักชีวิตมากขึ้น แม้มนุษย์จะมีด้านมืดเลวร้ายเเค่ไหน แต่ผมก็ศรัทธากับความเป็นมนุษย์มากกว่าสิ่งอื่นใดที่มีอยู่ในโลก

"ผลงานต่อไปคือเรื่อง "หมาหัวคน" เสร็จเรียบร้อยแล้วครับ รอตีพิมพ์อยู่ ตอนนี้กำลังวางโครงนิยายอีกเรื่อง จวนเสร็จแล้ว คงลงมือหลังฝุ่นวางตัวลงเสียที เป็นนิยายที่ผมสนุกกับตัวเนื้อหามากพอๆ กับคนแคระ

"ส่วนอนาคตไม่ได้วางแผนอะไรเลยครับ เอาแค่เขียนนิยายเรื่องนี้ให้จบ ทำให้ดีที่สุดไม่พอ ต้องทำให้ดีกว่าหรืออย่างน้อยก็ให้เสมอตัวกับเรื่องก่อนหน้า

"ก็แค่หวังว่านะครับ"

Credit: โดย สิรนันท์ ห่อหุ้ม
30 ก.ย. 55 เวลา 09:54 2,233 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...