ดุลพินิจ : ฝาโลงแผ่นสุดท้าย

 

  ความหมายของ “ดุลพินิจ” หรือ “ดุลยพินิจ” ในพจนานุกรมไทย คือ การพิจารณาอย่างละเอียดหรือวินิจฉัยที่เห็นสมควร สองคำนี้จะเห็นบ่อยมากในสำนวนกฎหมายหรือในคำพิพากษาอรรถคดี แต่มักลืมความลึกซึ้งที่ว่า เป็นมุมมองหรือความเห็นส่วนบุคคล เป็นการตัดสินใจของบุคคลหนึ่ง คำนี้มักใช้กับการระงับข้อพิพาทหรือหามติในที่ประชุม ทั้งนี้ การตัดสินใจที่ชื่อ ดุลพินิจ ยังต้องอาศัยกฎระเบียบด้วยว่า จักใช้ความเห็นของบุคคลเดียวหรือคณะบุคคลเพื่อสร้างมติแล้วนำไปใช้บังคับกับกลุ่มคนหรือบุคคล

         ดุลพินิจจะเป็นที่ยอมรับของคู่พิพาทหรือกลุ่มคนได้หรือไม่ ขึ้นอยู่ที่การให้ความยุติธรรมมากพอหรือไม่ด้วย เมื่อดุลพินิจมาจากความเห็นส่วนบุคคล การสร้างดุลพินิจให้ยุติธรรมจึงขึ้นอยู่กับจิตสำนึกหรือจรรยาบรรณในอาชีพของแต่ละบุคคล การยอมรับในแต่ละดุลพินิจอยู่ที่พฤติการณ์ของผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับมันโดยตรง หลายปีมานี้มีการโต้แย้งเรื่องความยุติธรรมในดุลพินิจของผู้มีหน้าที่ตัดสินคดีที่เกี่ยวข้องกับบุคคลทางการเมือง อันสร้างความไม่ไว้วางใจต่อกระบวนการยุติธรรมในสายตาของคนไทยหรือคนทั่วโลก หากสังเกตให้ชัดจักพบว่า ล้วนเกี่ยวพันโดยตรงกับดุลพินิจ

          ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินข้อพิพาททั้งในชั้นศาลหรือองค์กรอิสระช่วงหลายปีมานี้ต่างถูกตั้งข้อสังเกตเรื่องความไม่น่าเชื่อถือในดุลพินิจซึ่งแสดงออกด้วยการพูดถกกันทางวิชาการหรือเขียนบทความต่างๆทั้งในไทยและต่างประเทศ ดุลพินิจในการตัดสินอรรถคดีต้องประกอบด้วย ความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมายตามประเภทคดี จรรยาบรรณวิชาชีพหรือหน้าที่  จิตสำนึกความเป็นมนุษย์ และ ความเข้าใจในหลักปกครองประเทศอย่างถูกต้องถ้าสามารถดำรงตนในการตัดสินใจกับทุกข้อพิพาทบนพื้นฐานนี้ได้ จักได้ ดุลพินิจที่ยุติธรรมและเป็นที่ยอมรับของปวงประชา

            สิ่งสำคัญที่สร้างความไม่ไว้วางใจของประชาชนต่อองค์กรด้านยุติธรรมไทยในหลายคดีทางการเมืองจักเห็นว่า เกิดขึ้นจากการดูแคลนความรู้เข้าใจของประชาชนและการไม่แคร์สายตาแคลงใจของผู้ใช้ดุลพินิจซึ่งถือตนว่าเป็นอิสระจากประชาชน ถ้าไม่แก้ไขต้นเหตุที่สร้างความระแวงใจระหว่างประชาชนกับองค์กรที่มีอำนาจใช้ดุลพินิจซึ่งกระทบต่อชีวิตและเสรีภาพของปวงชน  จักเพิ่มแรงกดดันทางจิตหวาดกลัวของประชาชนและสะสมไว้จนระเบิดออกเพื่อทำลายสิ่งที่สร้างความหวาดกลัวนั้นดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศมาแล้ว

         องค์กรที่ใช้ดุลพินิจกระทบต่อชีวิตและเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญไทยมีมากมายจนกลายเป็นการวางกรอบแนวคิดให้ประชาชนต้องคิดตามและเชื่อฟังฝ่ายเดียว ด้วยข้ออ้างว่า เป็นองค์กรอิสระที่คิดเอง ตัดสินคนอื่นได้ แต่ห้ามคนอื่นแตะต้ององค์กร การแสดงอำนาจขององค์กรด้วยการใช้กฎหมายบังคับกับประชาชนเพื่อข่มขู่มิให้เข้าใกล้หรือแตะต้องตนหรืออวดอำนาจ มันคือการสร้างความหวาดกลัวและขอบเขตแนวคิดให้ประชาชน หมายความว่า ถ้าคิดต่างจากดุลพินิจขององค์กร คือ ความผิดที่ต้องลงโทษ จึงเป็นการกำหนดกรอบความคิดใช้ควบคุมประชาชน โดยไม่ให้คำนึงถึงที่มาหรือเบื้องหลังของดุลพินิจนั้น เสมือนการบังคับให้เชื่อฟัง โดยห้ามซักถามหรือสงสัย ดังที่เกิดขึ้นในสังคมเผด็จการ

           องค์กรด้านการใช้ดุลพินิจยังมีแนวความคิดดั้งเดิมที่ว่า ประชาชนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่เท่าทัน ต่อพฤติการณ์หรือเบื้องหลังข้อพิพาทเพียงพอ จึงใช้ดุลพินิจตัดสินหรือมีมติที่สร้างความไม่เชื่อถือในสังคมไทยมากขึ้น เพราะเชื่อมั่นว่าตนมีอิสระ ไม่มีความเกี่ยวโยงกับประชาชน ไม่ต้องแคร์สายตาหรือความรู้สึกของคนไทย จึงมักเห็นภาพบุคคลหรือการแสดงความเห็นจากองค์กรเหล่านั้นในลักษณะข่มขู่หรือบังคับใช้ข้อกฎหมายที่ให้เปรียบแก่ตนต่อประชาชนที่เห็นต่างเป็นระยะ ยิ่งข่มขู่ ยิ่งใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกำราบประชาชน ยิ่งเร่งเร้าให้พลังสะสมอัดแน่นขึ้นแล้วปะทุระเบิดออกมาเพื่อทำลายล้างสิ่งที่สร้างความหวาดกลัวของประชาชนเร็วขึ้นอันเป็นธรรมชาติของพลัง

             ความเป็นอิสระขององค์กรที่มีอำนาจใช้ดุลพินิจล้นฟ้ามีกฎหมายรับรองโดยรัฐสภาของคณะปฏิวัติ2549 เพื่อแผนทางการเมือง นี่คือความจริงที่สังคมไทยและสากลโลกล้วนยอมรับกันแล้ว รัฐธรรมนูญปี 2550 ให้อำนาจสูงสุดแก่องค์กรด้านการใช้ดุลพินิจหลายแห่งทำหน้าที่บริหารและตัดสินข้อพิพาทได้เบ็ดเสร็จ อันเป็นการขัดต่อหลักสากลเรื่อง คานอำนาจและตรวจสอบซึ่งกันและกัน บางแห่งก้าวก่ายอำนาจกันด้วย ตัวอย่างเช่น อำนาจตุลาการเข้าไปอยู่เป็นองค์คณะบริหารรัฐวิสาหกิจหรือตัดสินยกเลิก เพิกถอน คำสั่งของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติโดยไร้ขอบเขตก็ได้ ไล่นักการเมืองที่ประชาชนเลือกเข้าสภาหรือยุบพรรคการเมืองด้วยเงื่อนไขง่ายเกินไป เป็นต้น วันนี้เราจักเห็นอำนาจล้นฟ้าขององค์กรที่ใช้ดุลพินิจสอดแทรกอยู่ในหน่วยงานรัฐหรือการเมืองไทยแบบควบคุมและบังคับให้เดินตามดุลพินิจที่ตีความกันเองจะขยายกว้างแค่ไหนก็ได้โดยปราศจากการคานอำนาจหรือตรวจสอบจากภาคประชาชน ทั้งที่องค์กรเหล่านั้นล้วนรับเงินเดือนจากระบบงบประมาณของประเทศอันได้มาจากเงินภาษีของประชาชน แต่กล่าวอ้างถือตนว่า เป็นองค์กรอิสระไม่ขึ้นอยู่กับประชาชน ไม่ได้ทำงานเพื่อปวงชน ไม่ได้มาจากประชาชน อันผิดเพี้ยนจากหลักประชาธิปไตยที่ใช้ในสากลโลก

               ความเป็นอิสระของดุลพินิจจักต้องยืนบนความยุติธรรมด้วย จึงทำให้ดุลพินิจเป็นที่ยอมรับของปวงประชาได้ สำหรับการตัดสินข้อพิพาทหรืออรรถคดีนั้นดุลพินิจเปรียบเสมือนฝาโลงแผ่นสุดท้ายของคนชั่วหรือคนบริสุทธิ์ก็ได้ คุณสมบัติของคนใช้ดุลพินิจจึงมีความสำคัญยิ่งยวด ชาติตะวันตกจักให้ความสำคัญต่อผู้ใช้ดุลพินิจมาก ถ้าเห็นว่าอคติหรือคุณสมบัติบางอย่างของผู้ตัดสินอาจส่งผลต่อดุลพินิจที่ควรยุติธรรม จักถูกเปลี่ยนตัวทันทีโดยไม่รอให้แสดงความเห็นทางคดีก่อน ตัวอย่างการใช้ดุลพินิจของต่างประเทศที่อาจส่งผลต่อเสรีภาพหรือชีวิตจำเลยซึ่งเขาจะไม่ปล่อยผ่านไปเด็ดขาด คือ จำเลยในคดีฆาตกรรมเกย์คู่ขา ระหว่างการพิจารณาคดีทนายจำเลยร้องขอเปลี่ยนผู้พิพากษาทันทีเมื่อพบว่า เขาเคยไปร่วมเสวนาและพูดสนับสนุนให้ต่อต้านเกย์ในที่ประชุมแห่งหนึ่ง ศาลต่างประเทศสั่งเปลี่ยนผู้พิพากษาคนนั้นทันทีด้วยเหตุผลว่าอาจส่งผลต่อการใช้ดุลพินิจในคดีที่จำเลยเป็นเกย์ จักเห็นว่าองค์กรศาลตะวันตกไม่ปล่อยให้ใช้ดุลพินิจก่อนแล้วไปอุทธรณ์ฎีกาทีหลัง เป็นต้น

          งานยุติธรรมไทยวันนี้ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับอิสระขององค์กรที่ใช้ดุลพินิจไร้ขอบเขต การตีความให้แคบหรือขยายอำนาจออกไปบริหารบ้านเมืองผ่านดุลพินิจ จนกระทั่งนักวิชาการบางคนมองว่า ประเทศไทยวันนี้มิได้ปกครองตามหลักประชาธิปไตยที่ต้องมีสามอำนาจหลักคานกันและกันไว้ คือ ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ เนื่องจากอำนาจตุลาการสามารถบริหารบ้านเมืองผ่านการแต่งตั้งกรรมการจากตุลาการไปอยู่ในหน่วยงานที่ควบคุมฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ แล้วยังเป็นผู้ตรวจสอบและตัดสินการทำงานของข้าราชการหรือนักการเมืองได้อีกโดยเขียนสำนวน ส่งฟ้อง และตัดสินได้ในคนกลุ่มเดียวคือฝ่ายตุลาการ ถ้าหน่วยงานรัฐที่ฝ่ายตุลาการบริหารงานอยู่เกิดการทุจริตขึ้น ความยุติธรรมจะหาได้จากจุดใด เมื่อฝ่ายตุลาการเป็นผู้บริหารองค์กรที่ถูกกล่าวหาว่าทุจริตและยังเป็นผู้ตัดสินเรื่องนี้เองด้วย อีกทั้งการแต่งตั้งบุคคลหรือการออกกฎหมายซึ่งเป็นอำนาจเฉพาะของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ วันนี้อำนาจตุลาการสามารถยกเลิก เพิกถอน อย่างไร้ขอบเขตโดยการใช้ดุลพินิจส่วนบุคคลซึ่งไม่คำนึงถึงหน้าที่หรือหลักปกครองแบบประชาธิปไตยก็ได้ ทำให้ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติทำงานอย่างหวาดเกรงการเข้าแทรกแซงของฝ่ายตุลาการผ่านดุลพินิจ ในทางกลับกันฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีดุลยภาพแห่งอำนาจในฝ่ายตุลาการเลย

           ฝาโลงสามแผ่นที่ใช้ควบคุมคนกระทำความผิด คือ ตำรวจ อัยการ และ ราชทัณฑ์ ดุลพินิจเปรียบเสมือนฝาโลงแผ่นสุดท้ายที่จะกักขังผู้กระทำความผิดหรือผู้บริสุทธิ์ก็ได้ ถ้าผู้ใช้ดุลพินิจไม่มีความรู้ ไร้จิตสำนึกความเป็นมนุษย์  ไม่มีจรรยาบรรณในหน้าที่ ไม่มีหัวใจยุติธรรมและไม่ยึดมั่นต่อหลักปกครองในประเทศอย่างถูกต้อง ย่อมไม่มีวันใช้ดุลพินิจอย่างเป็นธรรมได้ดังนั้น ระบบควบคุมและตรวจสอบการใช้ดุลพินิจและการคัดเลือกผู้ใช้อำนาจจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปฏิรูปในระบบงานยุติธรรมไทยโดยเร็วที่สุด มิฉะนั้น แพะรับบาปในข้อพิพาทจะไม่มีวันหมดไปจากสังคม เราถูกสอนต่อเนื่องกันมาว่า อำนาจตุลาการมีหน้าที่ในการตัดสินอรรถคดีด้วยกฎหมาย ปกป้องสิทธิเสรีภาพ และให้ความเป็นธรรมแก่คนไทย ไม่มีสักคำสอนที่บอกว่า ฝ่ายตุลาการมีหน้าที่บริหารบ้านเมืองหรือเขียนกฎหมายมาบังคับใช้กับประชาชน วันนี้อำนาจตุลาการใช้ดุลพินิจเพื่อบริหารประเทศและเขียนกฎหมายให้ประชาชนโดยทางอ้อม ถือว่าทำหน้าที่ล้นขอบไปหรือไม่ ที่พึ่งสุดท้ายเพื่อหาความเป็นธรรมให้ประชาชนยังอยู่ที่อำนาจตุลาการจริงหรือไม่ คนไทยควรทบทวนบทบาทของฝ่ายตุลาการให้ถี่ถ้วนอีกครั้งโดยไม่ลืมว่านี่คือยุคใดและเพื่อนร่วมโลกบริหารจัดการบทบาทของฝ่ายตุลาการอย่างไรให้น่าเชื่อถือได้ แล้วเร่งปรับปรุง แก้ไข ปัญหานั้นโดยเร็ว มิฉะนั้น วันหนึ่งคนไทยซึ่งอาจเป็นท่านจักเป็นเหยื่อความอยุติธรรมนี้และต้องนอนในโลงที่ชื่อว่า ดุลพินิจ

       การรู้จักพอเพียงในอำนาจและยึดมั่นต่อหน้าที่ของตน ทำให้สังคมสงบสุขได้ง่ายมาก ดังที่ผู้ใหญ่ในอดีตสอนคนรุ่นต่อไปเป็นคำเตือนที่ไม่เคยล้าสมัยว่า สิ่งของที่ไม่ควรเป็นของตน แม้ยัดเยียดให้เรา ก็ไม่จำต้องรับไว้ถ้ารู้จักความพอเพียงอย่างแท้จริง แค่คำปฏิเสธก็ช่วยให้สังคมไม่วุ่นวายได้ ฝ่ายตุลาการยุคนี้เข้าใจคำว่า พอเพียง อย่างถูกต้องหรือไม่ ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างหรือไม่ คนไทยควรตัดสินจากพฤติการณ์การแสดงออกเป็นหลักมากกว่าคำพูดที่พลิกพลิ้วไหวเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่ตน เหตุใดประชาชนจึงเป็นฝ่ายเดียวที่ควรใช้วิถีชีวิตพอเพียง ขณะที่ผู้มีอำนาจฝ่ายต่างๆไม่จำต้องยึดถือวิถีนี้ คนไทยยุคนี้คงหาคำตอบได้ไม่ยาก เมื่อยังเหลือเสรีภาพทางความคิดไว้ติดกายอยู่

 

******************************

 

Credit: เขียนโดย ลูกแก้ว
#ศาล
HOBOMAN
นักแสดงนำ
สมาชิก VIP
29 ก.ย. 55 เวลา 15:25 1,186 20
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...