ที่ผ่านมา แม้จะเคยไปทำข่าวที่หาดใหญ่ หรืออำเภออื่นๆ ในจังหวัดสงขลา หลายครั้งหลายหน แต่ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าเมืองนี้มีการทำกระเบื้องกันมาตั้งแต่โบราณกาล กระทั่ง ดร. เอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ชักชวนนักข่าวไปดูของจริงว่า เขาทำกันอย่างไร โดยบ้านที่ไปกันนั้น เป็นบ้านของ "คุณลุงอ้อม ทิพโอสถ" ครูภูมิปัญญาไทยด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม (การผลิตกระเบื้องดินเผาแบบโบราณ) รุ่นที่ 7 พ.ศ. 2554 ซึ่งตั้งอยู่ บ้านเลขที่ 118 หมู่ที่ 6 บ้านท่านางหอม ตำบลนาน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยตัวบ้านก็มุงหลังคากระเบื้องแบบโบราณที่ทำใช้เอง
ด้วยความที่คุณลุงอ้อมเป็นคนใต้และอายุมากถึง 81 ปีแล้ว พูดสำเนียงภาษาใต้ ซึ่งคนภาคกลางอาจจะไม่คุ้นชิน ดังนั้น จึงให้ลูกสาว "คุณวารุณี ทิพโอสถ" รับหน้าที่ตอบข้อซักถามต่างๆ แทน
คุณวารุณี ย้อนอดีตให้ฟังว่า กระเบื้องนี้เดิมเรียกกันว่า กระเบื้องเกาะยอ เพราะทำที่เกาะยอเป็นแห่งแรก ตามประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลาระบุว่า ทำกันมาตั้งแต่ รัชกาลที่ 3 โดยชาวจีนฮกเกี้ยนนำเข้ามาเผยแพร่ ซึ่งในอดีตเมื่อ 30-40 ปี ในพื้นที่รอบๆ ทะเลสาบสงขลา มีโรงทำกระเบื้องกว่า 200 โรง แต่พอมีโรงงานผลิตกระเบื้องเซรามิก กระเบื้องลอนแบบสมัยใหม่ ก็เลิกกิจการแทบทั้งหมด
สาเหตุสำคัญคือ ขาดแคลนแรงงาน เพราะหนุ่มสาวส่วนใหญ่ก็ไปทำโรงงานกัน เนื่องจากเป็นงานที่เหนื่อย ทำให้เด็กรุ่นใหม่ไม่อยากทำ ที่ทำอยู่ก็จะเป็นแรงงานเก่า คนสูงวัยทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม แม้โรงงานทำกระเบื้องแบบโบราณจะเลิกกิจการกันไป แต่ยังมีความต้องการในการใช้กระเบื้องแบบนี้อยู่ คือคนที่สร้างบ้านทรงไทย สร้างรีสอร์ต สร้างร้านอาหาร และโบราณสถานต่างๆ ที่ต้องการอนุรักษ์ของเก่าของโบราณไว้ ซึ่งทางครอบครัวของคุณลุงอ้อมก็จะรับทำให้ตามที่สั่ง แต่ปกติแล้วจะทำเฉพาะกระเบื้องปูหลังคา
ครอบครัวนี้ทำกันมาหลายรุ่นแล้ว โดยคุณลุงอ้อมเรียนรู้วิธีการทำกระเบื้องจากปู่ ย่า ตา ยาย และพ่อแม่ตั้งแต่อายุ 14 ปี
กระทั่งถึงรุ่นคุณลุงอ้อม ปัจจุบันถึงรุ่นลูกที่มีลูกสาวคนโตที่ชื่อ คุณละออ เป็นผู้รับช่วงต่อจากผู้เป็นพ่อที่มีอายุมากแล้ว ทำไม่ค่อยไหวแล้ว แต่คุณแม่ก็ช่วยทำอยู่ โดยยังคงกรรมวิธีและรูปแบบเดิมทุกอย่าง ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง อย่างเตาเผาก็ใช้กันมานานกว่าร้อยปีแล้ว
ถ้าพูดถึง กระเบื้องเกาะยอ หลายคนอาจจะนึกภาพไม่ออก แต่ถ้าบอกว่าเป็นกระเบื้องแบบโบราณที่เราเห็นกันตามวัดวาอารามเก่าๆ อาจจะหายสงสัย เป็นกระเบื้องขนาดไม่ใหญ่ ออกสีส้มหัวแหลมเป็นรูปสามเหลี่ยม
คุณสมบัติเด่นของกระเบื้องโบราณนี้ คุณวารุณี อธิบายว่า ทำให้อาคารเย็นสบาย ถ้าอากาศข้างนอกร้อนอาคารข้างในจะเย็น และมีความคงทนด้วย
สำหรับส่วนผสมของกระเบื้องโบราณเธอว่า ไม่มีอะไร นอกจากดินเหนียวน้ำเค็มล้วนๆ จากธรรมชาติ ไม่มีเศษกรวดทรายปน เป็นดินเหนียวบริสุทธิ์ แถบบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา ซึ่งในการขุดดินเหนียวนั้น ก่อนจะถึงดินที่ใช้ได้จะต้องขุดหน้าดินออกประมาณ 40 เซนติเมตร
จากนั้น นำมานวดเพื่อไม่ให้เกาะกันเป็นก้อน ใช้เท้านวดให้เข้ากัน ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วมาทำเป็นแผ่นกระเบื้อง ไม่มีส่วนผสมอะไรเลย เป็นสีธรรมชาติ พอเผาเสร็จจะเป็นสีแดงหรือสีส้ม โดยต้องเผาให้ได้ที่จนดินมีความแกร่ง หลังจากนั้น นำออกจำหน่ายได้เลย ซึ่งที่ผ่านมามักผลิตไม่พอขาย เพราะมีคนทำไม่กี่คน
ฟังแบบนี้อาจจะนึกว่า ทำง่าย แต่พอถึงขั้นตอนการเผา ปรากฏว่ากินเวลานานเป็นสิบสิบวัน อย่างที่คุณวารุณีแจกแจง สมัยก่อนใช้เวลาเผา 24 วัน กระบวนการเผา ตอนแรกเป็นไฟลม คือการไล่ความชื้นออกจากแผ่นกระเบื้องทั้งหมดก่อน พอกระเบื้องแห้งดีแล้วก็สุมไฟตลอดเวลา โดยใช้ไม้ฟืน และต้องใช้ไฟแรงมาก ประมาณ 13-14 วัน กว่าจะออกมาเป็นแผ่นกระเบื้องแบบนี้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันระยะเวลาการเผาลดน้อยลง เหลือเพียง 14 วัน แต่กรรมวิธีเหมือนเดิมทุกอย่าง ซึ่งจะมีวิธีดูว่ากระเบื้องได้ที่แล้วหรือยัง
ส่วนคำถามที่ว่า ถ้าใช้ดินเหนียวน้ำจืดจะดีกว่าไหมนั้น ประเด็นนี้คุณวารุณีตอบว่า ดินเหนียวน้ำจืดจะใช้ส่วนผสมเยอะกว่า มีน้ำยาใส่ เพราะเป็นดินเหนียวที่จะต้องนำมาร่อนให้ร่วนก่อน
อย่างที่บอก กระเบื้องเกาะยอ ที่ครอบครัวคุณลุงอ้อมทำอยู่นี้ ใช้กรรมวิธีแบบโบราณ จึงไม่มีเครื่องจักรใดๆ ใช้แรงงานคนล้วนๆ โดยในแต่ละคน พี่สาวและคนงานอีก 3 คน จะทำได้วันละประมาณ 500-600 แผ่น ซึ่งต้องรอให้ทำแผ่นเกล็ดครบ 50,000 แผ่น ใช้เวลาเดือนเศษ จึงนำเข้าเตาเผา
สำหรับราคาขายแผ่นเกล็ดแบบนี้ ตกแผ่นละ 8 บาท ราคาดังกล่าวจะถูกกว่าที่อื่น แต่จะมีความหนาน้อยกว่า
ปัจจุบัน โรงทำกระเบื้องโบราณของคุณลุงอ้อมถือเป็นแหล่งเรียนรู้อีกแห่งของจังหวัดสงขลา โดยจะมีนักเรียนระดับประถมและมัธยมศึกษาเข้ามาศึกษา มาฝึกทำกันตลอด นอกจากนี้ สถาบันทักษิณก็ยังมาเก็บข้อมูลเพื่อบันทึกให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้
ผู้สนใจ อยากเข้ามาศึกษาดูงาน หรือสั่งทำกระเบื้องโบราณ สอบถามได้ที่โทร. (074) 550-352, (074) 550-240, (081) 969-4457
ดร. เอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์
สกศ. จะประชุมครูภูมิปัญญาไทย ในส่วนของอาเซียน เพื่อเชิญครูภูมิปัญญาของแต่ละสาขาต่างๆ มาแลกเปลี่ยนความรู้กัน และเราจะเป็นศูนย์กลางของครูภูมิปัญญาไทยและของอาเซียน เราจะเป็นแกนนำในเรื่องเหล่านี้ และจะทำเป็นเว็บไซต์ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเกี่ยวกับบทความความรู้ต่างๆ ของครูภูมิปัญญา เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน ท้องถิ่น ในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย เช่น เรื่องสมุนไพร หรือแม้แต่เรื่องการทำกระเบื้องโบราณ
อย่างกรณี บ้านครูอ้อม ทิพโอสถ ที่อยู่แถวเกาะยอ ผลิตกันมาตั้งแต่ รัชกาลที่ 3 เป็นกระเบื้องดินเผาที่ใช้ดินเหนียวแถบทะเลสาบลุ่มแม่น้ำสงขลา เราน่าจะอนุรักษ์ ขณะเดียวกันอยากให้สถาบันทางการศึกษาใกล้เคียงมาดูมาศึกษา เพราะเป็นกระเบื้องที่เป็นธรรมชาติและป้องกันความร้อนด้วย ซึ่งจริงๆ แล้ว น่าจะเป็นนโยบายของโลกด้วย เพื่อป้องกันปัญหาโลกร้อน แต่ปัจจุบันเราไม่ได้ใช้กันแล้ว
ดังนั้น จึงควรจะส่งเสริมในลักษณะของการสร้างมูลค่าให้เพิ่มมากกว่านี้ อย่างกระเบื้องแผ่นหนึ่งขายไม่กี่บาท แต่จะทำอย่างไรให้ดินมีมูลค่าเพิ่มมากกว่านี้ ทางมหาวิทยาลัยในท้องถิ่นอาจจะเข้ามาช่วยงานวิจัยค้นคว้าใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้คนในชุมชนเหล่านี้ได้ทำต่อไป นอกจากทำกระเบื้องแล้ว สามารถผลิตอุปกรณ์อื่นๆ ได้ไหม เป็นเซรามิก ถ้วยกาแฟ ชาม และหม้อดิน ฯลฯ และก็มีการวาดลวดลายเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า เพราะปัจจุบันลูกหลานคนรุ่นใหม่ไม่สนใจที่จะมาทำงานด้านนี้กันอีกแล้ว ทำอย่างไร ที่จะทำให้เยาวชนเด็กรุ่นใหม่หันมาผลิตสินค้าโดยอาศัยสิ่งที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาดำเนินการ
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ ผมได้หารือกับ ครูประยงค์ รณรงค์ ครูภูมิปัญญาไทย ด้านกองทุนและธุรกิจชุมชน ท่านได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะในเรื่องการปลูกยางพารา เนื่องจากราคาน้ำยางพาราเริ่มลดลง เพราะว่าเราปลูกกันทั่วประเทศ และมีอีก 30 ประเทศ ที่ปลูกยางพารา จีนก็สนับสนุนให้เกษตรกรในมณฑลยูนนานปลูก อีกหน่อยราคายางพาราก็ยิ่งลดลง ในอนาคตราคาก็จะตกต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของปาล์มน้ำมัน
ครูประยงค์ บอกว่าได้เคยเสนอต่อรัฐบาลหลายชุด ว่าควรจะมีการเตรียมการ เพราะว่าใน ปี 2558 เราจะเปิดเสรีทางด้านการค้าและการบริการต่างๆ ราคาน้ำมันปาล์มจากประเทศมาเลเซียหรือประเทศเพื่อนบ้านก็จะถูกลง ทีนี้เกษตรกรไทยจะทำอย่างไร เนื่องจากราคาต้นทุนการผลิตของเราสูง พอปี 2558 เกษตรกรที่จะปลูกปาล์มน้ำมันจะมีปัญหามากมาย
ฉะนั้น หนทางการแก้ไขที่ดีที่สุดคือ ทางกระทรวงพลังงานและกระทรวงเกษตรฯ จะต้องมาร่วมมือกัน เช่น ให้เกษตรกรตั้งกลุ่มมีการผลิตน้ำมันปาล์มขึ้นมาทำไบโอดีเซล ถ้าเราเตรียมการตั้งแต่เนิ่นๆ ปัญหาเรื่องราคาตกต่ำก็จะไม่มี