เรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีนได้ขึ้นระวางประจำการแล้วในวันนี้ (25 ก.ย.) ส่งผลให้จีนสามารถขยายแสนยานุภาพทางทะเลออกสู่ทะเลลึก ในช่วงเวลาเดียวกับที่ความตึงเครียดทางทะเลในภูมิภาคเพิ่มมากขึ้น
เรือเหลียวหนิง ขนาดความยาว 300 เมตร จีนซื้อมาจากยูเครน และทำการบูรณะปรับปรุงใหม่ โดยตั้งชื่อใหม่ว่าเหลียวหนิง ตามชื่อมณฑลที่เป็นที่ตั้งของเมืองต้าเหลียน ฐานทัพเรือแห่งสำคัญของจีน
ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา และนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่า เข้าร่วมในพิธีขึ้นระวางประจำการเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกที่ท่าเรือเมืองต้าเหลียน โดยกล่าวว่า เรือลำนี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดและสร้างพลังแห่งการรักชาติ
ขณะที่ปัจจุบัน เรือดังกล่าวยังคงไม่มีเครื่องบินและนักบินประจำการ และอยู่ระหว่างการทดสอบแล่นในทะเลลึก และจะใช้พื่อการฝึกซ้อมและอาจปฏิบัติการได้จริงในอีกหลายปีข้างหน้า แต่จีนเผยว่าจะทำการเพิ่มประสิทธิภาพเรือเหลียวหนิง เพื่อให้ช่วยปกป้องผลประโยชน์ของชาติต่อไป
การขึ้นระวางประจำการเรือบรรทุกเครื่องบินทำให้จีนคือชาติสุดท้ายใน 5 ชาติสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่มีเรือบรรทุกเครื่องบิน
ก่อนหน้าการเข้าประจำการ จีนนำเรือบรรทุกเครื่องบินออกทดสอบในทะเลมาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว สร้างความหวั่นวิตกแก่ชาติมหาอำนาจในภูมิภาคเช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐ แม้จีนยืนยันว่าจะใช้เรือบรรทุกเครื่องบินเพื่อการฝึกและต่อยอดการพัฒนา
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญการทหารกล่าวว่า จีนกำลังพัฒนากองบินโจมตีและสนับสนุนเรือผิวน้ำ ซึ่งจะทำให้เรือบรรทุกเครื่องบินถูกใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สื่อมวลชนจีนได้เผยแพร่ภาพถ่ายหลายภาพที่แสดงถึงเครื่องบินที่สร้างขึ้นภายในประเทศอยู่บนเรือบรรทุกเครื่องบินลำนี้
หัวหน้าหน่วยข่าวกรองไต้หวันกล่าวว่า จีนตัดสินใจสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินอีก 2 ลำ ซึ่งแม้มีข่าวลือว่าการก่อสร้างเริ่มขึ้นแล้ว แต่ยังไม่มีหลักฐาน
เรือเหลียวหนิง มีเดิมมีชื่อว่า "วาร์ยัค" ซึ่งมีการต่อขึ้นครั้งแรกในช่วงยุค 1980 ให้แก่กองทัพรัสเซีย แต่ไม่สำเร็จ และเมื่อสหภาพโชเวียตล่มสลายเมื่อปี 1991 เรือดังกล่าวได้ถูกจอดไว้ที่อู่ต่อเรือในยูเครน ก่อนที่จะถูกซื้อต่อโดยบริษัทที่มีสายสัมพันธ์กับกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีน ซึ่งเดิมจะใช้ทำเป็นเรือคาสิโน และลอยลำในมาเก๊า และปี 2001 เรือจึงถูกส่งต่อให้จีน ก่อนที่กองทัพจีนจะยืนยันเมื่อปีที่แล้วว่า เรือดังกล่าวจะถูกปรับปรุงเป็นเรือบรรทุกเครื่องบินลำแรกของจีน