บทวิเคราะห์ iPhone 5

 

และแล้ววันเวลาก็วนมาครบรอบปีอีกครั้ง แอปเปิลเปิดตัว iPhone 5 ซึ่งก็มีทั้งคนผิดหวังและสมหวัง (ดูผลโหวตจากโพล)

ช่วงหลังมานี้ ผมเขียนบทวิเคราะห์หลัง iPhone รุ่นใหม่เปิดตัวเสมอ (ปี 2010 ทุกอย่างที่คุณควรรู้กับ iPhone 4 เมื่อกษัตริย์คืนบัลลังก์, ปี 2011 อย่าเพิ่งผิดหวังกับ iPhone 4S, ของแถม บทวิเคราะห์ Samsung Galaxy S III เมื่อนวัตกรรมย้ายไปอยู่บนซอฟต์แวร์) คราวนี้ก็ขอยึดธรรมเนียมเดิม เขียนบทวิเคราะห์ iPhone 5 สักหน่อยครับ

สำหรับรายละเอียดของ iPhone 5 อ่านในข่าวหมวด iPhone 5 กันเอง อันนี้วิเคราะห์อย่างเดียว

คำถามสำคัญ: ตกลงแล้วเราเลือกมือถือเพราะอะไรกันแน่?

การเปิดตัว iPhone 5 เมื่อคืนนี้ ตั้งคำถามสำคัญสำหรับผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนให้คิดทบทวนว่า ตกลงแล้วเราเลือกซื้อมือถือด้วยเหตุผลอะไรกันแน่ ในกรณีของ iPhone 5 ตัวเลือกก็คือ

ซื้อเพราะ iPhone 5 มีคุณสมบัติเหนือกว่าคู่แข่งในท้องตลาด หรือ ซื้อเพราะมันเป็น iPhone รุ่นล่าสุดจากแอปเปิล

คำตอบคงไม่มีผิดถูก และเป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคล แต่ผมเชื่อว่ามีคนที่เลือกด้วยเหตุผลข้อหลังมากกว่าข้อแรกเป็นจำนวนไม่น้อย ถ้าให้เรียกอีกแบบก็ต้องบอกว่า เลือกเพราะ ecosystem ของแอปเปิล ไม่ใช่เลือกเพราะตัวฮาร์ดแวร์

คำว่า ecosystem ในที่นี้คงไม่ได้หมายถึงแค่จำนวนแอพเท่านั้น แต่รวมไปถึงบริการอื่นๆ ที่ผูกมาด้วยอย่างคอนเทนต์ดิจิทัลใน iTunes, ระบบของ iCloud นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องปริมาณและความหลากหลายของอุปกรณ์เสริม และจำนวนสินค้าอื่นๆ ของแอปเปิล (เช่น iPad หรือแมค) ที่มีในครอบครองด้วย

นี่เป็นเหตุผลว่าทำไม iPhone 4S ถึงขายดีมาก และเหตุผลเดียวกันนี้จะส่งผลแบบเดียวกันกับ iPhone 5 ด้วย เนื่องจาก ecosystem ของแอปเปิลยังเหนือกว่าคู่แข่งนั่นเอง

การแข่งขันด้านคุณสมบัติของฮาร์ดแวร์และราคานั้นแข่งกันไม่ยาก (คำใบ้ = ซัมซุง) แต่เรื่องซอฟต์แวร์ (ที่เป็นระบบปิด) และ ecosystem เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา และไม่สามารถสร้างสำเร็จได้ในชั่วข้ามคืน (คำใบ้ = Google Play) แอปเปิลในฐานะผู้มาก่อนและดำเนินการได้ดีกว่าใครมาตั้งแต่ต้น จึงยังสามารถคงจุดขายตรงนี้เอาไว้ได้

ของใหม่ในฮาร์ดแวร์ iPhone 5 = พัฒนาการช้าๆ เพื่อประสบการณ์ใช้งานที่ดีกว่า

ถ้ามานั่งดูของใหม่ใน iPhone 5 ว่ามีอะไรเพิ่มมาจาก iPhone 4S บ้าง จะเห็นว่าของที่เพิ่มเข้ามาในส่วนของฮาร์ดแวร์ เป็นสิ่งที่กระทบต่อการใช้งานจริงในชีวิตประจำวัน เช่น

หน้าจอใหญ่ขึ้น เครื่องบางลง ซีพียูเร็วกว่าเดิม แบตอยู่ได้นานขึ้น Wi-Fi รับส่งข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น (ใช้ไม่ได้ทุกกรณี ต้องดูฝั่งรับข้อมูลด้วย) กล้องดีขึ้น รองรับเครือข่ายที่เร็วขึ้นอย่าง LTE (เมืองไทยตัดข้อนี้ทิ้งไป)

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การเพิ่มฟีเจอร์ใหม่หรือนวัตกรรมเข้ามาสักเท่าไร แต่เป็นการปรับปรุงสิ่งพื้นฐานให้ดีกว่าเดิม ซึ่งแนวทางนี้เราเห็นมาแล้วตั้งแต่ iPhone 4S ที่ปรับปรุงซีพียู กล้อง แบตเตอรี่ ฯลฯ ผลคือผู้ใช้ iPhone 5 จะได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีกว่าในภาพรวม

ในบทความเรื่อง Galaxy S III ผมเขียนเอาไว้ว่า "เมื่อฮาร์ดแวร์เริ่มตัน และนวัตกรรมกำลังย้ายไปอยู่บนซอฟต์แวร์" มาถึงวันนี้ ผมก็ยังยืนยันคำพูดเดิมอยู่ ในรอบ 4-5 ปีที่ผ่านมาเราเห็นวิวัฒนาการของฮาร์ดแวร์มือถืออย่างก้าวกระโดด (ลองเทียบ iPhone 5 กับ iPhone รุ่นแรก หรือ Galaxy S III กับ T-Mobile G1 ดูสิครับ) มือถือยัดฟีเจอร์ใหม่ๆ เข้ามาจนไม่รู้จะใส่อะไรเข้ามาอีกแล้ว ในขณะที่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดของตัวเครื่องและแบตเตอรี่ ผู้ผลิตมือถือที่ดีคงต้องหาสมดุลในมิติด้านนี้ มากกว่าใส่ฟีเจอร์ทางฮาร์ดแวร์เข้ามาเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

จุดที่ผมคิดว่าเป็นปัญหาของ iPhone 5 คือเรื่อง compatibility กับระบบเดิม ซึ่งมีสำคัญๆ อยู่ 2 อย่าง

Nano SIM ที่ตอนนี้คงไปใช้ร่วมกับใครไม่ได้เลย (แต่ถ้าคิดจะใช้ iPhone 5 จริงๆ คงไม่ใช่ปัญหาเท่าไรนัก และโอเปอเรเตอร์ก็มีเตรียมไว้ให้อยู่แล้ว) dock connector แบบใหม่ Lightning อันนี้เป็นปัญหาแน่นอน เพราะอุปกรณ์เสริมเดิมๆ ทั้งหมดในตลาดจะใช้กับ iPhone 5 ไม่ได้เลย (ถึงจะมีหัวแปลงแต่ก็แก้ไม่ได้ทั้งหมด) ผมสนับสนุนการเปลี่ยนมาใช้ Lightning ด้วยเหตุผลทางเทคนิคที่ดีกว่าจริงๆ แต่แอปเปิลควรเปลี่ยนเร็วกว่านี้ (อาจเป็นตอน iPhone 4) ตอนนี้อุตสาหกรรมรายล้อม dock connector แบบเดิมมีขนาดใหญ่มาก จนการเปลี่ยนแปลงสร้างผลกระทบสูง

ฝั่งของซอฟต์แวร์ เราคงเห็นชัดว่าแอปเปิลกำลังสร้างขุมกำลังของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ถัดจาก iCloud ที่เป็นจุดเด่นในปีที่แล้ว เราก็เห็นของใหม่อย่างระบบแผนที่, Photostream, Facebook integration ถูกเพิ่มเข้ามา อย่างไรก็ตาม หลายอย่างเป็นเรื่องที่แอปเปิลเพิ่มเข้ามาเพื่อไล่ตามคู่แข่ง (เช่น แผนที่, iCloud Tabs หรือ Facebook) ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เอาจริงๆ แล้วฟีเจอร์ด้านซอฟต์แวร์แอปเปิลก็ยังตามกูเกิลอยู่หลายจุด อันที่ผมคิดว่าเป็นของใหม่จริงๆ น่าจะมีแค่ Passbook เท่านั้น (แถมยังเป็นฟีเจอร์ที่ต้องพึ่งพาบริษัทอื่นๆ ให้การสนับสนุนเป็นอย่างมาก)

ตัวของ iOS ผ่านช่วงสร้างนวัตกรรมมาแล้ว ตัวระบบเติบโตเต็มที่ ผ่านการลองผิดลองถูกมามาก และยึดติดกับรูปแบบการใช้งานที่พิสูจน์แล้วว่าเวิร์ค ประเด็นนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือผู้ใช้ไม่ต้องเรียนรู้อะไรใหม่ๆ เยอะ แต่ข้อเสียคืออัตราการสร้างนวัตกรรมเริ่มช้าลง

อัตราการสร้างนวัตกรรมที่ช้าลง

หากถามว่า iPhone 5 จะใช้ดีแค่ไหน ในฐานะที่ยังไม่เคยเห็นของจริง (และคงไม่มีใครแถวนี้เคยเห็น) ก็คงต้องบอกว่า "น่าจะดีกว่าของเดิม"

แต่ถ้าถามต่อว่า iPhone 5 ว้าวไหม ก็บอกได้เต็มปากว่า "ไม่เลย" (Lumia 920 ยังว้าวมากกว่าเสียอีก)

ในบทความ 5 คุณสมบัติที่น่าจะมีใน iPhone 5 แต่กลับไม่มี พร้อมเหตุผลจาก Phil Schiller เราเห็นคำอธิบายว่าทำไมแอปเปิลจึงไม่ใส่นวัตกรรมใหม่ๆ อย่าง NFC หรือระบบชาร์จไร้สายเข้ามา ซึ่งคำอธิบายบางข้อก็ดูสมเหตุสมผล แต่ถ้าว่ากันจริงๆ ผมเชื่อว่าแฟนแอปเปิลคงไม่อยากได้แค่ NFC หรือระบบชาร์จไร้สายที่มีในมือถือคู่แข่งหลายตัวแล้ว เพราะเราอยากได้สิ่งที่เจ๋งกว่านั้น เท่กว่านั้น ล้ำยุคกว่านั้น และไม่เคยมีใครทำมาก่อน ไม่มีคู่แข่งรายใดมี ใช่ไหมครับ?

เมื่อครั้งที่ iPhone 4 ออก ทุกคนพูดถึง Retina Display

เมื่อครั้งที่ iPhone 4S ออก ถึงแม้ฮาร์ดแวร์จะเกือบเหมือนเดิม แต่ก็ยังมี Siri มาให้ตื่นเต้น

แต่พอมาถึง iPhone 5 อะไรคือ wow factor อันนั้น?

ยุคทองของแอปเปิลเกิดจากการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมแตกต่างอย่างต่อเนื่อง ถ้าลองไล่มาตั้งแต่ iPod, iPhone จนมาถึง iPad เราเห็นการปฏิวัติตลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก คู่แข่งที่เริ่มจะไล่ทันในบางช่วงก็ต้องถูกทิ้งห่างอีกรอบ (ลองคิดถึงตอนที่ Android เริ่มตีตลาด iPhone หนักๆ แต่สุดท้ายแอปเปิลออก iPad มา กลายเป็นว่าถูกทิ้งในตลาดแท็บเล็ตอีกครั้ง)

ช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา อัตราการสร้างนวัตกรรมของแอปเปิลเยอะอย่างน่าทึ่ง แต่คนเราจะสามารถคงอัตราการสร้างนวัตกรรมแบบที่ว่าได้อีกนานแค่ไหนกัน? มันก็ต้องมีอาการ "คิดไม่ออก" กันบ้าง ซึ่งในแง่มนุษย์ปุถุชนทั่วไปก็คงไม่มีใครว่ากัน ทำได้ขนาดนี้ก็เจ๋งมากแล้ว

แต่ในมิติของการแข่งขันทางธุรกิจ สิ่งที่แอปเปิลขายไม่ใช่สินค้า แต่เป็น "นวัตกรรม" (สินค้าเป็นความต่อเนื่องในการตัดสินใจซื้ออีกทีหนึ่ง) ดังนั้นถ้าแอปเปิลผลิตนวัตกรรมได้ช้าลง อันนี้เริ่มเป็นปัญหาแล้วครับ

ในระยะสั้น แอปเปิลคงไม่ได้รับผลกระทบอะไรจากเรื่องนี้มากนัก iPhone 5 จะยังขายดี ecosystem ของแอปเปิลจะยังแข็งแกร่ง แต่ในระยะยาวเราคงต้องมาติดตามดูกันว่า มันจะส่งผลกระทบอะไรต่อยอดขายและผลกำไรของแอปเปิลหรือเปล่า

เรื่องนวัตกรรมที่ช้าลงของแอปเปิลนี้ ผมขอแนะนำให้อ่านบทความ Viewpoint: Apple's iPhone launches no longer exciteของ Dan Lyons (หรือชื่อที่ดังกว่าคือ Fake Steve Jobs) ซึ่งให้มุมมองต่อเรื่องนี้ไว้ดีมาก

สถานการณ์นี้จะคล้ายกับตอนแอปเปิลออก iPhone 3GS ในปี 2009 ซึ่งไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจาก iPhone รุ่นแรกและ iPhone 3G มากนัก ช่วงเวลานั้นเลยกลายเป็นโอกาสให้ฝั่ง Android ได้ฉกฉวย เริ่มจาก Motorola Droid ตัวแรกที่จุดกระแส Android ในสหรัฐ เนื่องจากคุณสมบัติที่มากกว่า iPhone หลายอย่าง (อ่านบทความ 74 วันแรก Motorola Droid ขายดีกว่า iPhone ประกอบ) จากนั้นในปีถัดมาก็ถูกถล่มต่อด้วย Samsung Galaxy S ตัวแรกที่จุดกระแส Android แบบพรีเมียมในตลาดโลก

แอปเปิลแก้เกมนี้สำเร็จด้วย iPhone 4 ในปี 2010 แต่ส่วนแบ่งตลาดก็โดน Android แย่งไปมาก ในรอบปีนี้เราต้องมาดูกันว่าปลายปีเราจะเห็นอะไรเด็ดๆ จากคู่แข่งฝั่ง Android อีกหรือไม่ (โดยเฉพาะ Nexus Series ที่ร่ำลือกัน) ตอนนี้บอลถูกเขี่ยไปให้กูเกิลเป็นฝ่ายทำเกมแล้ว และยังมี Lumia/Windows Phone คอยสอดแทรกอีกด้วย

บทสรุป iPhone 5 ถ้าใช้ iPhone 4/4S อยู่แล้ว เครื่องยังไม่พังก็ไม่ต้องซื้อใหม่ ความสามารถโดยรวมแทบไม่ต่าง ถ้าคิดจะซื้อ iPhone ใหม่พอดี การซื้อ iPhone 5 ถือเป็นตัวเลือกเดียว ไม่ต่างอะไรจากการซื้อ iPhone 4S ในรอบปีที่ผ่านมา (ในความหมายเดียวกับการซื้อ The new iPad ที่เลขรุ่นไม่ค่อยสำคัญอีกต่อไป) ถ้าคิดจะซื้อมือถือใหม่ และไม่จำกัดว่าเป็น iPhone Android หรือ Windows Phone เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ตัวเลือกหลากหลาย มีรุ่นที่ราคาถูกกว่ากันเป็นหมื่นแต่ความสามารถคุ้มค่า iPhone 4/4S รุ่นลดราคาเรียบร้อยแล้ว เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจมากในตอนนี้ ของคุณภาพดี ราคาถูกลง แลกกับความเท่ที่ลดลงเล็กน้อย
Credit: http://www.blognone.com/node/35994
25 ก.ย. 55 เวลา 12:30 1,453
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...