===> มาดูวิธีการทำใบขับขี่รถกันเถอะ <===
นำข้อมูลมาจาก http://www.dlt.go.th/driving_hp/contactdrl/drl-right09.htm ครับ
การทดสอบการขับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ แบ่งเป็น 3 ตอน คือ
(1) การทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย
(2) การทดสอบข้อเขียน
(3) การทดสอบขับรถ
การทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย
1. ทดสอบสายตาทางกว้าง ถ้าสามารถมองเห็นทั้งด้านซ้ายและด้านขวา เป็นมุมกว้างข้างละ 75 องศา 2 ใน 3 ครั้ง ให้ถือว่าผ่านการทดสอบ
2. ทดสอบสายตาทางลึก ให้ทดสอบการมองเห็นในระยะ 2.50 - 3.50 เมตร รวม 3 ครั้ง หากผลการทดสอบห่างจากจุดที่กำหนดไม่เกินกว่า 1 นิ้ว 2 ใน 3 ครั้ง ให้ถือว่าผ่าน
การทดสอบ โดยการทดสอบจะให้เรานั่งใช่ปุ่มบังคับให้เสาเล็กๆ ให้มาอยู่ในแนวตรงกัน หรือใกล้เคียง
3. ทดสอบสายตาบอดสี ให้ดูสีเขียว สีแดง และสีเหลืองจากเครื่องทดสอบหรือแผ่นภาพทดสอบที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดหรือเห็นชอบ โดยอยู่ห่างจากแผ่นภาพทดสอบ
ในระดับสายตาระยะไม่น้อยกว่า 3 เมตร แล้วอ่านสีตามที่เจ้าหน้าที่กำหนดสีละ 3 ครั้ง หากอ่านได้ถูกต้อง 2 ใน 3 ครั้ง ให้ถือว่าผ่านการทดสอบ
4. การทดสอบปฏิกิริยา ให้ทดสอบความสามารถในการใช้เบรกเท้ารวม 3 ครั้ง หากสามารถเหยียบเบรกได้ในระยะเวลาน้อยกว่า หรือเท่ากับ 0.75 วินาที 2 ใน 3 ครั้ง ให้ถือ
ว่าผ่านการทดสอบ
การทดสอบข้อเขียน จะต้องเข้าห้องอบรม 2 ชั่วโมง อบรมความรู้เกี่ยวกับกฎหมายจราจร กฎหมายว่าด้วยรถยนต์,กฎหมายทางหลวง และการขับรถที่ถูกต้องปลอดภัย
ผู้เข้ารับการทดสอบข้อเขียนต้องทดสอบความรู้ในข้อควรปฏิบัติ หรือข้อบังคับการเดินรถตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ตามชนิดของใบอนุญาต กรณีเป็นการทดสอบสำหรับการขอรับใบอนุญาตขับรถสาธารณะ ต้องทดสอบความรู้เกี่ยวกับถนนและทางหลวงในเขตจังหวัดที่ขอรับใบอนุญาตขับรถนั้นด้วย
กรณีทดสอบข้อเขียนในเขตกรุงเทพมหานคร จะใช้วิธีการทดสอบด้วยระบบ E-exam จำนวน 30 ข้อ ข้อละ 1 คะแนน และต้องได้ 23 คะแนนขึ้นไปจึงจะถือว่าผ่านการทดสอบ แต่ถ้าเป็นสำนักงานขนส่งจังหวัดอื่น ๆ ใช้วิธีการทดสอบโดยแบบทดสอบ ซึ่ง แบบทดสอบข้อเขียนเป็นแบบปรนัย มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 ชุด แต่ละชุดมี 30 ข้อ ๆ ละ 1 คะแนน หมุนเวียนสับเปลี่ยน แต่ละชุดตามความเหมาะสม โดยใช้เวลาทดสอบประมาณ 30 นาที และต้องได้คะแนน 22 คะแนน ขึ้นไป จึงถือว่าผ่านการทดสอบ ส่วนรถจักรยานยนต์ แต่ละชุดมี 20 ข้อ และต้องได้คะแนน 15 คะแนนขึ้นไป จึงถือว่าผ่านการทดสอบ
กรณีผู้เข้ารับการทดสอบอ่านและเขียนหนังสือไม่ได้ ให้เจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินการทดสอบอ่านคำถามให้ฟังแล้วให้ผู้เข้ารับการทดสอบตอบด้วยปากเปล่าและทำเครื่องหมายด้วยตนเอง และให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการทดสอบบันทึกในกระดาษคำตอบว่า "สอบปากเปล่า" พร้อมทั้งลงนามกำกับไว้เป็นหลักฐานเมื่อเสร็จสิ้นการสอบ ให้รีบตรวจคำตอบ
และแจ้งผลการทดสอบให้ทราบโดยเร็ว
การทดสอบขับรถยนต์ ให้ทดสอบขับรถ จำนวน 3 ท่า คือ ท่าที่ 1 และท่าที่ 2 เป็นท่าบังคับ และเลือกทดสอบอีก 1 ท่าตามความเหมาะสมของสนามทดสอบ ยกเว้นรถเกียร์
อัตโนมัติไม่ใช้ท่าที่ 4 (มักเป็นท่าที่ 5 อ่ะ)
ท่าที่ 1 การขับรถเดินหน้าและหยุดรถเทียบทางเท้า
ผู้เข้ารับการทดสอบต้องขับรถเดินหน้าตั้งแต่เริ่มขับรถอย่างต่อเนื่องไปจนถึงจุดทดสอบที่กำหนดให้หยุดรถ โดยให้หยุดรถได้เพียงครั้งเดียว ณ จุดที่กำหนดให้หยุดเท่านั้น ด้านซ้ายของรถต้องขนานขอบทางและห่างจากขอบทางไม่เกิน 25 เซนติเมตร กันชนหน้าหรือล้อหน้าสุดหรือขอบล้อสำหรับที่ไม่มีกันชนหน้าต้องไม่ล้ำเกินจุดหยุดรถข้างทาง และต้องอยู่ห่างจากจุดหยุดรถนั้น ไม่เกิน 1 เมตร และต้องไม่ขับรถปีนทางเท้าหรือขอบทาง
ท่าที่ 2 การขับรถเดินหน้าและถอยหลังในทางตรง ให้เลือกทดสอบแบบใดแบบหนึ่ง ดังนี้
แบบที่ 1 ให้ขับรถเดินหน้าและถอยหลังออกโดยตลอดช่องเดินรถ ซึ่งประกอบด้วยหลักที่ตั้งไว้ในแนวตรงขนานกัน 2 แถว มีความยาวประมาณ 10 - 12 เมตร หลักแต่ละหลักในแถวเดียวกัน มีระยะห่าง 1.5 เมตร ส่วนความกว้างของช่องเดินรถเท่ากับความกว้างสุดของตัวรถรวมกระจกมองข้างบวกเพิ่มอีก 0.5 ิเมตร ต้องไม่ขับรถชนหรือเบียดหลัก ให้ขับรถเดินหน้าหรือถอยหลังได้เพียงครั้งเดียว และเครื่องยนต์ต้องไม่ดับ
แบบที่ 2 ให้ขับรถเดินหน้าและถอยหลังออกโดยตลอดช่องเดินรถ ซึ่งมีขนาดความกว้าง 2.50 เมตร ยาว 10 - 12 เมตร เป็นระยะคงที่ใช้กับรถทุกขนาด ล้อรถต้องไม่ทับเส้น หรือไม่ชน หรือเบียดหลัก ให้ขับรถเดินหน้าและถอยหลังได้เพียงครั้งเดียว และเครื่องยนต์ต้องไม่ดับ
ท่าที่ 3 การขับรถถอยหลังเข้าจอดและออกจากช่องว่างด้านซ้าย
ให้ขับรถถอยหลังเข้าจอดในช่องว่างด้านซ้ายซึ่งประกอบด้วยหลักไม่น้อยกว่า 9 หลัก เป็นช่องกว้างเท่ากับความกว้างของรถรวมกระจกมองข้างบวกเพิ่มข้างละ 0.5 เมตร ความยาวของช่องจอดเท่ากับความยาวของตัวรถบวกเพิ่มอีก 2.5 เมตร ตั้งแต่เริ่มเข้าเกียร์ขับรถถอยหลังเข้าจอดจนกระทั่งขับออกจากช่องว่างด้านซ้ายต้องเข้าเกียร์หรือเปลี่ยนเกียร์ไม่เกิน 7 ครั้ง ต้องไม่ชนหรือเบียดหลัก และตัวรถต้องขนานกับขอบทางหรือหลักด้านซ้าย ล้อรถต้องไม่ทับเส้นแบ่งช่องทาง
ท่าที่ 4 การหยุดรถและออกรถบนถนนลาด (สำหรับรถเกียร์ธรรมดา)
ให้ขับรถขึ้นเนินหรือสะพานโค้งแล้วหยุดรถบนเชิงลาดของเนินหรือสะพานโค้งนั้น โดยให้กันชนหน้าอยู่ที่จุดหยุดรถแล้วออกรถข้ามเนินหรือสะพานโค้งนั้นไปโดยปลอดภัย ต้องไม่ขับรถในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเป็นเหตุให้ตัวรถเคลื่อนถอยจากจุดที่หยุดเกินกว่า 1 เมตร และเครื่องดับไม่เกิน 2 ครั้ง
ท่าที่ 5 การกลับรถ
ให้กลับรถในช่องเดินรถ ซึ่งประกอบด้วยหลักที่ตั้งไว้ขนานกัน 2 แถว มีความยาวประมาณ 10 - 12 เมตร หลักในแต่ละแถวห่างกัน 1.5 เมตร ส่วนความกว้างของช่องเดินรถเท่ากับความยาวของรถบวกเพิ่มอีก 2 เมตร ต้องไม่ขับรถชน หรือเบียดหลัก และตั้งแต่เริ่มขับรถเพื่อกลับรถ จนกระทั่งกลับรถแล้วเสร็จต้องเปลี่ยนเกียร์ไม่เกินกว่า 7 ครั้ง
ท่าที่ 6 การขับรถเดินหน้าเข้าจอดในช่องที่เป็นมุมฉาก
ให้ผู้เข้ารับการทดสอบขับรถจากจุดเริ่มต้นให้ขับเดินหน้าเข้าไปในช่องจอดที่เป็นมุมฉาก ซึ่งประกอบด้วยหลักที่ตั้งเป็นแนวทดสอบ 2 แถว ขนานกันเป็นช่องเดินรถกว้าง 8 เมตร ยาวประมาณ 10 -20 เมตร และหลักอีก 2 แถวที่ตั้งเป็นแนวช่องจอดที่เป็นมุมฉากกับช่องเดินรถที่มีความกว้างเท่ากับความกว้างของตัวรถรวมกับกระจกมองข้างบวกเพิ่มอีกข้างละ 1 เมตร ความยาวเท่ากับความยาวของตัวรถบวกเพิ่มอีก 1 เมตร
ท่าที่ 7 การขับรถโดยปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร
ให้ขับรถโดยปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร ไม่น้อยกว่า 8 เครื่องหมาย คือ ป้ายหยุด ห้ามเลี้ยวซ้ายหรือห้ามเลี้ยวขวา ให้เลี้ยวซ้ายหรือให้เลี้ยวขวา ห้ามหยุดรถ ห้ามเข้า และเครื่องหมายอื่นๆ อีก 3 เครื่องหมาย และต้องให้สัญญาณไฟตามจุดต่างๆ ได้ถูกต้องทุกแห่ง
การทดสอบขับรถจักรยานยนต์ ให้ทดสอบจำนวน 3 ท่า คือ ท่าที่ 1 เป็นท่าบังคับ และเลือกทดสอบอีก 2 ท่าตามความเหมาะสมของสนามทดสอบ(มักเป็นท่า 2 กับ 4)
ท่าที่ 1 การขับรถโดยปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจร
ผู้เข้ารับการทดสอบต้องปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรไม่น้อยกว่า 5 เครื่องหมาย คือ ป้ายหยุด ห้ามเลี้ยวซ้ายหรือห้ามเลี้ยวขวา ให้เลี้ยวซ้ายหรือให้เลี้ยวขวา ห้ามหยุดรถ ห้ามเข้า และต้องให้สัญญาณไฟตามจุดต่างๆ ได้ถูกต้องทุกแห่ง
ท่าที่ 2 การขับรถทรงตัวบนทางแคบ
ต้องขับขี่โดยทรงตัวบนอุปกรณ์ที่ใช้ไม้กระดานกว้าง 30 เซนติเมตร ยาว 15 เมตร หรือใช้คอนกรีตเทเป็นแนวเส้นตรงตามขนาดดังกล่าวให้สูงประมาณ 2 - 3 เซนติเมตร โดยให้กำหนดจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดห่างจากไม่กระดานหรือแนวคอนกรีต 8 เมตร และต้องขับผ่านตลอดตั้งแต่ต้นจนจบใช้เวลาไม่น้อยกว่า 10 วินาที และเริ่มนับเวลาเมื่อล้อหลังขึ้นอยู่บนอุปกรณ์และสิ้นสุดเมื่อล้อหน้าลงจากอุปกรณ์ ในระหว่างขับ เท้าต้องไม่หลุดจากที่พักเท้า ล้อต้องไม่ตกหรือลื่นไถลจากอุปกรณ์ ใช้ความเร็วอย่างเหมาะสม และเครื่องต้องไม่ดับระหว่างทดสอบ
ท่าที่ 3 การขับรถผ่านทางโค้งรัศมีแคบรูปตัวแซด
ให้ขับรถในทางโค้งรัศมีแคบ ที่ใช้หลักหรือกรวยหรือใช้คอนกรีตเทเป็นรูปตัวแซด (Z) ที่มีช่องเดินรถกว้าง 2 เมตร กรวยหรือหลักห่างกัน 1.5 เมตร ฐานบนและฐานล่างของตัวแซด ยาว 5 เมตร ความยาวระหว่างฐานบนและฐานล่างของตัวแซด ยาว 16 เมตร ให้ขับรถช้า ใช้เกียร์ต่ำและสามารถควบคุมรถขับเลี้ยวขวาและเลี้ยวซ้ายไปได้ตลอด ห้ามลื่นไถลหรือรถล้ม ไม่ชนกรวยหรือหลัก เครื่องยนต์ต้องไม่ดับ และไม่ใช้เท้าแตะพื้น
ท่าที่ 4 การขับรถผ่านทางโค้งซ้ายและโค้งขวารูปตัวเอส
ให้ขับรถผ่านทางโค้งซ้ายและโค้งขวา ที่ใช้หลักหรือกรวยหรือใช้คอนกรีตเทเป็นรูปตัวเอส (S) ที่มีช่องทางเดินรถกว้าง 2 เมตร ยาว 17 เมตร กรวยหรือหลักห่างกัน 1 เมตร ให้สามารถควบคุมรถผ่านไปได้ตลอดโดยรถไม่เสียหลักลื่นไถลหรือล้ม ไม่ชนกรวยหรือหลัก เครื่องยนต์ต้องไม่ดับ และไม่ใช้เท้าแตะพื้น
ท่าที่ 5 การขับรถหลบหลีกสิ่งกีดขวาง
ให้ขับรถด้วยความเร็วที่ 20 - 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขับรถหลบหลีกกรวยยางที่ตั้งไว้สำหรับทดสอบไปทางด้านซ้ายและด้านขวาในลักษณะสลับฟันปลา ซึ่งกรวยยางตั้งบนพื้นที่ที่มีความกว้าง 3.5 เมตร จำนวน 5 หลัก เป็นเส้นตรงบริเวณกึ่งกลางของพื้นที่ที่ใช้ทำการทดสอบ โดยให้กรวยยางแต่ละอันมีระยะห่าง 5 เมตร โดยให้จุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดมีระยะห่างจากกรวยยาง จำนวน 8 เมตร ในระหว่างขับรถต้องสามารถควบคุมรถได้ดี ไม่เสียหลักลื่นไถล ไม่เฉี่ยวหรือชนสิ่งกีดขวางหรือขอบทาง และเครื่องยนต์ต้องไม่ดับขณะขับรถ
เมื่อผ่านการทดสอบแล้วจะได้รับใบอนุญาตขับรถชนิดชั่วคราว มีกำหนด 1 ปี จากนั้นจึงขอเปลี่ยนเป็นใบอนุญาตขับรถชนิดส่วนบุคคลมีกำหนด 5 ปี เมื่อใบอนุญาตขับรถชนิดชั่วคราวมีอายุครบ 1 ปี แล้ว และมิได้นำมาเปลี่ยนประเภท หากขาดอายุเกิน 1 ปีแต่ไม่เกิน 3 ปี จะต้องทดสอบข้อเขียนใหม่ หากขาดอายุเกิน 3 ปี จะต้องทำการทดสอบใหม่ทั้งหมด