ใครที่เคยผ่านร้านขายของฝากจากเพชรบุรี ขนมหม้อแกงที่ทุกคนชมว่ารสชาติอร่อยและซื้อไปฝากเพื่อนสนิทมิตรสหาย มาจากฝีมือการผลิต ควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของ "แม่" คนนี้ ดี เด่น ดังขนาดที่ว่า ร้านขายของฝากต่าง ๆ ขอให้ช่วยผลิตให้เพื่อควบคุมเรื่องมาตรฐานอีกด้วย และเป็นที่ไว้ใจของบรรดาร้านขายของฝากแม่ต่าง ๆ เหล่านี้มานานถึง 20 ปี
นางสมาน กลิ่นนาคธนกร เจ้าของธุรกิจ "เพชรบ้านแจม" หรือที่รู้จักกันดีในนามขนมหม้อแกง "แม่สมาน" แห่งเมืองเพชรบุรีที่เธอว่า ฉันคือ "ขนมหม้อแกงโออีเอ็มแห่งเพชรบุรี"
วันนี้แม่สมานกำลังจะก้าวเดินไปสู่การสร้างแบรนด์ ทั้งเซเว่นอีเลฟเว่น และแผนที่จะผลิตขนมเพื่อขึ้นสายการบินอีกด้วย
ขนมหม้อแกง OEM
นางสมานเล่าว่า เริ่มทำขนมหวานขายตั้งแต่ปี 2518 โดยการหาบเร่ขายอย่างอื่นก่อน เมื่อเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจึงหันมาขายขนมหวานอย่างเป็นจริงเป็นจังส่งตามร้านในปี 2533 โดยมีร้านขายของฝากชื่อดังในจังหวัดเพชรบุรีมาติดต่อขอให้ผลิตให้
จากนั้นแม่สมานมาเปิดร้านขายสินค้าโดยใช้แบรนด์ "แม่สมาน" ในตลาดอำเภอเพชรบุรี ปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าร้านของฝากทั้งในจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดอื่นทั้ง กาญจนบุรี กรุงเทพฯ รวมกว่า 10 รายมาสั่งสินค้าของทางร้าน โดยนำไปติดเป็นยี่ห้อของตนเอง เรียกว่าร้านของฝากชื่อดังในจังหวัดเพชรบุรีเชื่อมั่นในฝีมือของแม่สมาน รับประกันว่าแวะ
10 ที่ ก็มีสินค้าของแม่สมานทั้ง 10 ที่
นอกจากนี้ยังผลิตให้กับบริษัทส่งออกที่ติดต่อขอไปทำตลาดที่อเมริกา ญี่ปุ่น เวียดนามอีกด้วย "แต่ละประเทศจะสั่งหมุนเวียนกันไป เช่น ขนมหม้อแกงเดือนนี้ ถัดมาก็จะเป็นขนมชั้น หมุนเวียนอย่างนี้ มีรายได้จากการส่งออกหลักแสนทุกเดือน"
"เพชรบ้านแจม"แบรนด์นี้ที่ 7-11
ปี 2552 ทางร้านกับหุ้นส่วนส่งสินค้าเข้าเซเว่นฯ หวังกระจายสินค้าไปทั่วประเทศ และเพิ่มไลน์สินค้าไปที่ขนมแห้งได้ จึงดันข้าวแต๋นไปประเดิม
"เริ่มแรกเราส่งข้าวแต๋นให้เซเว่นฯกว่า 8,000 สาขา แต่ยอดการสั่งซื้อยังไม่นิ่ง บางเดือนน้อยแต่กำลังการผลิตเรามีเหลือแหล่ เราก็หันมาเพิ่มสินค้าใหม่เพื่อเพิ่มยอดขาย เลยส่งขนมผิง กับลูกอมกะทิ ซึ่งใช้โรงงานเดิมรายได้ก็ตกเดือนละ 5-7 แสน ตอนนี้ก็ตั้งใจว่าจะลองทำขนมสด เช่น หม้อแกง ขนมชั้น มาลองขายในเซเว่นฯอีกอย่าง ซึ่งขณะนี้ยังพัฒนาเรื่องการเก็บรักษาอยู่ และรอทดสอบรสชาติ และเจรจากับเซเว่นฯ คาดว่าสัก 1-2 ปี"
นางสมานแนะนำผู้ประกอบการขนาดย่อมว่า การกระจายสินค้าผ่านเซเว่นฯเป็นวิธีที่ได้ผลและรวดเร็วมาก แต่การทำโรงงานยุ่งยากและลงทุนสูง และถ้าสินค้าไปได้ไม่สวยอย่างที่คิดผู้ประกอบการต้องเผื่อตลาดอื่นๆ ไว้ด้วยหรือพัฒนาสินค้าใหม่ซึ่งโรงงานที่ผลิตแบรนด์เพชรบ้านแจมใช้เงินลงทุนกว่า 5 ล้านบาท และแยกออกต่างหากกับฝ่ายที่ผลิตขนมสดเพื่อรักษาคุณภาพตามมาตรฐานเซเว่นฯ และใช้ผลิตขนมผิงส่งร้านบ้านนันทวัลย์อีกร้านนอกเหนือจากส่งเซเว่นฯอีกด้วย
ขนมหม้อแกงขึ้นเครื่อง
ล่าสุดสินค้าของทางร้านก็จะร่วมกับบริษัทผู้ผลิตอาหารกล่องบนเครื่องบินเตรียมนำขนมชั้นข้าวแต๋นปลาหยอง และขนมหม้อแกง ขึ้นหิ้งให้ผู้โดยสารได้ลิ้มรสกันชูจุดขาย "พุดดิ้ง-คัสตาร์ดเมืองไทย"โดยได้ร่วมกับบริษัทดังกล่าวพัฒนาให้สามารถเก็บได้นาน 2 ปี โดยไม่ใช้วัตถุกันเสีย น่าจะเริ่มขายบนเครื่องภายใน
สิ้นปีนี้ โดยมีสายการบินรองรับ 17 สาย ในอนาคตหากออร์เดอร์มีจำนวนที่แน่นอน ทางร้านก็เตรียมจะขยายไปยัง
สยามพารากอน และเสนอเข้าเซเว่นฯและร้านของฝากในภูมิภาคอื่นอีกทางหนึ่งด้วย
"ร้านขายของฝากในต่างจังหวัดติดต่อมาเพราะว่าเขาก็อยากขายขนมสด เราก็ต้องปฏิเสธไปเพราะเราไม่พร้อม คือไม่มีห้องเย็นสำหรับขนส่งในระยะไกล และไม่มีนโยบายรับสินค้าคืน และแม้ว่าเราจะสามารถผลิตหม้อแกงที่สามารถเก็บได้นาน 2 ปี เราก็ไม่แน่ใจว่าลูกค้าเขาจะรับได้หรือไม่ เพราะขนมสดหากแช่เย็นแล้วอาจจะเสียรสชาติ ก็ต้องรอทดลองขายดูก่อน"
ปัจจุบัน "หม้อแกงแม่สมาน" นั้นขายส่งประมาณ 70% ส่วนอีก 30% ที่เหลือแบ่งกันระหว่างส่งร้านสะดวกซื้อและขายเองหน้าร้าน ตกเดือนละไม่ต่ำกว่า 7 หลักสักเดือน โดยสินค้าหลัก ๆ ไม่พ้นขนมหม้อแกงที่ทำอันดับถล่มทลายถึง 60% ของขนมที่ทำขายทั้งหมด
ภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าหม้อแกงไทยจะโกอินเตอร์ฉีกทุกกฎ เนื่องจากสามารถพบขนมไทยได้ทุกที่ทั่วไทย และไปไกลถึงสากลบนเครื่อง ใครจะเรียก "หม้อแกงเมืองเพชร" คงเชยและตกข่าวสุด ๆ