เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 17 ก.ย. ศาลอาญามีคำสั่งคดีนายพัน คำกอง อายุ 43 ปี คนขับแท็กซี่ชาวยโสธร เสียชีวิตบริเวณสำนักงานขายคอนโดไอดีโอ เสียชีวิต เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 ช่วงเวลา 00.05-01.00 น. โดยถูกระสุนขนาด.223 จากอาวุธปืนในราชการสงครามที่เจ้าพนักงานทหารยิงใส่รถตู้แล้วกระสุนไปถูกนายพัน คำกอง ดังนั้นการตายของนายพัน คำกอง จึงเป็นการตายจากเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสถานการณ์การชุมนุมของนปช. ตามคำสั่งจากศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
สำหรับคดีนี้จะเป็นคดีแรกจาก 19 สำนวนคดีคนเสื้อแดงที่พนักงานอัยการยื่นร้องต่อศาล ทั้งนี้จากสำนวนการสอบสวนพบว่า วันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ก่อนเกิดเหตุ นายพันไปอู่แท็กซี่ย่านวัดสระเกศ เพื่อขับแท็กซี่ประกอบอาชีพ ช่วงนั้นรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีคำสั่งขอคืนพื้นที่แถบราชปรารภ
โดยเวลา เวลา 20.00 น. วันที่ 15 พฤษภาคม 2553 นายพันโทรศัพท์แจ้งบุตรสาวว่าเดินทางกลับไม่ได้ มาหลบภัยบริเวณงานก่อสร้างคอนโดฯแห่งหนึ่งย่านราชปรารภ เป็นการติดต่อครั้งสุดท้าย จากนั้นเที่ยงคืน เจ้าหน้าที่รปภ.คอนโดฯ โทรศัพท์แจ้งนางหนูชิต คำกอง ภรรยาของนายพันว่านายพันถูกทหารยิงเสียชีวิต ต่อมาศพถูกนำไปชันสูตรที่ โรงพยาบาลราม⸲ธิบดี สังเกตเห็นรอยกระสุนใต้ราวนมซ้ายทะลุออกซี่โครง และรอยกระสุนที่แขนด้านขวา
สำหรับคดีนี้หากศาลเห็นพ้องตามที่อัยการเสนอและมีคำสั่งออกมาจะส่งสำนวนการไต่สวนดังกล่าวกลับมาให้พนักงานอัยการเพื่อส่งต่อไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ในฐานะผู้รับผิดชอบคดี 98 ศพ พิจารณาเป็นสำนวนคดีฆาตกรรม
ถ้าสาเหตุการเสียชีวิตของนายพันตายชี้ชัดเกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบ และเกิดจากกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ จะทำให้พลทหารที่ประจำการบริเวณจุดเกิดเหตุนายพันเสียชีวิต มีความผิดมาตรา 288 ฐานฆ่าคนอื่นให้ถึงแก่ความตาย
หากพิสูจน์พบว่าพลทหารปฎิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน แม้เป็นคำสั่งไม่ชอบ แต่เมื่อปฎิบัติหน้าที่โดยสุจริต ไม่ต้องรับโทษ