ศูนย์ข้อมูลน้ำแข็งและหิมะแห่งชาติของสหรัฐฯ เปิดเผยข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับ
ปริมาณน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติก โดยระบุว่า ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา น้ำแข็ง
ในมหาสมุทรอาร์กติกละลายหายไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ปัจจุบัน เหลือธารน้ำ
แข็งอยู่เพียงไม่ถึง 3.5 ล้านตารางกิโลเมตร ซึ่งน้อยกว่าเมื่อ 40 ปีก่อนถึงครึ่งหนึ่ง
ซึ่งปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ที่ปริมาณธารน้ำแข็งใน
มหาสมุทรอาร์กติกเหลืออยู่น้อยที่สุด โดยเมื่อปี 2550 นักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจวัดปริมาณ
ธารน้ำแข็งในบริเวณดังกล่าวพบว่า มีพื้นที่ที่เป็นน้ำแข็งเหลืออยู่ 4.17 ล้านตาราง
กิโลเมตร แต่เมื่อเวลาผ่านไป 5 ปี ธารน้ำแข็งบางส่วนได้ละลายหายไปกว่า 500,000
ตารางกิโลเมตร ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้น สร้างความกังวลใจให้แก่นักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก
โดยหนึ่งในนักวิจัยจากศูนย์ข้อมูลน้ำแข็งและหิมะแห่งชาติของสหรัฐฯเปิดเผยว่า หากน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกยังคงละลายอย่างต่อเนื่อง ในอีกไม่ถึง 20 ปีข้างหน้า ในช่วงฤดูร้อน อาจจะไม่มีน้ำแข็งเหลืออยู่ในมหาสมุทรอาร์กติกเลยก็เป็นได้
หลายฝ่ายเชื่อว่า ปรากฏการณ์ในครั้งนี้ เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนโดยตรง ซึ่งการที่
อุณหภูมิบนโลกสูงขึ้น กลายเป็นปัจจัยหลัก ที่เร่งให้น้ำแข็งละลายเร็วขึ้น นอกจากนี้ ยัง
ก่อให้เกิดความแปรปรวนของสภาพอากาศในหลายพื้นที่ทั่วโลกอีกด้วย
ขณะที่ นักวิทยาศาสตร์จากแคนาดาก็ออกมาระบุถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการ
ละลายของน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์กติกว่า ในฤดูหนาวปีนี้ หลายประเทศในยุโรปโดย
เฉพาะประเทศอังกฤษ อาจเผชิญกับสภาพอากาศหนาวจัด ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าว
สอดคล้องกับข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาอังกฤษ ที่รายงานว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
อุณหภูมิในฤดูหนาวของอังกฤษ ลดต่ำลงกว่าในอดีตเป็นอย่างมาก