NASAเผยเดือนแห่งรักปีหน้าDA14อาจปะทะโลก

 

เชื่อหรือไม่ นาซา ระบุ 15 ก.พ. 56 เดือนแห่งความรักปีหน้า ดาวเคราะห์จะปะทะโลกโดยตรง พร้อมเตือน หากตกบริเวณที่มีผู้คนอยู่จำนวนมาก จะเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ไม่ใช่มาจากฝีมือมนุษย์ ดาวเคราะห์น้อยที่ชื่อว่า DA14 ถ้าเป็นจริง ก็คงได้แต่ภาวนาให้มันเปลี่ยนวิถีโคจรห่างโลกไปเลย ดีกว่ายืนรอ หรือตีเกราะเคาะไม้ ตีปี๊บ ส่งเสียงดังๆ แบบขับไล่ราหู

หลังจากเป็นข่าวฮือฮามาช่วงระยะหนึ่งก่อนหน้านี้ จากองค์การที่เกี่ยวกับอวกาศจักรวาล ระดับโลกอย่าง นาซา ของสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ดีๆ ก็ทำให้สื่อมวลชนทั่วโลกแตกตื่นกับคำเตือนของนาซา หรือ องค์การการบินและอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกา (NASA) เกี่ยวกับภาวะเสี่ยงของโลกมนุษย์ ที่อาจโดนดาวเคราะห์น้อยที่ชื่อว่า AG5 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 140 เมตร หรือประมาณสนามกีฬาขนาดใหญ่ พุ่งเข้าชนภายในปี พ.ศ. 2583 หรืออีก 28 ปีข้างหน้า

โดย นาซา ระบุอีกว่า การพุ่งชนครั้งนี้ อาจทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตจำนวนหลายล้านคน แต่ไม่ถึงกับสูญพันธุ์เหมือนยุคไดโนเสาร์ ที่โลกโดนดาวเคราะห์ขนาด 14 ก.ม. พุ่งชนเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว และเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา นาซา ออกมาเปิดเผยข้อมูลใหม่ให้ชาวโลกระทึกรอบใหม่ว่า นอกจากดาวเคราะห์ AG5 แล้ว โลกกำลังเสี่ยงกับดาวเคราะห์น้อยอีก 1 ดวง ที่ชื่อ DA14 หรือ 2012 DA14 ซึ่งวิถีกโคจรพุ่งมายังโลกโดยตรง โดยนาซ่าระบุว่าแม้ DA14 มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 40 - 90 เมตร แต่หากไปตกยังเมืองที่มีผู้คน
อาศัยอยู่จำนวนมาก จะสร้างความสูญเสียอย่างใหญ่ หรือ โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่ไม่ใช่มาจากฝีมือมนุษย์ 

ซึ่งข้อมูลของนาซา ระบุว่า ดาวเคราะห์น้อย DA14 อยู่ใกล้โลกเพียง 2.7 หมื่นกิโลเมตร ใกล้มากกว่าวิถีโคจรของดาวเทียมที่อยู่ห่างโลก 3.6 หมื่นกิโลเมตรด้วยซ้ำ หากวงโคจรดังกล่าวไม่มีการเปลี่ยนแปลง องค์การนาซา ระบุเลยว่า ภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 หรือเดือนแห่งความรักในปีหน้า ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้จะพุ่งชนโลก

ด้าน อ.ปีเตอร์ สุดธนกิจ ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์แลระบบสุริยจักรวาล อธิบายว่า ดาวเคราะห์น้อย 2011 AG5 คือ ดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก อยู่ในกลุ่มอพอลโล มีประกาศเตือนภัยระดับ 4 ปกติจะมีระดับการเตือนภัยทั้งหมด 1 - 10 ระดับคือ ตั้งแต่ระดับ 1 ยังอยู่นอกวงโคจร มีโอกาสพุ่งชนโลกน้อยมาก ส่วนระดับสูงสุดคือระดับ 10 หมายถึงกำลังหลุดวงโคจรจะพุ่งเข้าชนโลก ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า กับคำถามว่า ไทยเสี่ยงที่จะเผชิญหรือไม่ อ.ปีเตอร์ ตอบว่า ตอนนี้ไม่มีใครตอบได้ ต้องให้เฉียดเข้ามาใกล้กว่านี้มากๆ อีก 10 ปี ข้างหน้า ถึง
จะมีคำตอบชัดเจนกว่านี้ เพราะดาวเคราะห์เหล่านี้ไม่มีแกนกลาง ทำให้วิถีโคจรไม่เสถียร หมุนไปมาอย่างไร้ทิศทาง ทั้งนี้ อ.ปีเตอร์ ทิ้งท้ายข้อความสำคัญว่า ขณะนี้ องค์การนาซา กำลังเฝ้าระวังดาวเคราะห์น้อย AG5 เป็นพิเศษ เพราะเริ่มเข้าใกล้โลกมากขึ้น

ย้อนประวัติศาสตร์โลกถูกดาวเคราะห์พุ่งชน ในอดีตเคยมีดาวเคราะห์น้อย หรือดาวหางพุ่งชนโลกครั้งใหญ่จริง มีผลทำให้ไดโนเสาร์ และสิ่งมีชีวิตประมาณ 3 ใน 4 ที่อยู่บนผิวโลกสูญพันธุ์ในอายุใกล้เคียงกันเมื่อ 65 ล้านปีที่แล้ว ส่วนในครั้งสุดท้ายที่มีการชนโลกจริง และที่มีหลักฐานคือ การชนที่ทังกัสก้า ประเทศไซบีเรีย 30 มิ.ย. 1908 หรือเมื่อ 103 ปีที่แล้ว ซึ่งแรงระเบิดเทียบเท่าระเบิด TNT ถึง 30 เมกะตัน ต่อมามีการวิจัยศึกษาทางด้านธรณีวิทยาพบว่า จากการชนมีการกระจายแร่ธาตุต่างๆ พอที่จะเชื่อได้ว่าเป็นการชนของอุกกาบาต หรือดาว
เคราะห์น้อย เป็นวัตถุขนาด 20 - 30 เมตร แต่มีอำนาจการทำลายล้างมหาศาล ซึ่งวัตถุที่ว่านี้ไม่ได้พุ่งชนที่พื้น แต่มีการระเบิดก่อนถึงพื้นที่ประมาณความสูง 4 - 5 เมตร แต่โชคดีไม่มีใครเสียชีวิต เพราะเป็นบริเวณที่ไม่มีใครอาศัยอยู่

วันนี้เรายังสรุปแบบชัดเจนล่วงหน้าไม่ได้ว่าจะพุ่งชนโลกหรือไม่ หรือจะพุ่งชนที่พื้นที่ประเทศใด หรือเป็นเพียงข่าวโคมลอย แต่เราเคยสละเวลาแหงนมองฟ้าในทุกๆ คืนบ้างหรือไม่ หรือดูดวงอาทิตย์ ดวงดาว ดวงจันทร์ ในแต่ละวันแต่ละคืน ว่าเราเห็นการเปลี่ยนแปลงไปมากแค่ไหนจากท้องฟ้าที่เราแหงนมอง เมื่อครั้งเราเป็นเด็ก วัยรุ่น จนถึงวัยทำงาน ท่านว่า มันเปลี่ยนตามธรรมชาติ หรือ ตามวัยคนมอง หรือไม่เปลี่ยนไปเลย ก่อนที่ดาวเคราะห์บนท้องฟ้าอาจปะทะโลกตามที่เป็นข่าวในปัจจุบันนี้

 

โดย... ตะวัน มั่นคงทรัพย์สิน

โต๊ะข่าวต่างประเทศ

Credit: http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=381780
14 ก.ย. 55 เวลา 15:08 2,901 4 70
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...