วันนี้ ( 13 ก.ย. ) สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษพบความเป็นไปได้ในการรักษาผู้ป่วยโรคหูหนวก หลังประสบความสำเร็จในการทดลองปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในหนูเจอร์บิล ที่สามารถช่วยให้หนูที่สูญเสียการได้ยิน กลับมามีอาการเป็นปกติอีกครั้ง
นายมาร์เซโล ริโวลตา หัวหน้าทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ กล่าวถึงผลงานที่ได้รับการเผยแพร่ในวารสารธรรมชาติ เมื่อวันพุธว่า หนูเจอร์บิลที่นำมาใช้ทดลอง จะได้รับสารเคมีชนิดหนึ่ง ที่จะทำลายเซลล์ระบบประสาทส่วนกลาง ทำหน้าที่ส่งสัญญาณรับรู้ความรู้สึกที่ได้จากเซลล์ขนไปยังเซลล์สมอง
ทีมนักวิจัยทดลองจึงใช้วิธีการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด ที่ได้จากทารกในระยะพัฒนาเนื้อเยื่อเซลล์ผิวหนัง และระบบประสาท ลงในเซลล์ประสาทด้านการได้ยินของหนูเจอร์บิลเหล่านั้น ซึ่งนายริโวลตาให้เหตุผลว่า เซลล์ชนิดนี้เป็นเซลล์ต้นกำเนิดที่มีความอเนกประสงค์ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม วิธีดังกล่าวค่อนข้างท้าทาย เนื่องจากต้องให้แน่ใจว่า เซลล์ต้นกำเนิดสามารถเจริญพัฒนาเป็นเซลล์เนื้อเยื่อที่โตเต็มวัยได้ ก่อนหน้านี้ ทีมงานของนายริโวลาตาทำการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดลงในเซรั่มพิเศษ เพื่อซึมซับเซลล์กึ่งกลางที่เกี่ยวกับการได้ยิน แล้วจึงนำไปปลูกถ่ายลงในหนูเจอร์บิล
ทั้งนี้ หลังได้รับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด หนูเจอร์บิลแสดงอาการได้ยินดีขึ้น 46% เมื่อผ่านไป 10 สัปดาห์ อ้างอิงจากการวัดขั้วไฟฟ้าสมองที่แสดงปฏิกิริยาต่อเสียง โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 50 เดซิเบล
อย่างไรก็ตาม การทดลองดังกล่าวยังต้องอาศัยการพัฒนาอีกหลายขั้นตอน จนกว่าจะแน่ใจว่าปลอดภัยเพียงพอ ซึ่งนายริโวลตาและทีมงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การทดลองของพวกเขาจะได้รับการนำไปประยุกต์เพื่อใช้รักษาอาการเดียวกันนี้ในมนุษย์ สร้างความหวังให้แก่ผู้ป่วยด้วยอาการหูหนวก ที่จะกลับมามีโอกาสได้ยินอีกครั้ง.