47 ปีก่อน ในวันที่ 7 ส.ค.2508 เสียงปืนแตกที่ บ้านนาบัว ต.โคกหินแฮ่ อ.เรณูนคร จ.นครพนม จากการปะทะกันระหว่างกองกำลังของรัฐบาลไทย กับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
จากนั้นเสียงปืนก็ขยายไปทั่วประเทศ ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศใช้นโยบาย 66/2523 การเมืองนำการทหาร ไม่เอาผิดกับคนที่เข้าป่าจับอาวุธสู้กับรัฐ ทั้งยังมอบปัจจัยทำกินเพื่อให้เลี้ยงชีพได้
ประกอบกับปัญหาภายในของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเองด้วย จนกระทั่งปี 2525 การต่อสู้ก็สิ้นสุดลง
วันนี้ แม้สหายร่วมรบในแนวป่าจะกลับคืนมาสู่เมือง แต่การรวมตัวกันของสหายเหล่านี้ยังมีอยู่ เช่นเดียวกับจิตใจปฏิวัติที่ไม่ยอมสยบต่ออำนาจเผด็จการทรราช และต่อสู้กับการเอารัดเอาเปรียบประชาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศอย่างไม่เป็นธรรม
สิ่งเหล่านี้ยืนยันได้จาก เสียงเพลงปฏิวัติที่ยังดังก้องทั้งห้องประชุม อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในงานรำวงเพลง "เชิดชูจิตใจปฏิวัติ" ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อเร็วๆ นี้
เนื้อหาเพลงส่วนใหญ่พูดถึงความคับแค้นใจของคนหนุ่มสาว ที่ไม่อาจทนเห็นชาวบ้าน ผู้ยากไร้ ถูกกดขี่ข่มเหงโดยรัฐบาลเผด็จการ และแสดงปณิธานแน่วแน่ที่จะนำความผาสุกกลับคืนมา แม้จะต้องแลกด้วยหยาดเหงื่อ และเลือดเนื้อมากแค่ไหน
เช่นท่อนหนึ่งของเพลง "วีรชนปฏิวัติ" แต่งคำร้องและทำนองโดย "จิตร ภูมิศักดิ์" ที่บอกว่า "เผด็จการประหารชีวัน ศรัทธายังมั่นเสมอจนสิ้นใจ" และ "เพื่อนทรุด เรายังไม่ล้ม จะล้างผู้ข่มขี่ไทยสืบแทน"
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายเพลงที่มีเนื้อหาปลุกใจ และสดุดีเพื่อนวีรชนที่อุทิศตนเพื่อมวลชน โดยทั้งหมดรวบรวมมาจากเพลงที่ใช้ร้องกันในฐานที่มั่นต่างๆ ทั้งภูพาน ภูบรรทัด และอีกหลายจังหวัดในเขตงานเคลื่อนไหวทั่วประเทศ
โสภณ พรโชคชัย ในฐานะผู้จัดงาน เล่าว่า งานนี้จัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 แล้ว จุดประสงค์เพื่อให้นักปฏิวัติอาวุโสได้มารวมตัวกัน รวมทั้งระดมทุนช่วยเหลือนักปฏิวัติที่ชราภาพ และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้แล้ว
"ทุกวันนี้มีนักปฏิวัติที่เป็นแกนนำเก่าๆ เป็นสมาชิกอาวุโสของพรรค เหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 200-300 คน ส่วนสมาชิกพรรคโดยทั่วไปยังมีอีกมาก ในบางจังหวัดอยู่กันเป็นหมู่บ้านเลยด้วยซ้ำ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เสียชีวิตและเจ็บป่วย การจัดงานครั้งนี้จึงตั้งใจหาทุนไปเยี่ยมเยียนสหายที่มีจิตใจดีงาม รวมถึงรวบรวมประวัติของพวกเขาเหล่านี้มาทำเป็นหนังสือด้วย"
โสภณบอกอีกว่า นอกจากเพื่อระดมทุนแล้ว กิจกรรมครั้งนี้ยังเป็นการแสดงเจตนารมณ์ของเพลงปฏิวัติในยุคก่อน ที่ต่อต้านนายทุน ขุนศึก และศักดินา ซึ่งขัดขวางความเจริญของประเทศ โดยรูปแบบกิจกรรมบรรดานักปฏิวัติอาวุโสจะร่วมเล่นดนตรี และร้องเพลงกันอย่างเรียบง่าย
"เราร้องเพลงเพื่อนึกถึงสหายที่เสียชีวิตไป นักปฏิวัติที่อยู่ตามภาคต่างๆ ต่างคนต่างมีเพลงของตัวเอง รวมแล้วเกือบ 200 เพลง เพลงปฏิวัติมีลักษณะสำคัญคือ เป็นเพลงของชนชั้นกรรมาชีพ มีความเป็นสากล คือเน้นเรื่องของผู้ถูกกดขี่ซึ่งมีในทุกชนชาติ ไม่มีเนื้อหาที่เป็นการกดขี่ระหว่างหญิงชาย แต่มุ่งสะท้อนความยากลำบากของประชาชนในประเทศเป็นหลัก"