เด็กถูกบันไดหนีบ อาการดีขึ้น - ห้างเร่งปิดรูโหว่

 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก Typhoon Nopparat
            น้องนวลแพร เด็กหญิง 12 ปี ถูกบันไดเลื่อนหนีบหัวยังสาหัส แต่อาการดีขึ้น หัวใจเต้นเป็นปกติ ด้านญาติไม่ติดใจ บอกเป็นเหตุสุดวิสัย ขณะที่ห้างพร้อมรับผิดชอบทุกอย่าง และจ้างวิศวกรเร่งปิดรูโหว่ หวั่นซ้ำรอย
            จากกรณีที่เส้นผมและศีรษะของ น้องนวลแพร หรือ ด.ญ.อายุ 12 ปี เข้าไปติดกับราวบันไดเลื่อนห้างดัง จนกระทั่งศีรษะชนและคอขัดกับช่องว่างคานปูนบริเวณด้านบนบันไดเลื่อน เป็นเหตุให้เด็กได้รับบาดเจ็บสาหัส และเข้ารักษาตัวอยู่ที่ห้องไอซียู โรงพยาบาลกรุงเทพ เมื่อวันที่ 9 กันยายน ที่ผ่านมา และทางผู้บริหารของห้างดังกล่าวก็ได้ออกมารับปากว่าจะดูแลค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด พร้อมยืนยันว่าการสร้างตัวอาคารของห้างไม่ได้ผิดกฎหมาย แต่เรื่องที่เกิดขึ้นมันเป็นเหตุสุดวิสัย อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดอุบัติเหตุก็พร้อมจะแก้ไขโดยจะส่งช่างเข้าตรวจสอบ และปรับเปลี่ยนจุดเสี่ยงทั่วห้าง รวมถึงปิดช่องวางตามบันไดเลื่อนอีกด้วย 
            โดยความคืบหน้าล่าสุด (10 กันยายน) นางรัตนา อนันท์นุพงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต เปิดเผยว่า จากอุบัติเหตุบันไดเลื่อนหนีบหัว ด.ญ.อายุ 12 ปีนั้น ทางห้างพร้อมที่จะดูแลค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายทั้งหมด ตลอดจนจัดชุดเจ้าหน้าที่คอยประสานงานกับแพทย์และญาติผู้ป่วยเพื่ออำนวยความสะดวก ทั้งนี้ เมื่อได้พูดคุยกับทางญาติของเด็กแล้ว ทุกคนก็เข้าใจว่าเรื่องดังกล่าวไม่มีใครอยากให้เกิด และตัวคุณแม่ของน้องเองก็เสียใจที่ให้น้องเดินขึ้นไปเรียนพิเศษด้วยตนเอง 
            ส่วนอาการของน้องล่าสุด นางรัตนา ระบุว่า ตอนนี้น้องยังไม่ได้สติอยู่ในห้องไอซียู ถึงแม้ว่าแพทย์จะบอกว่าปลอดภัยแล้ว แต่ก็ต้องให้เด็กพักผ่อนสมองอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดการฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ส่วนข่าวที่บอกว่าน้องมีเลือดคั่งในสมองนั้น ไม่เป็นความจริง แต่เป็นเพียงการทำงานอย่างหนึ่งของแพทย์เพื่อเช็คอาการบริเวณศีรษะที่ได้รับการกระทบกระเทือน และตรวจความดันเลือด
            สำหรับการสร้างอาคารและบันไดเลื่อนของห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต นั้น นางรัตนา กล่าวว่าการสร้างทุกอย่างของห้างไม่มีส่วนใดผิดมาตรฐานเลย แต่ในเมื่อเกิดอุบัติเหตุก็พร้อมที่จะปรับปรุงและแก้ไข พร้อมติดป้ายเตือนทุกอย่างให้ชัดเจน และแจ้งผู้ปกครองให้เตือนบุตรหลานเวลาขึ้นบันไดเลื่อน อย่ายื่นแขนขาออกไป อีกทั้งต้องเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสอดส่องดูแลลูกค้าอย่างทั่วถึง นอกจากนี้ตนจะให้วิศวกรไปปิดช่องว่างตามบันไดเลื่อนตามจุดเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ 
 
            ขณะที่ นางสมจิต ปิยะศิลป์ ผอ.สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ปกติแล้วทางห้างต้องติดแผงกั้น หรือป้ายเตือนให้ระวังศีรษะระหว่างขึ้น-ลงบันไดเลื่อนอยู่แล้ว ส่วนกฎหมายหรือกฎกระทรวงที่บังคับใช้ในเรื่องการควบคุมอาคารนั้น ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดไปถึงกรณีการติดตั้งหรือระยะห่างของบันไดเลื่อน เป็นเรื่องที่เจ้าของอาคารหรือผู้ออกแบบจะต้องดำเนินการออกแบบ โดยพิจารณาไปถึงเรื่องการออกแบบเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นด้วย ทั้งนี้เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นแล้ว ทุกฝ่ายควรนำไปเป็นกรณีตัวอย่าง เพื่อปรับใช้ไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก 
 
            ส่วนทางด้าน นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า จากอุบัติเหตุดังกล่าว ต้องตรวจสอบโครงสร้างบันไดเลื่อนด้วยว่าถูกต้องตามมาตรฐานหรือไม่ เพราะปกติการสร้างบันไดเลื่อนนั้นควรก่อสร้างในลักษณะแนบติดกับชั้น และมีช่องว่างในลักษณะสามเหลี่ยม หรือมุมเฉือน อีกทั้งควรมีพื้นที่เป็นอิสระหรือไม่ก็ปิดตายเพื่อป้องกันการกีดขวาง ไม่ให้มีแขนยื่น หรืออย่างอื่นยื่นออกนอกบันไดแล้วเกิดติดขัด นอกจากนี้ ควรติดเซ็นเซอร์เพื่อป้องกันอุบัติเหตุในกรณีมีสิ่งกีดขวางเข้าไป เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายหนัก เช่น แรงกระแทก หรือกระชากได้
            อย่างไรก็ดี ทางด้าน นายจุมพล สำเภาพล รองปลัด กทม. อธิบายว่า ที่ผ่านมา กทม. ประชาสัมพันธ์การใช้บันไดเลื่อนให้ปลอดภัย ดังนี้... 
             ข้อ 1. ผู้ปกครองต้องดูแลเด็กใกล้ชิด หากจะให้ลูกที่ยังเล็กเกินไปขึ้นลงบันไดเลื่อนด้วยตัวเอง ผู้ใหญ่จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด โดยจะต้องจับมือลูกและดูแลทุกก้าวของลูกในการใช้บันไดเลื่อน อาจเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะปกป้องลูกจากภัยต่าง ๆ แต่หากลูกที่มีอายุน้อยหรือเพิ่งหัดเดิน ห้ามปล่อยให้ลูกขึ้นลงบันไดเด็ดขาด
             ข้อ 2. ระวังเสื้อผ้า โดยเฉพาะเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ยาวเกินไปหรือเชือกรองเท้าที่ไม่ได้ผูกให้ดี อาจทำให้เกิดอันตรายขึ้นกับเด็ก ดังนั้นเด็กกลุ่มนี้จะต้องได้รับคำเตือนให้ระมัดระวังเป็นพิเศษหากขึ้น-ลงด้วยบันไดเลื่อน โดยเฉพาะกรณีเสื้อผ้าหลุดเข้าไปติดกับซอกต่าง ๆ ของบันไดเลื่อน
             ข้อ 3. อย่ายืนพิงบันไดเลื่อนเพราะทำให้สะดุด หกล้ม กลิ้งตกลงมา การกระโดดเล่น การก้าวข้ามบันไดมากกว่า 1 ขั้น หรือยืนโดยยื่นเท้าไปข้างหน้ามากเกินไป ล้วนก่อให้เกิดอันตราย 
             ข้อ 4. ห้ามเล่นหรือวอกแวก การขึ้นลงด้วยบันไดเลื่อนให้ปลอดภัย ผู้ใช้และเด็กควรมองตรงไปข้างหน้าเสมอ ไม่ควรเล่นหรือหันหน้าหันหลังคุยกัน รวมทั้งควรจับราวบันได 
             ข้อ 5. สังเกตปุ่มต่าง ๆ ของบันไดเลื่อนเอาไว้ด้วย เช่น ปุ่มหยุดฉุกเฉิน
11 ก.ย. 55 เวลา 16:36 1,654 2 30
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...