ความเป็นมาของ "หมูย่าง" เมืองตรัง

 

 หมูย่าง หากย้อนตำนานต้นกำเนิดของหมูย่างนั้นเกิดขึ้นในประเทศจีน ประมาณ 1,000 ปีมาแล้ว ในสมัยราชวงศ์ถัง การค้นพบวิธีการย่างหมูนั้นช่างเป็นการบังเอิญเหลือเกิน ในขณะที่พ่อครัวในพระราชวังกำลังปรุงอาหาร ทำหมูชิ้นหนึ่งตกลงไปในเตาถ่าน จนเนื้อสุกและหนังไหม้ พ่อครัวลองหยิบมาชิม รู้สึกว่าหมูชิ้นนั้นมีรสชาติหอมกรอบอร่อย จึงทำให้เขามีความคิดว่า การนำหมูมาย่างเป็นอาหารจะอร่อยกว่าการนำไปใช้ทำอาหารอย่างอื่น ดังนั้นพ่อครัวจึงทดลองนำหมูมาย่างแล้วนำขึ้นถวายฮ่องเต้ ฮ่องเต้ทรงโปรดมาก เนื่องจากเมื่อย่างหมูพอสุกพอเหมาะ หนังหมูจะมีสีเหลืองดุจทองคำสุกอร่าม ฮ่องเต้จึงตั้งชื่อหมูย่างนี้ว่า หมูทอง ชาวจีนใช้ชื่อนี้เรียกมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อเวลาผ่านมานับพันปี วิชาการหมูย่างก็ได้เผยแพร่โดยการสืบทอดตระกูลของพ่อครัว จนกระทั่งมาถึงมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นมณฑลที่ชาวเมืองมีฝีมือในการปรุงอาหาร จะเห็นได้จากอาหารจีนที่มีรสอร่อยที่สุดจะปรุงโดยพ่อครัวชาวกวางตุ้งทั้งสิ้น ดังนั้นจากเดิมหมูย่างซึ่งเป็นอาหารเฉพาะของฮ่องเต้ก็เริ่มแพร่หลายมาเป็นอาหารของสามัญชน แต่ก็ยังถือว่าหมูย่างยังเป็นอาหารระดับฮ่องเต้อยู่

เมื่อประมาณ 100 ปีก่อนนี้ชาวจีนในมณฑลกวางตุ้งซึ่งอยู่ใกล้ทะเล ได้เริ่มอพยพออกจากประเทศโดยทางเรือเพื่อเสาะหาแผ่นดินทางทะเลใต้ คือ ประเทศไทย ซึ่งร่ำลือกันว่ามีความอุดมสมบูรณ์กว่าประเทศจีนมาก จึงได้ลงเรือกันมาผจญภัยพร้อมกันทั้งหมู่บ้าน และมีบางส่วนได้เดินทางเข้ามาประเทศไทยโดยขึ้นฝั่งที่อำเภอกันตัง หรือปากแม่น้ำตรัง และได้มาบุกเบิกตั้งรกรากอยู่ที่จังหวัดตรัง

ชาวจีนที่อพยพมานี้มีหลายอาชีพ ส่วนใหญ่จะมาบุกเบิกทำไร่พริกไทย จึงได้ตั้งชื่อจังหวัดตรังว่า "เมืองพริกไทย" ชาวจีนเหล่านี้จึงได้มีการเลี้ยงหมูพันธุ์เล็กซึ่งได้นำลงเรือมาด้วยในตำบลทับเที่ยง ปัจจุบันคืออำเภอเมือง จังหวัดตรัง ปรากฏว่าได้ผลดีมาก ต่อมาได้มีคนกลุ่มหนึ่งนำหมูมาชำแหละขาย ซึ่งก็คือต้นตระกูลของร้านฟองจันทร์ หลังจากนั้นร้านฟองจันทร์ได้รับชาวจีนคนหนึ่งมาจากมณฑลกวางตุ้งชื่อนายซุ่น มีความสามารถในการย่างหมูมาก หมูที่ย่างจะมีรสชาติกลมกล่อมและหนังที่กรอบ สมัยนั้นจังหวัดตรังมีผู้ที่ย่างหมูได้เพียงคนเดียวเท่านั้น ต่อมาเมื่อนายซุ่นมีอายุมากขึ้นก็ได้ฝึกผู้ช่วยขึ้นมา วิชาการย่างหมูจึงได้แพร่หลายจากรุ่นสู่รุ่นตั้งแต่นั้นมา

หมูย่างนั้นเดิมเป็นอาหารที่ใช้ในการเซ่นไหว้ของหมู่คนจีน ในงานศพ งานมงคล งานเทศกาลต่างๆ และประกอบพิธีกรรมสิ่งศักดิ์สิทธิ์ หรือการบนบานศาลกล่าวตามวิถีชีวิตซึ่งยังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาหมู่คนจีนในเมืองตรังนิยมนำหมูย่างมากินกับกาแฟ กระทั่งความนิยมกระจายมาสู่หมู่คนตรังในระดับชนชั้นกลางที่เป็นข้าราชการ นักธุรกิจในเขตเมืองตรังและชานเมืองเป็นลำดับ จนกลายเป็นวัฒนธรรมการกินกาแฟกับหมูย่างในยามเช้าที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนหมูย่างเมืองตรังจึงกลายเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดตรังไปในที่สุด

จากอาหารพื้นเมืองที่นิยมรับประทานกันในวงจำกัด หมูย่างเมืองตรังได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากหอการค้าจังหวัดตรังด้วยการจัดงานเทศกาลหมูย่างเมืองตรังขึ้นตั้งแต่ปี 2533 ต่อเนื่องมาทุกปีจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับการได้โหนกระแสนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐบาล จึงกลายเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงไปทั่วประเทศ กลายเป็นของแปลก ของโปรด ของประจำบ้านประจำเมืองไปในที่สุด

#ความเป็นมาของ #หมูย่าง
มิตซู
เจ้าของบทประพันธ์
สมาชิก VIPสมาชิก VIPสมาชิก VIP
11 ก.ย. 55 เวลา 05:34 5,795 1 50
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...