โศกนาฎกรรมใน"การัมบ้า" ...ฆ่าช้างครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ

การัมบ้าเป็นผืนป่าขนาดใหญ่ กินอาณาบริเวณถึง 4,920 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) มันไม่เพียงมีสถานะเป็นวนอุทยานแห่งชาติของ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเท่านั้น แต่ยังมีสถานะเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติที่องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่ปี 1938

เหตุผลสำคัญที่การัมบ้าถูกผลักดันให้กลายเป็นมรดกโลก เพราะที่นี่ คือป่าผืนสุดท้ายที่มีผู้พบเห็นแรดขาวเหนือ (นอร์ธเทิร์น ไวท์ ไรโนเซรอส) ใช้ชีวิตอยู่ตามธรรมชาติ ในผืนป่าที่มีสภาพพื้นภูมิเป็นแบบทุ่งหญ้าซาวันนาสูงท่วมอก สลับกับเนินป่าเขาและลำน้ำสีน้ำตาลแดงลัดเลาะคดเคี้ยว

เป็นความเขียวขจีอันล้ำค่าสำหรับพื้นที่แห้งแล้งส่วนใหญ่ในกาฬทวีป

น่าเสียดายที่แรดขาวเหนือที่ครั้งหนึ่งเคยมีจำนวนมากกว่า 1,000 ตัวที่นี่ ถูกล่า ล่า และล่าอย่างไม่ปรานีปราศรัย ปี 1996 แรดขาวเหนือถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

5 ปีให้หลังมานี่ไม่มีใครพบเห็นมันที่การัมบ้าอีกเลยแม้แต่ตัวเดียว

เหตุผล  เพราะนอแรดนั้นซื้อขายกันกิโลกรัมละกว่า 60,000 ดอลลาร์-1.8 ล้านบาท-แพงระยับยิ่งกว่าทองคำ!

แรดขาวเหนือไม่ได้เป็นเหตุผลเดียวที่ทำให้ "แอฟริกัน ปาร์กส์" องค์กรเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสัตว์ป่าซึ่งมีสำนักงานอยู่ในแอฟริกาใต้ ที่เป็นผู้บริหารจัดการวนอุทยานแห่งนี้ จำเป็นต้องติดอาวุธให้กับกองกำลังพรานพิทักษ์ป่าแห่งการัมบ้า

ที่นี่ยังเป็นแหล่งพักพิงใหญ่ของช้างป่าแอฟริกาฝูงใหญ่ ว่ากันว่าครั้งหนึ่งป่าการัมบ้าเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่อุดมสมบูรณ์ของช้างป่ามากกว่า 20,000 ตัว (ช้างป่านิยมใช้ลักษณะนามเป็นตัว ช้างบ้านหรือช้างเลี้ยงจึงใช้ลักษณะนามเป็นเชือก)

ทุ่งหญ้าซาวันนาที่บางครั้งสูงท่วมหัวท่วมหูนั้น ชาวสวาฮิลีคนท้องถิ่นในคองโกเรียกมันว่า "หญ้าช้าง" คือแหล่งอาหารที่มีไม่จำกัดของช้างป่าเหล่านี้

ช้างแอฟริกันสูงใหญ่กว่าช้างเอเชีย ช้างพลายที่นั่นอาจสูงได้ถึง 4 เมตร น้ำหนักเกินกว่า 3 ตัน แต่ถึงจะใหญ่โตเป็นยักษ์ปักหลั่น ช้างก็น้อยครั้งนักที่จะก่ออันตรายให้กับมนุษย์ ในทางตรงกันข้าม มนุษย์ต่างหากที่กำลังไล่ล่ามันอย่างเอาเป็นเอาตาย

ช้างนี่เองที่กำลังเปลี่ยนผืนป่าที่สงบสุข สวยงามราวสวรรค์บนดินของการัมบ้า ให้กลายเป็นสมรภูมิ!



เหตุผลเดียวที่การล่าสัตว์ใหญ่ ไร้พิษภัยอย่างช้าง ดำเนินไปอย่างไร้ขีดจำกัดคือ "งา" ไม่ใช่การล่าเพื่อเกมกีฬา เพราะสนุกสนาน ไม่ใช่การล่าเพื่อประทังชีวิต หากแต่เป็นไปเนื่องเพราะความโลภโมโทสันและความ "อยาก" ไม่มีที่สิ้นสุดของมนุษยชาติ

งาช้าง ครั้งหนึ่งเคยถูกขนานนามว่าคือ "ทองคำสีขาว" กลายเป็นเหตุผลหลักประการสำคัญที่ทำให้ ลีโอโปลด์ที่ 2 พระราชาธิบดีแห่งเบลเยียม เข้ายึดครองคองโกให้กลายเป็นดินแดนใต้อาณัติเมื่อปลาศตวรรษที่ 19 

ไอวอรี่ โคสต์ ประเทศในแอฟริกาที่คนไทยรู้จักกันดีเพราะนักฟุตบอลอย่าง ดิดิเยร์ ดร็อกบา ได้ชื่อประเทศมาจากความอุดมสมบูรณ์ของโขลงช้างที่มีมากมายดกดื่นในป่าเขาของที่นั่น แต่หลังจากการไล่ล่าปีแล้วปีเล่า ฆ่าทิ้งแบบผลาญพล่าเพื่อส่งงาเป็นสินค้าออกต่อเนื่องทศวรรษแล้วทศวรรษเล่า

ทุกวันนี้ หา "งา" แม้เพียงข้าง ยังยากในไอวอรี่ โคสต์!

การเข่นฆ่าแบบล้างผลาญทวีขึ้นสูง จุดสูงสุดในราวทศวรรษ 1980 ประมาณกันว่า ช้างป่าแอฟริกาถูกสังหารทิ้งไปราวครึ่งหนึ่งของ

จำนวนที่มีอยู่ทั้งหมดในธรรมชาติของทวีป นั่นนำไปสู่การประกาศสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ห้ามการซื้อขายงาช้างในเชิงพาณิชย์อีกเป็นอัขาด

เมื่อการขายงากลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย การฆ่าเพื่อเอางาก็น่าจะบรรเทาเบาบางลง

ตรรกะที่ว่าอาจใช้ได้เมื่อ "ความต้องการ" งาช้างบรรเทาเบาบางลงตามไปด้วย แต่ในทันทีที่ "ความต้องการ" เริ่มทวีขึ้น ภาวะห้ามการซื้อขาย ส่งผล

ให้การชื้อขายกลายเป็นการลักลอบ ราคาของงายิ่งทวีขึ้นเป็นเงาตามตัว

สุดท้าย ริชาร์ด รักเจียโร่ เจ้าหน้าที่ประจำสำนักงานการประมงและสัตว์ป่าของสหรัฐอเมริกาก็ยอมรับว่า การฆ่าช้างเพื่อเอางากลับมาทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ระบาดไปทั่วทุกผืนป่าในแอฟริกา

"เรากำลังเห็นอัตราการฆ่าช้างครั้งใหญ่โตที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์มนุษยชาติด้วยซ้ำไป" เขาบอกไว้อย่างนั้น



ทวีปแอฟริกากำลังกลายเป็นดินแดนแห่งความมืดมนของชะตากรรมสำหรับช้างป่าทั้งหลาย เมื่อราคาของงาช้างขยับขึ้นสูงถึง กก.ละ 2,000 ดอลลาร์ (60,000 บาท) เป็นอย่างต่ำ

หรือคิดง่ายๆ ว่า ด้วยการขายงาข้างสมบูรณ์สักข้างหนึ่ง ทำรายได้ให้ผู้ขายสูงกว่ารายได้โดยเฉลี่ยต่อหัวต่อปีของประชากรในหลายสิบประเทศในแอฟริการาว 10 เท่าตัว!

ผลลัพธ์ก็คือ เกิดการไล่ล่าขนานใหญ่ขึ้นตามมาอีกครั้ง กลุ่มอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าหลายๆ กลุ่มให้ตัวเลขตรงกันว่า โดยประมาณแล้วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีช้างป่าแอฟริกาถูกฆ่าทิ้งปีละนับหมื่นตัว ที่กลายเป็นอัตราการเข่นฆ่าที่สูงที่สุด มากกว่าครั้งไหนๆ ในช่วง 20 ปีให้หลังมานี้ยกเว้นเมื่อปีที่ผ่านมา! ปี 2011 ถือเป็นปีที่มีการล้มช้างเพื่อเอางากันมากที่สุดนับตั้งแต่กลุ่มติดตามตรวจสอบนานาชาติเริ่มต้นเก็บข้อมูลกันมาตั้งแต่ปี 2002

ในปีเดียวกันนั้น การจับกุมและยึดงาช้างที่ถูกลักลอบขายกันในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก ทวีปริมาณขึ้นสูงสุดเป็น 38.8 ตัน นี่ยังไม่นับจำนวนที่เล็ดลอดร่างแหของกฎหมายไปถึงจุดหมายปลายทางได้

แต่เฉพาะเพียงที่ยึดเอามาได้ ก็มีค่าเท่ากับชีวิตช้างต้องล้มหายตายจากไปแล้วมากกว่า 4,000 ตัว

ปริมาณงาช้างที่ยึดได้ดังกล่าว ทำให้เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายเชื่อมั่นว่า การเข่นฆ่าครั้งใหญ่ที่กำลังดำเนินไปนั้นอยู่นอกเหนือวิธีการแบบพื้นๆ ทั่วไป ที่หมายถึงการจับปืนเข้าป่า หรือรูปแบบการล่าของชาวบ้าน อย่างเช่นในกาบอง ที่นำงามาแลกกับเกลือหนึ่งกระสอบ หรือในแทนซาเนีย ที่ใส่ยาเบื่อในลูกฟักทองแล้วกลิ้งไว้ในรายทางที่เป็นด่านช้าง อีกต่อไปแล้ว

แต่เป็นการล่าอย่างล้างผลาญ ฆ่ากันอย่างเป็นขบวนการ ที่เป็นฝีมือของ แก๊งอาชญากรหรือกองกำลังติดอาวุธนอกกฎหมายที่มีอยู่ดกดื่นในกาฬทวีป

มีแต่เพียงฝีมือของแก๊งเหล่านี้ และขบวนการนอกกฎหมายเหล่านี้เท่านั้นที่สามารถฆ่าและลำเลียงงาช้างนับพันๆ กิโลกรัมออกจากแหล่งต้นกำเนิด ไปยังจุดที่ถูกจับกุมซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปหลายพันไมล์ทั่วโลกได้อย่างเช่นที่เห็นกันอยู่ในตอนนี้

จัดเก็บและขนส่งภายในตู้คอนเทนเนอร์อย่างดี ตีตรา "ลับ" อีกต่างหาก!



ที่ผืนป่ากว้างใหญ่ของการัมบ้า ทุกเช้ากองกำลังพรานพิทักษ์ป่า 140 นายต้องเตรียมตัวตั้งแต่ยังไม่รุ่งสาง ตรวจสอบอาวุธประจำกายที่มีตั้งแต่ ไรเฟิล ปืนกลมือ และเครื่องยิงจรวดประทับไหล่ หรืออาร์พีจี

นั่นเกินกว่าอาวุธประจำกายของหน่วยลาดตระเวนพิทักษ์ป่าที่ไหนๆ ในโลกนี้ไปมากมายแล้ว แต่ หลุยส์ อาร์รานซ์ ผู้จัดการวนอุทยาน กลับบอกว่า เพียงเท่านี้ยังไม่พอเพียง สิ่งที่เขาอยากได้อย่างยิ่งในเวลานี้ ก็คือ "โดรน"

เครื่องบินไร้นักบินสำหรับตรวจการณ์ และถ้าจะให้ดีหน่วยพรานพิทักษ์ป่าของพวกเขาก็ควรจะมีกล้องสำหรับมองตอนกลางคืน เสื้อกันกระสุน และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นไปอีกก็ต้องมีปิกอัพ ติดปืนกลหนัก เป็นอาวุธประจำหน่วยด้วย

พอล ออนยันโก หัวหน้าหน่วยพราน ที่ใช้เวลาอยู่กับผืนป่าต่อสู้กับการล่าแบบผิดกฎหมายที่การัมบ้ามาเนิ่นนานกว่า 20 ปี ยืนยันว่าสิ่งที่พวกเขาเผชิญหน้าทุกวี่วัน ไม่ใช่มือสมัครเล่นที่ลอบเข้ามาไล่ล่าเพื่อความสนุก หรือชาวบ้านที่ลักลอบฆ่าเพื่อประทังความอดอยากหิวโหย แต่เป็นกองกำลังติดอาวุธหนักครบครันที่พร้อมจะทุกอย่างที่เข้ามาขวางปฏิบัติการของตัวเองให้ราบเป็นหน้ากลอง

ด้วยเหตุนี้ คติประจำตัวของทุกคนในหน่วยก็คือ "เห็นเป็นยิง" ไม่มีการเตือน ไม่มีการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หน่วยพรานของเขาคลานเข่านานนับเป็นชั่วโมง จนได้เห็นนักล่ากลุ่มหนึ่งกำลังชำแหละงาออกจากซากช้างล้มหลายตัว ทันทีที่ลั่นกระสุนใส่นักชำแหละที่กำลังง่วนอยู่กับงาน เท่านั้นเอง ป่าทั้งป่าก็แตกระงมด้วยเสียงปืนสงครามหลากหลายชนิด

"มีทั้งพีเคเอ็ม (ปืนกลมือคาลาชนิคอฟ ทำจากรัสเซีย) อาก้า จี3 (ไรเฟิลสงคราม ขนาด 7.62 มม. ผลิตจากเยอรมนี) และเอฟเอ็น (ปืนกลมือจากเบลเยียม) ปกติพรานนักล่าทั่วไปมักประหยัดกระสุน แต่พวกนี้ไม่ ยิงไม่ยั้งราวกับตัวเองอยู่ในสงครามอิรัก"

แน่นอน ไม่นานหน่วยพรานพิทักษ์ป่าการัมบ้าก็ตกอยู่ในสภาพเป็นเบี้ยล่าง พวกเขารอดมาได้อย่างฉิวเฉียดในวันนั้น

ก่อนหน้านั้นไม่นาน ออนยันโกพบเห็นสิ่งที่เขาไม่เคยพบมาในการใช้ชีวิตอยู่กับป่าเนิ่นนาน ช้างทั้งโขลง 22 ตัว ตายเรียงรายก่ายกันเป็นวงเหนือทุ่งหญ้าซาวันนาที่เปิดโล่งกว้าง หลายตัวมีรอยกระสุนเจาะโหนกด้านหน้าอย่างแม่นยำ และทั้งๆ ที่งาของพลายทุกตัวในฝูงถูกตัดออกไป แต่พวกเขาไม่พบรอยเท้าของนักล่า หรือรอยชักลากในพื้นที่สังหารเลยแม้แต่น้อย

อีกหลายวันให้หลัง พวกเขาพบเห็นเฮลิคอปเตอร์แบบเอ็มไอ-17 ของกองทัพยูกันดา บินวนในระดับต่ำเหนือวนอุทยาน ทั้งๆ ที่ไม่ได้รับอนุญาต เมื่อรู้ตัวว่าถูกพบเห็นก็โฉบวาบหนีหายไปในทันที

ข้อสรุปของทั้งหน่วยพรานพิทักษ์ป่า เจ้าหน้าที่จากทางการคองโก และนักวิทยาศาสตร์ที่ไปตรวจสอบบริเวณการสังหารหมู่ ปักใจเชื่อว่า มือสังหารช้างทั้งหมดอยู่บนเฮลิคอปเตอร์ และงาทุกชิ้นถูกลำเลียงขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปหลังปฏิบัติภารกิจแล้วเสร็จ

ข้อสรุปที่น่าแตกตื่นตกใจนี้สะท้อนให้เห็นว่า ไม่เพียงแค่กองกำลังติดอาวุธนอกกฎหมายต่างๆ เริ่มหันมาหาอาชีพการล่าช้างเพื่อขายงากันอย่างเป็นล่ำเป็นสันแล้ว แม้แต่กองกำลังที่ถูกกฎหมายก็เริ่มเข้าร่วมอยู่ในกระบวนการนี้ด้วยแล้ว

"พวกนี้แม่น ยิงแม่นมากๆ" ออนยันโก หัวหน้าหน่วยพรานการัมบ้าบอก "ยิงแม้แต่กระทั่งลูกช้างในโขลง ทำไม" ผมไม่รู้เหมือนกัน 

แต่ดูราวกับว่า พวกนี้เดินทางมาเพื่อทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้ามัน"

พวกเขาไม่รู้ชัดว่าคนเหล่านี้เป็นใคร รู้เพียงแค่ว่าในขณะที่สงครามในสมรภูมิการัมบ้าของพวกเขาดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่องนั้น ศัตรูเริ่มใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ อำมหิตและทำลายล้างมากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่มีใครรู้ว่า ช้างป่าแอฟริกาที่วนอุทยานการัมบ้าจะประสบชะตากรรมแบบเดียวกันกับแรดขาวเหนือ เพื่อนร่วมฝูงป่าเมื่อใด

รู้กันแต่ว่า ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ช้างแอฟริกันในการัมบ้ามีอยู่มากกว่า 20,000 ตัว ในการสำรวจเมื่อปีที่แล้วจำนวนของมันหลงเหลืออยู่เพียง 2,800 ตัวเท่านั้นเอง

ปีนี้.. อาจจะ 2,400 ตัว หรือน้อยกว่านั้น!

ทิ้งซากที่เน่าเปื่อย ถูกชำแหละเอางาไว้เกลื่อนกล่น ให้โหยไห้เรียกร้องหาความรับผิดชอบจากมนุษยชาติต่อไป!

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...