ไขปริศนา"การข่าว" บีบซื้อที่"3จว.ใต้"

เกิดกระแสข่าวความไม่ชอบมาพากล เกี่ยวกับผู้มีอิทธิพลหรือกลุ่มมาเฟีย หรือ ถึงขั้นอาจเป็นขบวนการแบ่งแยกดินแดน เข้ามาบีบบังคับชาวบ้าน เพื่อกว้านซื้อที่ดิน ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้

สายข่าวของทางการเริ่มระแคะระคายเรื่องนี้ จึงประสานให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เร่งตรวจสอบและป้องกัน

แต่จนถึง ณ วันนี้ ก็ยังไม่สามารถระบุได้ว่า การกว้านซื้อที่ดิน มีที่มาจากสาเหตุอะไรกันแน่ 

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ยอมรับว่ากองทัพมีความเป็นห่วง และได้ให้ทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เสนอไปยังรัฐบาลไปแล้ว เพื่อจัดทำแผนงานโครงการงบประมาณเบื้องต้น 1,200 ล้านบาท ในการรับซื้อ จำนำ และจำนองที่ดิน ในลักษณะที่ไม่ได้ขายขาดและมีดอกเบี้ยต่ำ และเมื่อเหตุการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สงบสามารถมาไถ่ถอนกลับคืนได้

แต่จากสถิติการย้ายเข้าออกของชาวไทยพุทธในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ในภาพรวม พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า การย้ายเข้ามากกว่าการย้ายออก เหตุการณ์ยังไม่รุนแรงจึงยังไม่มีผลอะไรต่อประชาชน 

เช่นเดียวกับ พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองโฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในส่วนหน้าภาค 4 บอกว่า ได้รับทราบจากชาวบ้านว่ามีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งออกมากว้านซื้อที่ดินในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 4 ได้จัดชุดหน่วยเฉพาะกิจลงพื้นที่ไปสำรวจ พบว่ามีการกว้านซื้อจริงแต่จำนวนยังไม่มากประมาณ 1-200 ไร่ และยังมีความพยายามในการกว้านซื้ออย่างต่อเนื่อง ส่วนจะเชื่อมโยงกับกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนหรือเงินสนับสนุนจากต่างประเทศหรือไม่นั้น ยังพิสูจน์ไม่ได้

ขณะนี้ ศอ.บต.ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด เพื่อติดตามดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา จ.ยะลา กล่าวยอมรับว่าในพื้นที่เทศบาลนครยะลามีการเคลื่อนไหวซื้อที่ดินที่สูงมาก แต่ยากที่จะบอกว่าเป็นผลมาจากเรื่องขบวนการแบ่งแยกดินแดน เพราะมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยในช่วงที่ผ่านมามีการเปลี่ยนมือการเป็นเจ้าของที่ดินสูง ในลักษณะของประชาชนในพื้นที่รอบนอกย้ายเข้ามาอยู่เมือง มีมาตรการความปลอดภัยมากกว่า ในขณะที่คนไทยพุทธที่อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ย้ายไปตั้งรกรากใหม่ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

"ที่ผ่านมาก็มีชาวบ้านพูดกันมากเหมือนกันว่า ในการซื้อที่ดินนั้นมีลักษณะของการข่มขู่หรือบีบบังคับซื้อที่ในราคาถูกอยู่เหมือนกัน ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่รอบนอก มีลักษณะเป็นบ้านสวนยาง เมื่อประกอบอาชีพลำบาก ถึงเวลากรีดยางก็ไปกรีดไม่ได้ สุดท้ายก็จำเป็นต้องขายที่ดิน

"แต่ถามว่าเงินที่มาซื้อที่ดินนั้นเป็นเงินจากส่วนไหน จากเครือข่ายแบ่งแยกดินแดนจริงไหม หรือว่าเป็นเงินจากกลุ่มผู้ทำธุรกิจมืด ค้ายาเสพติดหรือค้าของเถื่อน ก็ต้องไปตรวจสอบแหล่งที่มาของเงิน

"ตอนนี้ถ้าเป็นคนไทยมุสลิมซื้อที่ดินก็จะถูกมองเป็นเรื่องของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้ง่าย

"แต่จริงๆ แล้วอาจจะเป็นกลุ่มอิทธิพลการฟอกเงินก็ได้"

นายพงษ์ศักดิ์ยังบอกอีกว่า นอกปัญหาเรื่องการทำมาหากินลำบากแล้ว เรื่องการศึกษาของบุตรหลานก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีการเคลื่อนย้ายคนเข้ามาอาศัยอยู่ในตัวเมือง เกิดการซื้อที่ดินกันสูง เพราะในพื้นที่รอบนอกนั้น การศึกษาของเด็กนักเรียนนั้นมีเวลาน้อยมากกว่า เพราะกว่าจะรักษาความปลอดภัยครูอาจารย์ออกจากที่พักไปถึงโรงเรียนก็สายแล้ว ประมาณ 10.00 น. และในช่วงกลับก็ต้องกลับเร็ว เพื่อความปลอดภัย อย่างช้าเวลา 14.00 น. ก็ต้องออกจากโรงเรียนกลับบ้าน ลองคิดว่าเด็กนักเรียนจะได้เรียนกันเต็มที่หรือไม่ ดังนั้น ย้ายบ้านมาอยู่ในเมือง ก็เพื่อให้บุตรหลานได้มีโอกาสเรียนหนังสือให้เต็มที่จะได้มีอนาคต

ส่วนเรื่องอุดมการณ์ที่มุ่งหวังเพื่อการแบ่งแยกดินแดนนั้น นายกเทศมนตรีนครยะลาบอกว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนในพื้นที่ไม่ชอบเจ้าหน้าที่รัฐ เหตุการณ์ความรุนแรงจึงเกิดขึ้นอยู่ แต่กับกระแสของการกว้านซื้อที่ดินนั้น ไม่สามารถพูดได้ตรงๆ ว่า เกี่ยวพันกับการแบ่งแยกดินแดนแต่เพียงปัจจัยเดียว แต่หากสามารถสืบค้นแหล่งที่มาของเงินทุนในการซื้อที่ดินได้ ก็อาจจะได้คำตอบของเรื่องนี้ได้ 

นายปกรณ์ ปรีชาวุฒิเดช รองประธาน หอการค้าจังหวัดนราธิวาส ให้ความเห็นเรื่องนี้ว่า การซื้อที่ที่ดินในจังหวัดนราธิวาส ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายกันเองในกลุ่มของประชาชน จากหมู่บ้านชนบท อำเภอรอบนอก หวาดกลัวภัยอันตรายจากเหตุความไม่สงบ จึงหันมาหาซื้อบ้านจัดสรร หรือซื้อที่ดินเพื่อปลูกสร้างบ้านพักอาศัยในเขตย่านชุมชน หรือในเขตตัวเมือง มีความปลอดภัยมากกว่า รองลงมาเป็นการซื้อที่ดินของนักธุรกิจ เพื่อทำเป็นบ้านจัดสรรขึ้นมาขายเท่านั้น 

นายณัฐพล เพ็ชรขวัญ นักวิชาการ ที่ดินชำนาญการ สำนักงานที่ดินจังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า ไม่เคยปรากฏว่ามีชาวต่างชาติมากว้านซื้อที่ในจังหวัดนราธิวาสกันเลย มีเพียงการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินให้กลุ่มประชาชนทั่วไป ในลักษณะของการโอนที่ดินมรดก, การซื้อขายที่ดินกันเองในกลุ่มของประชาชน และการซื้อขายที่ดินของนักธุรกิจ สร้างเป็นบ้านจัดสรร วันละ 30-40 ราย หรือโดยเฉลี่ยประมาณ 800-1,000 รายต่อเดือนเท่านั้น และยังไม่เคยมีชาวต่างชาติรายใดมายื่นจัดทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินกันก่อนหน้านี้เลย 

"หลังจากประชาชนจากต่างอำเภอหันมาหาซื้อที่ดินในเขตย่านชุมชนเมืองกันมากขึ้น ส่งผลให้ราคาประเมินที่ดินในจังหวัดนราธิวาสมีราคาพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วยอีก 1 เท่าตัว กล่าวคือราคาที่ดินใน อ.ยี่งอ มีราคาประเมินต่ำสุดในจังหวัด เคยตั้งราคาประเมินที่ดินไว้ไร่ละ 64,000 บาท เพิ่มเป็น 150,000 บาทต่อไร่แล้ว

สำหรับที่ดินในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส มีราคาประเมินสูงสุดในจังหวัด ได้ปรับราคาประเมินสูงขึ้นจากเดิมตารางวาละ 36,000 บาท เพิ่มเป็น 39,000 บาท หรือตกเฉลี่ยจากเดิมไร่ละ 14.4 ล้านบาท ได้ปรับราคาประเมินสูงขึ้นเป็นไร่ละ 15.6 ล้านบาทในปัจจุบัน" นายณัฐพลกล่าว

สำหรับ นางสุจิรา อาแว เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปัตตานี เล่าให้ฟังว่า เรื่องการซื้อขายที่ดินในพื้นที่จังหวัดปัตตานียังถือว่าอยู่ในระดับปกติ แต่มีประชาชนมีการก่อสร้างบ้านเรือนมากขึ้นเนื่องจากประชาชนคงมั่นใจทางด้านเศรษฐกิจ และมีความเคยชินกับสถานการณ์ความไม่สงบ เป็นเพียงรายเล็กรายย่อยที่ซื้อขายที่ดินมีความคึกคักขึ้นนิดหน่อย

โครงการใหญ่ในพื้นที่มีเพียงปัตตานีจาย่า กำลังดำเนินการก่อสร้างเขตพื้นที่ ต.ตะลุโบ๊ะ ต.บานา อ.เมือง และโครงการห้างครบวงจรว่าวบุรัน ปากทางเข้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ส่วนเรื่องที่นายทุนจะลงมากว้านซื้อที่ดินยังไม่เห็นมีความเคลื่อนไหวแต่อย่างได 

สำหรับข้อมูลการซื้อขายที่ดินในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ปรากฏว่า มีการซื้อขายที่ดินในปี 2547 รวมจำนวน 3,975 ราย ส่วนปัจจุบัน รวมจำนวน 3,494 ราย

เมื่อฟังเสียงของคนในพื้นที่ จะเห็นว่าความรุนแรงของปัญหาการกว้านซื้อที่ดินยังไม่ลุกลามไปมากนัก

10 ก.ย. 55 เวลา 11:02 1,086 1 10
แชร์สกู๊ป
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...