บทความ เนื้อเรื่อง หรือ คำอธิบาย โดยละเอียด
ยาคุม . . . ต้องรู้ (momypedia)
หนึ่งในวิธีคุมกำเนิดที่ง่าย มีประสิทธิภาพดี และได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับคุณผู้หญิงก็ คือการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดค่ะ แต่ผู้หญิงหลายๆ คนยังใช้ยาคุมไม่ถูกต้อง หรือไม่รู้ว่าควรกินเมื่อไหร่ อย่างไร
ปัจจุบัน สภาพเศรษฐกิจของทั่วโลก รวมทั้งบ้านเรากำลังแย่ลง ค่าใช้จ่ายต่างๆ สูงขึ้น มีคนว่างงานมากขึ้น การตั้งครรภ์โดยไม่ได้วางแผน อาจก่อให้เกิดปัญหากลุ้มใจให้กับหลายๆ คน การคุมกำเนิดอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ปัญหาเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นได้ค่ะ
การ คุมกำเนิดในปัจจุบันมีหลายวิธี เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การฉีดยาคุมกำเนิด การใส่ห่วงคุมกำเนิด การฝังยาคุมกำเนิด และการใช้ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ส่วนการจะเลือกใช้วิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับระยะห่างของการจะมีบุตร และข้อบ่งชี้ทางการแพทย์
สำหรับหลายๆ คนที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดอยู่ มาทำความรู้จักและใช้ยาตัวนี้ให้ถูกต้องและปลอดภัยกันดีกว่าค่ะ
4 ชนิดของยาคุมกำเนิด
ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม (Combined pills) : ยาทุกเม็ดมีส่วนประกอบของเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรนในขนาดเท่ากันทุกเม็ด โดยใน 1 แผง มี 21 เม็ด และ 28 เม็ด โดยแบบหลังนี้ 7 เม็ดสุดท้ายจะเป็นวิตามิน แป้ง หรือธาตุเหล็ก เหมาะกับคุณแม่ที่ขี้ลืมค่ะ ซึ่งทั้ง 2 แบบนี้ไม่ได้ส่งผลแตกต่างกันแต่อย่างใดค่ะ
ยาคุมกำเนิดชนิดเลียนแบบธรรมชาติ (Sequential pills) : ยา 15-16 เม็ดแรก ประกอบด้วยเอสโตรเจนอย่างเดียว ส่วน 4-5 เม็ดหลังจะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนด้วย ปัจจุบันยาคุมประเภทนี้ไม่ได้ใช้แล้ว เนื่องจากมีอาการข้างเคียงมาก และประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดไม่แน่นอน
ยาเม็ดคุมกำเนิดที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนอย่างเดียว ( Mini pills) : ปัจจุบันใช้ในคุณแม่ที่ให้นมบุตรค่ะ เพราะไม่ลดปริมาณน้ำนม
ยาคุมกำเนิดชนิดชั่วคราว หรือที่รู้จักในนามยาคุมฉุกเฉิน ( Post coital ormorning after pill) ซึ่งไม่ควรใช้ติดต่อกันหรือใช้แทนการคุมกำเนิดทั่วไปค่ะเพราะประสิทธิภาพใน การคุมกำเนิดต่ำ อาจมีเลือดออกผิดปกติ และเพิ่มความเสี่ยงต่อ การตั้งครรภ์นอกมดลูกค่ะ
เริ่ม . . . อย่างไรดี
สำหรับ ผู้ที่มีประจำเดือนมาสม่ำเสมอ สามารถเริ่มยาคุมกำเนิดได้ภาย 5 วันตั้งแต่เริ่มมีประจำเดือนค่ะ อาจจะเริ่มกินตั้งแต่วันแรกที่มีเลยก็ได้ค่ะ แต่ถ้าเลยวันที่ 5 ไปแล้ว ก็ต้องรอรอบต่อไปค่ะ แต่หากในรายที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอควรปรึกษาแพทย์ก่อน ซึ่งคุณหมอจะเป็นผู้แนะนำ และอาจมีการตรวจการตั้งครรภ์ก่อนให้เริ่มยาค่ะ
ใช้ถูก . . . ไร้ปัญหา
สิ่งสำคัญก็คือควรรับประทานยาให้ตรงเวลาทุกวัน เพื่อประสิทธิภาพของการคุมกำเนิด และถ้าลืมรับประทานยาให้ปฏิบัติดังนี้ค่ะ
ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้ และรับประทานยาเม็ดต่อไปตามปกติ
ถ้านึกได้เมื่อถึงเวลารับประทานยาเม็ดถัดไป ให้รับประทานยา 2 เม็ดพร้อมกัน
ถ้าลืมรับประทานยา 2 เม็ดติดกัน ควรรีบรับประทานยา 2 เม็ด เมื่อนึกได้ และรับประทานยาอีก 2 เม็ด ในวันต่อไป และควรใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วยค่ะ
ถ้าลืมรับประทานยามากกว่า 2 เม็ด ให้หยุดรับประทานยา แล้วคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น เช่น ใช้ถุงยางอนามัย จนกว่าจะมีประจำเดือนถึงเริ่มยาคุมแผงใหม่ค่ะ
เมื่อรู้จักกันดีมาขึ้นแล้ว คราวนี้คุณคงเลือกใช้ยาคุมกำเนิดได้อย่างมั่นใจมากขึ้นกันแล้วนะคะ....
ความเชื่อ กับ ความจริง ของยาเม็ดคุมกำเนิด
รับประทานยาคุมแล้วอ้วน ไม่จริงเสมอไป
20-25 % พบว่าจะมีน้ำหนักขึ้นประมาณ 2 กก. ในปีแรก หลังจากนั้นมักจะไม่ขึ้นอีก
60 % พบว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนัก
15-20 % พบว่าน้ำหนักลดประมาณ 2 กก.
ปัจจุบันมียาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนต่ำ (Ultra low dose) ซึ่งมีผลต่อน้ำหนัก ตัวน้อยให้เลือกใช้ได้ค่ะ
รับประทานยาคุมมานานต้องพักมดลูกบ้าง ไม่จริง
การ รับประทานยาคุมติดต่อกันไม่ได้ทำให้มดลูกแห้ง และไม่ได้ทำให้ความสามารถในการมีบุตรลดลงค่ะ ยิ่งไปกว่านั้นการหยุดยาคุมเป็นพักๆ และเริ่มต้นใหม่อาจทำให้มีผลข้างเคียงมากกว่า เพราะอาการข้างเคียงมักเกิดในช่วง 2-3 เดือนแรกทีเริ่มรับประทานยา แต่ถ้ารับประทานต่อเนื่องอาการข้างเคียงมักบรรเทาหรือหายไป ฉะนั้นจึงไม่จำเป็นต้องพักมดลูก หรือหยุดยาเป็นพักๆ ค่ะ
รับประทานยาคุมกำเนิดนานทำให้มีลูกยาก ไม่จริง
ความ เข้าใจผิดนี้น่าจะมาจากผู้หญิงบางกลุ่มที่รับประทานยาคุมนานจนกระทั่งพร้อม จะมีบุตร และตัดสินใจหยุดยาคุมเมื่ออายุ 30 ปีหรือมากกว่า ซึ่งความสามารถในการตั้งครรภ์ในกลุ่มอายุนี้ลดลงอยู่แล้ว ทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเพราะยาคุมกำเนิด
อีก สาเหตุหนึ่งผู้หญิงหลายคนมีโรคที่เป็นสาเหตุที่ทำให้บุตรยากอยู่แล้ว เช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ( Endometriosis) หรือเนื้องอกมดลูก (Myoma Uteri)
รับประทานายาคุมกำเนิดแล้วทำให้เป็นมะเร็ง ไม่จริงเสมอไป
จริงๆ แล้วยาเม็ดคุมกำเนิดมีส่วนในการป้องกันเกิดมะเร็งรังไข่ และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้ค่ะ แต่เพิ่มอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปากมดลูกเล็กน้อย ซึ่งอาจเกิดจากผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดมักไม่ใช้ถุงยางอนามัยร่วมด้วย ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อ HPV (Human Papiloma Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่า และพบว่าผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35 ปี และสูบบุหรี่ด้วยจะมีความเสี่ยงมากขึ้น สำหรับมะเร็งเต้านมนั้น ผู้ที่ใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และความเสี่ยงจะลดลงเมื่อเลิกใช้
ฉะนั้นแนะนำว่าผู้ที่รับประทานยาคุมกำเนิดควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก ปี และหมั่นตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอค่ะ