สงครามยุคโลกไซเบอร์ ก้าวสู่สมรภูมิของหุ่นยนต์!!

 

ปัจจุบันนี้เป็นยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของมนุษย์มากขึ้น ไม่เว้นแม้แต่เรื่องกำลังทางทหารที่ประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนา กองทัพหุ่นยนต์รูปแบบต่างๆ ให้เข้ามามีส่วนช่วยแบ่งเบาหน้าที่ของทหารมากขึ้น โดยเฉพาะที่สหรัฐอเมริกาที่เริ่มผลัดเปลี่ยนกองทัพ สู่ยุคทหารหุ่นยนต์อย่างเต็มตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

จากข่าวที่แผนกวิจัยกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ อนุมัติให้นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซ็ตต์ และมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด สร้างกองทัพไส้เดือนหุ่นยนต์ เพื่อเดินเล็ดลอดไปสอดแนมในแดนข้าศึกโดยไม่ต้องถูกสงสัย ด้วยเทคโนโลยีการสร้างกล้ามเนื้อเทียม ด้วยลวดโลหะนิกเกิลและไทเทเนียม พร้อมปล่อยกระแสไฟฟ้าบังคับให้ไส้เดือนยืดหดได้ เมื่อนำโครงสร้างที่สมบูรณ์มาเชื่อมต่อเข้าด้วยกัน ก็จะสามารถทำให้มันสามารถเดินได้ด้วยความเร็ววินาทีละ 0.2 นิ้ว และยังได้มีการสร้างหุ่นยนต์สัตว์ชนิดอื่น เช่น หุ่นยนต์เสือชีต้า หุ่นยนต์“สุนัขอัลฟา” เพื่อช่วยขนอาวุธต่างๆให้ทหาร

นอกจากนวัตกรรมที่กำลังคิดค้นและสร้างขึ้นมาใหม่อย่างต่อเนื่องแล้ว ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาได้นำหุ่นยนต์เข้ามามีส่วนร่วมในการทำสงครามมาแล้วหลายครั้ง เช่น เจ้าหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด “แพ็กบ็อท” ซึ่งมีขนาดเล็กและสามารถไต่ข้ามก้อนหินได้ด้วยล้อที่เป็นสายพานลำเลียงแบบรถถัง ทั้งยังสามารถเก็บวัตถุระเบิดได้ด้วยแขนกลที่ถูกสร้างขึ้นเป็นพิเศษ พร้อมรื้อทำลายระเบิดได้ตามคำสั่ง ใช้การบังคับจากทหารซึ่งซ่อนตัวอยู่ในระยะไกล ซึ่งในประเทศอิรัก และอัฟกานิสถานช่วงที่ผ่านมามีแพ็กบ็อทประจำการอยู่ประมาณ 2,500 ตัว โดยแพ็กบ็อทรุ่นใหม่มีน้ำหนักเพียง 6 กิโลกรัม ทำให้ทหารสามารถแบกใส่เป้สะพายหลังเข้าไปในสมรภูมิได้

ไม่เพียงหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดเท่านั้น แต่ปัจจุบันมีการใช้หุ่นยนต์และเครื่องยนต์ระบบไร้มนุษย์จำนวนมากในอิรัก และอัฟกานิสถาน ไม่ว่าจะเป็น เครื่องบินสอดแนมจากท้องฟ้า หุ่นยนต์ค้นหากับระเบิด และหุ่นยนต์ที่สามารถยิงขีปนาวุธร้ายแรงทำลายเป้าหมาย นับเป็นการเสริมกำลังทางการรบและลดการสูญเสียของทหาร ที่สหรัฐอเมริกาทุ่มเงินจำนวนมหาศาลสร้างสิ่งประดิษฐ์ล้ำสมัยเหล่านี้ขึ้นมา โดยการใช้หุ่นยนต์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกำลังทหาร เริ่มมีมากขึ้นในเกือบทุกสมรภูมิที่สหรัฐอเมริกามีส่วนเกี่ยวข้อง

ในระยะเวลาไม่ถึง 10 ปีที่ผ่านมา กองทัพสหรัฐมีหุ่นยนต์อยู่ในคลังสรรพาวุธประมาณกว่า 2 หมื่นรายการแบ่งเป็นเครื่องบินไร้คนขับมากกว่า 7,000 ลำ และยานพาหนะภาคพื้นดินอีกราว 10,000 คัน ซึ่งอากาศยานไร้คนขับของสหรัฐอเมริกา มีตั้งแต่เครื่องบินขนาดเล็กอย่าง “เรเวนส์” ที่ใช้ประโยชน์ในการบินขึ้นไปไปสอดแนมเหนือยอดภูเขาล่วงหน้าการเดินทัพ หรือเครื่องบินสอดแนมขนาดใหญ่ "โกลบอล ฮอว์ก" ที่สามารถบินในระดับความสูงมากๆ เป็นเวลานานเกือบ 2 วัน เครื่องบินไร้คนขับและยานภาคพื้นดินเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะถูกควบคุมด้วยจอยสติ๊กหรือคอนโซลแบบเดียวกับวิดีโอเกม ใช้การล็อคเป้าหมายผ่านดาวเทียมและจอเรดาร์ มีทหารผู้เชี่ยวชาญที่ถูกฝึกมาอย่างดีเป็นคนบังคับ

โดยมีการเปิดเผยว่า สหรัฐอเมริกาวางเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2015 ยานรบภาคพื้นดิน 1 ใน 3 ของกองทัพสหรัฐต้องเป็นยานรบหุ่นยนต์ที่ออกรบอัตโนมัติโดยไม่ต้องพึ่งพากำลังทหาร หรือที่เรียกว่า "ยูจีวี" ใช้ระบบเซ็นเซอร์ตรวจจับสิ่งกีดขวาง ระบบแยกแยะประเภทสิ่งกีดขวางว่าเป็น หลุม บ่อน้ำ ป่า พุ่มไม้ หิน ฯลฯ ระบบบอกพิกัดตำแหน่งบนพื้นโลกผ่านดาวเทียม (จีพีเอส) และระบบเรดาห์ประมวลผลภาพภูมิประเทศออกมาเป็น 3 มิติ ในการเคลื่อนตัวไปอย่างจุดหมาย ในอนาคตอาจมีการพัฒนาไปถึงขั้นที่แยกแยะเป้าหมายออกว่าเป็น ข้าศึก หรือ พลเรือน แต่คงต้องใช้เวลาอีกหลายสิบปีกว่าจะไปถึงขั้นนั้น

หากโครงการพัฒนายานรบยูจีวีของสหรัฐอเมริกาสำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบ กองทัพสหรัฐจะมีหุ่นยนต์และยานยนต์อัตโนมัติเข้าร่วมสมรภูมิในหลายหน้าที่ เช่น รถลำเลียงเสบียงอัตโนมัติ ที่คาดว่าจะได้ยลโฉมและเห็นศักยภาพเป็นอันดับแรกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ใช้ในการขนส่ง น้ำมันเชื้อเพลิง หรือสิ่งของจำเป็นต่างๆ ซึ่งรถจะขับเคลื่อนไปยังจุดหมายด้วยตัวเองโดยปลอดภัยและถูกต้อง ไม่หยุดพักทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ทหารหุ่นยนต์กองหนุน ที่จะทำการพัฒนาในลำดับต่อมา เพื่อขนส่งอาวุธ อาหาร น้ำ และยาให้กับทหารที่กำลังปะทะกับข้าศึกอยู่ในสมรภูมิ พร้อมคิดค้น ยานรบหุ่นยนต์หุ้มเกราะ ไว้ใช้นำทหารบาดเจ็บกลับมารักษาตัวที่ฐานไปพร้อมๆกันอีกด้วย

ในส่วนของโครงการระยะยาวในอีก 10 – 20 ปีข้างหน้า สหรัฐอเมริกาวางแผนว่าต้องมีรถถังหุ่นยนต์แบบสะเทินน้ำสะเทินบกติดอาวุธหนักเต็มอัตราศึก เข้าสู่สมรภูมิรบโดยไม่ต้องพึ่งพาการสั่งงานจากมนุษย์ และสามารถแยกแยะระหว่างข้าศึกกับพันธมิตรได้อย่างถูกต้อง รวมถึงนวัตกรรมสุดยอด หุ่นยนต์นักรบ ที่สามารถไล่ล่าข้าศึกได้ทุกสภาพภูมิประเทศ เปรียบเสมือนทหารราบ แต่ไม่รู้จักการเหน็ดเหนื่อย ซึ่งทั้ง 2 โครงการได้ทำการวิจัยความเป็นไปได้ในขั้นต้นแล้วจากมหาวิทยาลัยและบริษัทเอกชนที่มีความชำนาญในด้านนี้ โดยโครงการทั้งหมดไม่ใช่การนำหุ่นยนต์มาแทนที่ทหาร แต่เป็นการนำมาช่วยเพิ่มพูนศักยภาพด้านกำลังรบในสมรภูมิให้กับกองทัพเท่านั้น

การนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาเป็นส่วนหนึ่งในกองทัพ ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับประเทศมหาอำนาจที่มีกำลังในการทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลเพื่อลงทุน แต่ถึงแม้จะใช้หุ่นยนต์หรือนวัตกรรมล้ำสมัยเพียงใดในการทำสงคราม ก็คงไม่พ้นจะนำซึ่งความสูญเสียอย่างมากมายมหาศาลไม่ต่างกัน.

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...