ชมคลิป จุดลอบสังหารท้าวศรีสุดาจันทร์ “ตามรอยขัตติยนารีพระศรีสุริโยทัย” กับ ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์

 

ทัวร์ศิลปวัฒนธรรมของมติชนอคาเดมีล่าสุด เดินทางไปจังหวัดอยุธยาในหัวข้อ “ตามรอยขัตติยนารีพระศรีสุริโยทัย” เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมา

 


การเดินทางครั้งนี้ ได้แวะชมวัดเก่าและโบราณสถาน จุดเปลี่ยนที่เกี่ยวข้องกับ พระสุริโยทัย  โดยเริ่มต้นจาก  วัดใหญ่ชัยมงคล สัญลักษณ์ของอยุธยาในอดีต เพราะหากเดินทางทางเรือ จะเห็นเจดีย์วัดสูงสง่า และเป็นจุด ที่พระเฑียรราชาและคณะ ทำการเสี่ยงเทียนทำนายว่าการยึดอำนาจขุนวรวงศาธิราชและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ จะทำสำเร็จหรือไม่ ผู้ร่วมเดินทางได้เยี่ยมชมโบสถ์เก่า ที่เชื่อว่า เป็นจุดทำการเสี่ยงเทียน และเดินชมสถูปเจดีย์ พระพุทธรูป ที่เรียงรายรอบเจดีย์ใหญ่ 

 

 

จากนั้นเดินทางไปยัง วัดราชประดิษฐาน ซึ่งเป็นวัดที่พระเฑียรราชา พระสวามีของพระสุริโยทัย ซึ่งต่อมาคือ พระมหาจักรพรรดิ ออกผนวช และเชื่อว่าคณะลอบสังหารแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ มาหารือและเข้าพบพระเฑียรราชาที่แห่งนี้ ก่อนทำการยึดอำนาจ 

 

 

วัดแห่งนี้เป็นวัดใหญ่แห่งหนึ่งที่เจ้านายมาสร้าง ไม่ใช่วัดเล็ก ยังมีร่องรอยคลองข้าวเปลือกติดแนว กำแพงเมืองเก่า ที่แสดงให้เห็นความหนาของกำแพงอยุธยา และยังคงมีประตูช่องกุด หรือประตูเล็กติดป้อมปืน และคลองเดิม ข้างโบสถ์เก่า ที่ปัจจุบันโบสถ์ นี้ ได้รับการบูรณะสามารถรักษาการใช้งานได้ แต่คลองเดิมถูกถมเพื่อให้วัดได้ใช้พื้นที่เป็นสาธารณประโยชน์ ยังเหลือเพียง แอ่งน้ำ เป็นร่องรอยคลองจนถึงปัจจุบัน 

 

 

หลังจากฟัง ดร.สุเนตร เล่าแผนยึดอำนาจขุนวรวงศา ณ ที่แห่งนี้แล้ว คณะทัวร์ศิลปวัฒนธรรม ได้เดินทางต่อไปยัง เพนียดคล้องช้าง จุดหมายปลายทางที่ ขุนวรวงศา และแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ต้องการเสด็จไปถึง แต่ไม่สามารถไปยังจุดนั้นได้ เพราะในวันเดียวกัน ทั้ง 2 พระองค์ ถูกลอบสังหาร ระหว่างทาง ผ่านบริเวณ วัดเจ้าย่า

 


เมื่อมาถึงวัดเจ้าย่า ผู้ร่วมเดินทาง ได้รับฟังเรื่องราวและเยี่ยมชมบริเวณ ที่มีการบันทึกระบุว่า เป็นจุดลอบสังหาร ขุนวรวงศา และแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ โดยละเอียด สามารถตามไปดู แนวคลองสระบัว ซึ่งมีลักษณะ เป็นเส้นตรง สันนิษฐานว่าเป็นคลองแห่งนี้เป็นคลองขุด เพราะหากเป็นคลองธรรมชาติ ย่อมมีความคดเคี้ยวกว่านี้  นอกจากนั้น ยังได้รับรู้ รายละเอียดเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ในพื้นที่ ว่าเหตุใดคณะผู้ลอบสังหารจึงเลือกบริเวณนี้เพราะ บริเวณก่อนหน้านี้และถัดจากนี้ จะมีทางหนีได้มากกว่าการบล็อค หน้า-หลัง ปิดทางบริเวณนี้ และ เป็นจุดสังหารอย่างฉับพลัน ไม่ต้องนำตัวทั้ง 2 กลับไปทำพิธีประหารยังวังหลวงตามธรรมเนียมที่ไม่ให้เลือดไหลลงแผ่นดิน เพราะหากไม่เร่งปิดเกมในวันเดียว อาจทำให้มีการต่อสู้ระหว่างทหารด้วยกันเอง ในภาวะที่ไม่ชัดเจนว่าอำนาจอยู่ที่ฝ่ายใดอย่างเด็ดขาด แต่หลังจาก ยึดอำนาจเพียง 7 เดือน ก็มีการสู้รบระหว่างอยุธยาและพม่า นำมาสู่วีรกรรมของพระสุริโยทัย

 


จากนั้น แวะสักการะพระพุทธรูปที่วัดหน้าพระเมรุ บริเวณที่ที่เคยใช้เจรจาความศึกเป็นไมตรีต่อกันกับพระเจ้าบุเรงนอง ชมโบสถ์เก่าสมัยอยุธยา  ที่ยังคงสภาพสมบูรณ์ที่สุด เนื่องจากกองทัพพม่า เคยมาตั้งค่ายบริเวณนี้  จึงไม่ทำลายวัดแห่งนี้

 

 

 

ดร.สุเนตร เล่าถึง บริเวณวัดเจ้าย่า จุดไฮไลท์ เหตุการณ์สำคัญ ที่ยังหลงเหลือทั้งร่องรอยโบราณสถานและคูคลอง สอดคล้องกับข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ได้รับการบันทึก ซึ่งอาจารย์เล่าว่า  เราอยู่ตรงหน้าวัดเจ้าย่า ซึ่งอยู่ในอาณาบริเวณที่เชื่อกันว่า ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ เกิดเหตุการณ์ผลิกผันทางการเมืองที่สำคัญ ก็คือ เกิดการลอบจับตัวและสังหาร ขุนวรวงศา และแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ตำแหน่งที่เรายืนอยู่ตรงนี้ เรายืนอยู่หน้าคลอง ซึ่งเป็นคลองที่กระบวนเรือของขุนวรวงศา ตัดผ่าน ก็คือคลองสระบัว

 


“คลองสระบัว” จะอยู่ตรงด้านหลังเรานี้  ตรงจุดนี้ สถานการณ์ ที่เกิดขึ้นคือ ฝ่ายที่เป็นฝ่ายตรงข้ามขุนวรวงศาและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ อันประกอบด้วยขุนพิเรนทรเทพ ซึ่งต่อมา ขึ้นมาเป็นพระมหาธรรมราชา ขุนอินทรเทพ หลวงศรียศ แล้วก็ใครอีกหลายคน รวมถึงขุนนางหัวเมืองเหนือ มารวมตัวกัน

 


แต่เนื่องจาก ขุนวรวงศา เป็นคนที่มีอำนาจมาก ซึ่งเรามักจะไม่ได้คิดถึงตรงนี้ที่ ขุนวรวงศาและแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ มีอำนาจขนาดจัดการลอบสังหาร ออกญามหาเสนา ซึ่ง คล้ายๆ เป็น ผบ.ทบ. หรือ เป็นผู้คุมอำนาจของกองทัพได้ เพราะฉะนั้น ก็เป็นผู้มีอำนาจเข้มแข็ง การจะสังหาร หรือล้มอำนาจขุนวรวงศาลง จึงต้องกระทำอย่างมีการวงอุบายและวางแผน และเป็นการลอบทำร้าย เราเรียกว่าเป็น  surprise attack

 

 

ตำแหน่งแห่งที่ของการลอบจับขุนวรวงศา ก็คือ อยู่ตรงนี้เอง เป็นตำแหน่งหนึ่งของคลองสระบัว ที่มาอยู่ตรงนี้ได้ ก็เพราะว่า มีการหลอกล่อขุนวรวงศา ว่ามีช้างเผือกเข้ามาติดเพนียด ขุนวรวงศาก็จะออกไปคล้องช้างเผือกให้เกิดบารมี แสดงให้เห็นว่าตนเองมีบารมีขึ้น จึงถูกหลอกออกไป เพราะ สมัยนั้น ผู้มีบุญญาบารมี มี 2 เงื่อนไข คือ 1 เป็นลูก หรือเป็นน้องของกษัตริย์ มีเลือดขัตติยะ ไม่ต้องพิสูจน์ บุญญาบารมี  2) ไม่ได้สืบเชื้อสาย จึงต้องพิสูจน์บารมีด้วยการครองสมบัติ  7 อย่าง หนึ่งในนั้นคือช้างเผือก

 


พอเดินทางออกไปอยู่ที่ลับตา อยู่ในตำแหน่งแห่งที่ ที่แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ไม่ได้ เตรียมการป้องกันตัว ฝ่ายคณะผู้ก่อการก็สามารถที่จะล้อมจับและสังหารได้ นี่เป็นเหตุผลที่ทำไมเรามายืนอยู่วัดเจ้าย่า ตรงนี้ น่าจะเป็นบริมณฑลของการต่อสู้ปะทะกัน
และไม่ไกลไปจากที่นี่ ก็จะมีวัดแร้ง เชื่อว่า เป็นวัดที่ได้ตัดศรีษะ ของแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ไปเสียบประจานเอาไว้ นี่เป็นเหตุว่าทำไมเราถึงมาตรงนี้

 

 

ก่อนจะถึงจุดนี้ ในการเดินทางครั้งนี้ เราพยายามจะฟื้นย้อนประวัติศาสตร์ ที่เข้าไปในช่วงประวัติศาสตร์อยุธยาตอนต้น ของยุคกลางอยุธยา อาจจะตั้งแต่สิ้นสมัยของพระชัยราชา เรื่อยมาจนถึงสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิและพระสุริโยทัย ในจังหวะเวลาตรงนี้ เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ของการเปลี่ยนแปลงภายใน 

 

 

ดร.สุเนตร บอกว่า เป้าหมายของการมาเที่ยวครั้งนี้ เป็นการย้อนรอยอดีตไปดูว่า เหตุการณ์สำคัญ ที่เกิดขึ้น เป็นการเปลี่ยนแปลงภายในก็ดี และเป็นศึกที่เกิดขึ้นกับประเทศเพื่อนบ้านในช่วงนั้นก็ดี มันเกิดขึ้นในสถานการณ์จริง ประมาณไหน ตำแหน่งแห่งที่ เป็นยังไง

 


เพราะฉะนั้น เราก็จะเลือกไปตามตำแหน่งแห่งที่ ที่อยู่ในข่ายที่สัมพันธ์กับเป้าประสงค์ ของการมาเที่ยวสัญจร หนึ่งในจำนวนนั้น ก็คือ วัดใหญ่ชัยวงคล ซึ่งตรงนี้ เป็นที่ถกเถียงว่า เป็น “วัดป่าแก้ว” หรือเปล่า ถ้าเป็นวัดป่าแก้ว เป็นไปได้หรือไม่ ว่า ชาวคณะที่จะโค่นล้มขุนวรวงศา มากระทำการเสี่ยงเทียนกัน

 


คือเสี่ยงเทียนของ ขุนวรวงศา และ พระมหาจักรพรรดิ หรือ พระเธียรราชาในขณะนั้น แล้วดูว่าเทียนของใครจะดับก่อน กระแสหลัก ค่อนข้างจะเชื่อว่า วัดใหญ่ชัยวงคล เป็นวัดป่าแก้ว แต่การให้ข้อมูล ก็ให้ข้อมูลว่า อาจจะเป็นที่อื่นได้ ด้วย

 

 

“การมาถึงที่นี่ เป็นการร่วมฟื้นอดีต อันเป็น จุดเริ่มต้นสำคัญตอนหนึ่งของการมาเที่ยวครั้งนี้  คือให้เห็นว่า ที่มาที่ไป การขึ้นสู่อำนาจของพระมหาจักรพรรดิ มีที่มาที่ไป มีภูมิหลังยังไง แล้วก็จะเปิดไปสู่ ประเด็นสำคัญ คือเรื่องขัตติยะนารี ในประวัติศาสตร์อยุธยา มีจุดเน้นคือสุริโยทัย ซึ่งตรงกับรัชกาล ของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ” ดร.สุเนตรกล่าว

 

 

ก่อนกลับ คณะทัวร์ศิลปวัฒนธรรม แวะสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระศรีสุริโยทัย ณ  ทุ่งมะขามหย่อง ฟังเรื่องราวว่าทำไมบริเวณนี้ จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ในการสู้รบอย่างยาวนาน และเป็นสมรภูมิที่ พระสุริโยทัย สละชีพ ในการศึกตะเบงชะเวตี้ นำพาการสิ้นพระชนม์ของพระนาง 

 

………………………..


”ริศิษฏ์ ชมเชิงแพทย์” อดีตสถาปนิกผู้ใช้ชีวิตหลังเกษียณอายุราชการร่วมเดินทางกับ ทัวร์ศิลปวัฒนธรรมทุกทริป บอกว่า รู้สึกสนุก เดินทางมาทุกครั้ง ยังไม่เคยขาด และจองของเดือนข้างหน้าอีก 2 เดือน เพราะได้ความรู้ และปกติสนใจ เรื่องประวัติ

ศาสตร์ วรรณคดี อ่านหนังสือ ประเภทนี้ มีทั้งซื้อเองบ้าง หรือลูกหลาน ไปเจอที่ไหนก็ซื้อมาให้ที่บ้านกองโต

 

 

“ดารณี ศรีหทัย” ผู้ร่วมเดินทาง บอกว่า ความรู้ที่ได้ ลึกซึ้งกว่าเดิมมากและเข้าใจ แต่ละที่ดีขึ้นมาก จากเคยรู้มา เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์ที่ดี เป็นทริปที่ดี มีความพร้อมทั้งด้านวิชาการ และบริการ ทั้งนี้อยากเสนอให้ขยายกลุ่มเป้าหมายทริปลักษณะนี้ สู่เจ้าของท้องถิ่น  ซึ่งการปกครองส่วนท้องถิ่น ตอนนี้ มีอำนาจมาก มีงบประมาณมาก แต่ขาดความรู้ จึงต้องให้ความรู้ ทางด้านศิลปวัฒนธรรม เพื่อเขาจะไปดูแลโบราณสถาน เพราะ จุดอ่อน ของแต่ละท้องที่ ที่เป็นเจ้าของโบราณสถาน คือ เขาไม่เข้าใจที่จะอนุรักษ์ หรือเห็นคุณค่า แต่ละจุดที่เกิดความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ ควรจะเป็นไฮไลท์ ซึ่งผู้ดูแลท้องถิ่น น่าจะได้รับความรู้ นำไปสู่การพัฒนาแต่ละจุด ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ซึ่งมีอยู่แล้ว

 

 

“เอื้องอุมา ลีวรรณนภาใส” บอกว่า รู้สึกประทับใจมากในการเดินทางครั้งนี้  เรื่องแรกคือ วิทยากร มีความรู้เกร็ดประวัติศาสตร์ต่างๆ ทั้งเรื่องราวที่อยู่ในพงศาวดาร อิงพงศาวดาร ทำให้เรารู้สึกเพลิดเพลิน รักเมืองไทยขึ้น ความประทับใจส่วนที่สองคือการประทับใจในทีมงาน เพราะทีมงานทุกคนมีเซอร์วิสมายด์จริงๆ เข้ามาคนเดียวก็ไม่รู้สึกเขินเลย ถ้าใครคิดอยากมาเที่ยวทริปดีๆ และได้ความรู้กลับไปด้วย แม้ว่าจะมาคนเดียว แต่มากับมติชนแล้วไม่ผิดหวัง 

กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...