คู่รักบางคู่แต่งงานกันตอนยังหนุ่มสาว และวางแผนมีทายาทให้เร็วที่สุดเพราะกลัวจะโตไม่ทันใช้ ทว่าการมีลูกตอนอายุเยอะก็มีข้อดีอยู่ไม่น้อย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยลอนดอนคอลเลจ ชี้ว่า เด็กที่เกิดจากแม่อายุเยอะมักมีจุดเริ่มต้นชีวิตที่ดี
ทีมวิจัยวิเคราะห์ข้อมูลช่วงปี ค.ศ.2000-2002 ซึ่งมีการเกิดของเด็กในอังกฤษกว่า 78,000 ราย โดยเกิดจากแม่อายุต่ำกว่า 15 ปี ไปจนถึง 57 ปี พวกเขาสามารถสรุปได้ว่า เด็กอายุ 9 เดือน ที่เป็นลูกน้อยๆ ของคุณแม่ยังสาวที่มีอายุราว 20 ปี มีความเสี่ยงประสบอุบัติเหตุร้อยละ 9.5 แต่เมื่อเทียบกับเด็กวัยเดียวกันของคุณแม่อายุเยอะ พบว่า ความเสี่ยงที่เด็กจะเกิดอุบัติเหตุลดเหลือเพียงร้อยละ 6.1
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า เด็กวัย 9 เดือนที่เป็นลูกของคุณแม่สาวๆ มีความเสี่ยงป่วยหรือบาดเจ็บจนต้องเข้าโรงพยาบาลถึงร้อยละ 16 ขณะที่ลูกของคุณแม่อายุมากมีความเสี่ยงอยู่ที่ร้อยละ 10.7 อีกทั้งในเรื่องการสร้างภูมิต้านทานโรคร้ายนั้น คุณแม่อายุเยอะใส่ใจพาลูกไปรับวัคซีนร้อยละ 98.1 ส่วนคุณแม่วัยรุ่นพาลูกรับวัคซีนร้อยละ 94.6
จากข้อมูลข้างต้น ทีมวิจัยชี้ว่า เด็กที่เกิดกับคุณแม่อายุมากมักได้รับการดูแลที่ดีกว่า เนื่องจากคุณแม่ที่อายุเยอะนั้น มักเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้ดี รายได้สูง ชีวิตสมรสมั่นคง เหล่านี้จึงเป็นปัจจัยที่อาจทำให้เชื่อว่า แม่หรือรวมทั้งพ่อที่อายุเยอะมีความพร้อมเลี้ยงดูลูกให้เติบโตได้อย่างดี
แม้จะมีข้อมูลอื่นๆ ชี้ว่า การมีลูกตอนอายุไม่มากจะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการการเจริญเติบโตที่ดี แต่อย่างไรก็ตาม การมีลูกตอนอายุเยอะก็ยังหาข้อเสียได้ไม่มากเช่นกัน แถมยังพบอีกว่า เด็กที่เกิดจากแม่อายุเยอะก็มีพัฒนาการทางภาษาที่รวดเร็ว พัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ก็ไม่ค่อยมีปัญหา
หากมองภาพกว้าง ทีมวิจัยระบุว่า กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้หญิงนิยมมีลูกตอนอายุเยอะ เช่นที่อังกฤษ และเวลส์ ข้อมูลระหว่างปี ค.ศ.1989-2009 เด็กเกิดจากคุณแม่อายุเยอะมีจำนวนกว่า 27,000 ราย และอาจสะท้อนว่า คู่รักจำนวนไม่น้อยคิดว่าต้องพร้อมรอบด้านก่อนมีสมาชิกตัวน้อยมาเติมเต็มความสมบูรณ์ของครอบครัว.
ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
takecareDD@gmail.com