พลิกวิธีรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาว ถูกไปหาแพง

ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวมียาดีรักษา แพทย์ย้ำไม่ต้องปลูกถ่ายไขกระดูกเสมอไป

โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลิวคีเมีย อาจเป็นที่รู้กันเพียงว่า โรคนี้เป็นแล้วมีโอกาสเสียชีวิตสูง เนื่องจากวิธีการรักษาหลักนั้นคือการปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งมีราคาสูงราว 1 ล้านบาท แถมยังการันตีเต็มร้อยไม่ได้ว่าปลูกถ่ายไขกระดูกแล้วจะรอดชีวิตหรือหายป่วยได้หรือไม่

ศาสตราจารย์แพทย์หญิงแสงสุรีย์ จูฑา ประธานชมรมโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์แห่งประเทศไทย เผยว่า หลักการข้างต้นเป็นเรื่องเก่าแล้ว โดยปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์สามารถพัฒนายาที่มีประสิทธิภาพช่วยควบคุมโรคได้ดีและยืดอายุของผู้ป่วยให้ยืนยาวขึ้น ดังนั้นจึงต้องให้ข้อมูลกันใหม่ หากเข้าใจได้ถูกต้องแล้ว ผู้ป่วยคงไม่ต้องท้อแท้สิ้นหวัง

ก่อนรู้เรื่องมาตรฐานการรักษาที่ปรับใหม่ ศ.พญ.แสงสุรีย์ อยากให้ทำความรู้จักโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวก่อน โรคนี้แบ่งได้ 2 แบบ โดยแบบแรกแบ่งตามชนิด คือ เฉียบพลัน และเรื้อรัง ส่วนอีกแบบแบ่งตามเซลล์ คือ ลิมฟอยด์ และมัยอีลอยด์ ซึ่งโอกาสนี้ ศ.พญ.แสงสุรีย์ เล่าถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ว่า

โรคนี้มีชื่อเรียกสั้นๆ ว่า "ซีเอ็มแอล" (CML) ย่อมาจาก Chronic myeloid leukemia ทั่วโลกมีประมาณ 1-2 รายต่อประชากร 1 แสนคน มักพบในวัยรุ่น-ผู้ใหญ่ แต่ที่ชุกมากอยู่ในช่วงวัย 35-36 และ 40 ปี จำนวนผู้ป่วยเป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิงเล็กน้อย บนสัดส่วน 1.5 ต่อ 1

สาเหตุป่วยโรคซีเอ็มแอล ทางการแพทย์ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ก็ไม่ได้ถ่ายทอดทางพันธุกรรม เพียงแต่พบว่า ผู้ป่วยที่เป็นจะมีความผิดปกติในการสลับที่ของโครโมโซมคู่ที่ 22 และคู่ที่ 9 ส่งผลให้การสร้างเม็ดเลือดขาวสูงผิดปกติ และทราบได้จากการตรวจสุขภาพทั่วไปโดยการตรวจเลือด ส่วนอาการของโรคนี้ไม่เฉพาะเจาะจง พบได้ทั้งอ่อนเพลีย หมดแรง กินข้าวแล้วแน่นท้อง คลำเจอก้อนในท้องเพราะม้ามโต และปวดกระดูก

หากแพทย์ตรวจพบว่าเป็นโรคซีเอ็มแอล ปัจจุบันจะให้ผู้ป่วยกินยาเพื่อรักษาเป็นขั้นตอนแรก เนื่องจากยาที่มีอยู่ 2 กลุ่ม รวม 3 ชนิดนั้น ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการฆ่าเฉพาะเซลล์มะเร็ง และให้ยาไปแย่งที่อยู่เซลล์มะเร็ง โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะตอบสนองผลจากการใช้ยาได้ดี สามารถควบคุมโรคได้ เพียงกินยาอย่างต่อเนื่อง เหมือนกับผู้ป่วยเรื้อรังโรคเช่นเบาหวาน อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาบ้าง เช่น ตา ใบหน้า ขาบวม มีผื่นคัน ท้องเสีย ปวดกระดูก แต่แพทย์ก็จะใช้เทคนิคปรับยาให้เหมาะสม เพื่อลดผลข้างเคียง

ทั้งนี้ แม้ค่ายาต่อปีจะเป็นราคาเฉลี่ยหลักแสนถึงล้านบาท แต่ผู้ป่วยสามารถเบิกจ่ายค่ายาได้ ตามสิทธิข้าราชการ ประกันสังคม ส่วนผู้ป่วยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็ยังได้รับการสนับสนุนยาฟรีจากโครงการช่วยเหลือผู้ป่วยนานาชาติ เช่น GIPAP และ TIPAP

กรณีผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการใช้ยา หลังจากแพทย์ให้ครบทุกชนิดแล้ว ขั้นต่อมาแพทย์จะรักษาด้วยเคมีบำบัดก่อนปลูกถ่ายไขกระดูก ซึ่งอาจมีข้อจำกัดเพิ่มเข้ามา คือ ผู้ป่วยที่จะปลูกถ่ายไขกระดูกต้องอายุไม่เกิน 55 ปี และต้องได้ไขกระดูกจากผู้บริจาคที่มีเนื้อเยื่อเข้ากันได้ เช่นจากพี่-น้อง ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ร้อยละ 25 แต่รับประกันผลการรักษาไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

เมื่อทราบวิธีการรักษาที่ปรับใหม่แล้ว ศ.พญ.แสงสุรีย์ แนะผู้ป่วยโรคซีเอ็มแอล เข้ารับการรักษาต่อเนื่อง เพราะหากปล่อยไปไม่รักษาจะส่งเกิดอาการตัวซีด อ่อนเพลียมาก เหนื่อยง่าย เกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่าย ม้ามโตเต็มท้อง เกิดการติดเชื้อ และอาจเสียชีวิตได้ภายใน 3-5 ปี แต่เพื่อเฝ้าระวังโรคก่อนจะรุนแรง ควรใส่ใจตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี.

ทีมเดลินิวส์ออนไลน์
takecareDD@gmail.com

 
กรุณา Login เพื่อแสดงความคิดเห็น
ส่ง Scoop ให้เพื่อน
แจ้งลบไม่เหมาะสม
ความคิดเห็น

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Loading...